ปภ. ประสานทุกจังหวัด รับมือภาวะฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 1 – 3 พ.ค. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2018 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานทุกจังหวัดทั่วประเทศ รับมือกับภาวะฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พบว่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมและปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม 2561 ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิประเทศ การระบายน้ำของลำน้ำ โครงสร้างดิน และลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ขึ้นได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงการเปิดทางน้ำร่องระบายน้ำ การเสริมแนวคันกั้นน้ำ ตลอดจนจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ