ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ และต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2018 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 1,044 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.5, 36.8, 31.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 37.5, 16.4, 17.7, 13.5 และ 14.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.5 และ 20.5 ตามลำดับ โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเมษายนที่มีวันทำงานน้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนจากดัชนีฯ ปริมาณการผลิต และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร รองเท้า และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศ ขณะเดียวกันคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 100.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ 102.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลต่อมาตรการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนมีนาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนมีนาคม 2561 จากการสำรวจ จุมภาพันธ์พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกขนาดอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ตารางที่ 5) อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 74.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 74.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.1 ปรับตัวลดลง จากระดับ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 91.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 90.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.1 ปรับตัวลดลง จากระดับ 106.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 105.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 104.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ103.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีรายละเอียดมีดังนี้ (ตารางที่ 6) ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 93.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 91.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ (ก๊าซออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์ มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ก๊าซอาร์กอนที่ใช้ในโรงงานมีคำสั่งซื้อลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์พลาสติก ประเภทขวดและภาชนะใส่อาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ท่อพีวีซี สายยาง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าประเภทกระป๋อง ขวด อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม) อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ความต้องการเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น การส่งออกอาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุง-รส มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อาหารทะเลแช่แข็งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.8 ปรับตัวลดลง จากระดับ105.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 83.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นด้าย เส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชู กระดาษอนามัย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์กระดาษสา กระดาษคราฟต์ ส่งออกไปตลาดจีน และเวียดนามเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยาสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออก สินค้าสมุนไพรสำหรับทำสปา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV เนื่องจากสินค้าสมุนไพรของไทยเป็นที่ต้องการ และนิยมในตลาด CLMV อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (อิฐมวลเบาและอิฐโปร่ง หินที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปประเภทไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านสำเร็จรูป มีการส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวลดลง จากระดับ 93.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 88.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ จีน และ CLMV สินค้าประเภทเครื่องทำน้ำอุ่น ส่งออกไปตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น แกนเหล็กหม้อแปลงไฟฟ้า มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าในปริมาณสูง ทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อลดลงจากจีน และตลาด CLMV) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 99.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศ และตู้แช่เย็นมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น สินค้าคอมเพรสเซอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดตะวันออกกลาง) อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทเหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดร้อน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ด้านการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคมีการซ่อมแซมรถยนต์เพื่อเตรียมเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ประเภทอะไหล่และล้อยาง รวมถึงวิทยุติดรถยนต์และอุปกรณ์เสริม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ) อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (หลังคาเมทัลชีทและกระเบื้องลอนคู่ มียอดขายในประเทศลดลง สินค้าประเภทกระเบื้องไฟเบอร์ กระเบื้องลอนคู่ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.4 ลดลงจากระดับ 106.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 81.2 ปรับตัวลดลง จากระดับ 82.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการ-ผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน เนื่องจากผู้ประกอบการจีนชะลอการสั่งซื้อ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและสหรัฐฯ ลดลง) อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น (ไม้อัด ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ มียอดในประเทศลดลง ด้านการส่งออก ไม้อัด ไม้บาง มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินเดีย เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อย และโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มียอดขายในประเทศลดลง และมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้า) อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มขวดมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและอินเดียเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.6 ปรับตัวลดลง จากระดับ 99.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนมีนาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้ง 2 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ตารางที่ 7) กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 87.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 87.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวลดลง จากระดับ 102.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยาน-ยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.3 ปรับตัวลดลง จากระดับ 101.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ 2. สนับสนุนการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน และป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย 3. ส่งเสริมการฝึกอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ 4. สนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจผ่าน E-Commerce เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ