สกรศ. - ชี้แจงประเด็นการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ อาลีบาบา กรุ๊ป

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2018 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ ข้าพเจ้า นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ขอรายงานชี้แจงประเด็นแฟนเพจ พลเมืองต่อต้าน Single Gateway เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม: หยิบยกการนำเสนอข่าวของประชาชาติธุรกิจออนไลน์ กรณีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ อาลีบาบากรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ที่มีข้อสังเกต 3 ข้อ ดังนี้ 1) สิทธิประโยชน์การลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และได้สิทธิลดหย่อนภาษี 50% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาลีบาบาจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 13 ปี ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตข้อ 1 การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบีโอไอ ซึ่งสิทธิประโยชน์พื้นฐานจะแตกต่างกันไปตามประเภทกิจการ โดยกิจการประเภทเดียวกัน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์เดียวกัน ในปัจจุบันการส่งเสริมการลงทุนจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมบุคลากรควบคู่ไปด้วย นอกจากสิทธิประโยชน์พี้นฐานแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมยังอาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้กับอาลีบาบานั้น บีโอไอ จะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศกำหนด ซึ่งมิได้เป็นการให้เฉพาะเจาะจงกับรายใดรายหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ 2) อาลีบาบา กรุ๊ป เรียกร้องเรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำในการผ่อนปรน ว่าด้วยถิ่นกำหนดสินค้า เพื่ออนุโลมให้วัสดุที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตข้อ 2 การพิจารณาเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของกรมศุลการ ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้ผ่อนปรนกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าแต่อย่างใด 3) อาลีบาบา กรุ๊ป เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการค้าออนไลน์ ผ่านระบบอาลีเพย์ เพื่อให้เป็นผู้ให้บริการชำระเงินโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินของไทย ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตข้อ 3 การลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกับอาลีบาบา กรุ๊ป ทั้ง 4 ฉบับนั้น มีความครอบคลุม ดังนี้ 1) การใช้อีคอมเมอร์ส (E-commerce) ในการส่งออกสินค้าเกษตรและ โอทอป โดยเริ่มต้นจาก ข้าวและทุเรียน 2) การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถใช้เข้าสู่การใช้ อีคอมเมอร์ส (E-commerce) เป็นช่องทางการตลาด 3) การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน เข้าสู่เมืองรองและชุมชน อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการนำข้อมูลร้านค้าไทยและร้านอาหารไทยให้อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่าย 4) การลงทุนใน ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub) ในการค้าอีคอมเมอร์สระดับโลกกับประเทศในภูมิภาค มิได้มีความตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องระบบการเงินแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานฯ ยินดีให้ข้อมูลตอบข้อซักถามเพิ่มเติม โดยให้ติดต่อได้ที่ 0-20338000

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ