รมว.วธ.เผยเตรียมชง“ปราสาทพนมรุ้ง–ปราสาทเมืองต่ำ” เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกในปี 2562 กำชับกรมศิลปากรเร่งพัฒนาสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก-ระบบนำชม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 9, 2018 12:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหนองหงส์ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 วันที่ 7-8 พ.ค.2561ที่ จ.บุรีรัมย์ว่า โดยภาพรวมนครชัยบุรินทร์หรือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่มี 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและแหล่งมรดกโบราณสถานปราสาทหินเป็นจำนวนมาก อาทิ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทศีขรภูมิ เป็นต้น และปัจจุบันมีคนไทยมาท่องเที่ยวปีละกว่า 13 ล้านคน และชาวต่างชาติกว่า 2.5 แสนคน ทำให้มีรายได้จากการบริการการท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าปีละกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปีนี้จะมีผู้มาเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำเพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านคน ทำให้ประชาชนและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้กรมศิลปากร (ศก.) เร่งพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ อุทยานประวัติศาสตร์พิมายและโบราณสถานที่สำคัญอื่น ๆ ทั้งการพัฒนาสถานที่ การอำนวยความสะดวกในการเข้าชม ซึ่งขณะนี้อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 10 แห่ง มีระบบนำชมคิวอาร์โค้ดแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบเออาร์โค้ด อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมศิลปากร จัดทำคลิปนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ในภาพรวมทั้ง 10 แห่ง และคลิปนำชมอุทยานประวัติศาสตร์แต่ละแห่ง รวมทั้งให้จัดกิจกรรมต่างๆเป็นระยะ อาทิ การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การจัดสัมมนาทั้งระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์อุทยานประวัติศาสตร์ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งมรดกวัฒนธรรม รวมถึงให้ชาวบ้านมาจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม นายวีระ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรมศิลปากร ได้รายงานผลการสำรวจพื้นที่ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัค 1 และปราสาทปลายบัค 2 โดยใช้เทคโนโลยี LiDAR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสำรวจพื้นที่ที่ทันสมัยที่สุด ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวสามารถชี้ชัดสิ่งก่อสร้างในอดีตที่แสดงถึงความเชื่อและปรัชญาในศาสนาฮินดู และสะท้อนถึงภูมิปัญญาชั้นสูงในการเลือกสถานที่ก่อสร้างอาคารในบริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้วประกอบด้วยปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทบริวารและบารายรองรับการตั้งถิ่นฐานชุมชน ทำให้มีครอบครัวอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และมีการจัดทำระบบชลประทานโดยใช้เทคนิคที่ยอดเยี่ยม เพื่อใช้บริโภคและทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงเห็นว่าปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัค มีศักยภาพที่จะเป็นมรดกโลกได้ โดยกรมศิลปากรรายงานว่า ขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลและเอกสาร เพื่อประกอบการเสนอชื่อปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัค เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) เสร็จแล้ว จะเสนอต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมเร็วๆ นี้ และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2562 นายวีระ กล่าวด้วยว่า ส่วนการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations; HSI) สหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอคืนทับหลังทั้ง 2 รายการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้กรมศิลปากรได้ประสานงานและส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่สำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกาไปแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ