บอร์ด TACC อนุมัติหลักการจับมือ NPP ตั้งบริษัทร่วมทุนถือหุ้น 51:49 ใช้เป็นเซ็นเตอร์พัฒนาและส่งออกสินค้า เอื้อ SME ไทย ลุยตลาดตปท.เต็มรูปแบบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 27, 2018 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.-- บอร์ดTACC อนุมัติในหลักการให้เจรจาร่วมลงทุนกับ NPP ตั้งบริษัทย่อย โดย TACC ถือหุ้น51% ส่วน NPP ถือหุ้น 49% ทุนจดทะเบียนเบื้องต้นประมาณ 50 ล้านบาท คาดดำเนินการแล้วเสร็จ ไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจ เน้นเติมศักยภาพช่องทางการตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ ทั้งออนไลน์,ออฟไลน์,บีทูบี,บีทูซี และดิวตี้ฟรี มั่นใจขยายฐานลูกค้าเพิ่ม พร้อมหนุนกำไรเติบโตในอนาคต นายชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัทเข้า เจรจาร่วมทุนกับบริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่ง โดยดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Business) และบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจัดตั้งในประเทศไทย คาดว่าบริษัทใหม่จะมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นอยู่กับผลการเจรจาแผนธุรกิจ ระหว่าง บริษัทฯกับ NPP ซึ่งคาดว่าจะสามารถเจรจา และดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนให้แล้วเสร็จได้ ภายในไตรมาส 3 ของปี 2561 สำหรับลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทร่วมทุนจะให้บริการแบบ เบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) ซึ่งรวมถึง การบรรจุผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อส่งออกต่างประเทศทั้งในรูปแบบ Online, Offline, B2B, B2C และ สถานที่ขายสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ต่างๆในภูมิภาคใกล้เคียง ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทร่วมทุนประกอบด้วย บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทร่วมทุน กับ บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 49% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทร่วมทุน ขณะที่โครงสร้างการบริหารงานนั้นคณะกรรมการของบริษัทร่วมทุน จะมาจากตัวแทนจากผู้ถือหุ้นแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนการถือหุ้น แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการร่วมลงทุนครั้งนี้ TACC จะนำเงินมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทจำนวน ประมาณ 25.50 ล้านบาท ซึ่งการร่วมทุนครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ บริษัทฯแต่อย่างใด ขณะที่คณะกรรมการมีความเห็นว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าว จะสามารถส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัทได้ผ่านช่องทาง การจัดจำหน่ายของบริษัทร่วมทุน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าของบริษัท และจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น นอกจากนี้คาดว่าบริษัทร่วมทุนจะสามารถทำกำไรที่ดีให้กับบริษัทฯได้ ในอนาคต ทั้งนี้การเข้าร่วมทุนดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการทำรายการได้มาซึ่ง สินทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการ ได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และเมื่อคำนวณขนาดของรายการแล้วตามประกาศฯเรื่องได้มาหรือ จำหน่ายไปแล้วมีขนาดของรายการสูงสุดเท่ากับ 2.69% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังนั้นการเข้าทำรายการดังกล่าวมีขนาดรายการต่ำกว่า15% บริษัทจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำสารสนเทศตามประกาศฯ เรื่องได้มาหรือจำหน่ายไปและไม่ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น
แท็ก SME   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ