“ดอยตุง” มุ่ง “หัตถอุตสาหกรรม” เพิ่มมูลค่า ส่ง “ช่าง” เรียนรู้ผลิตเซรามิกครบวงจรครั้งแรกที่ “คาซามะ”

ข่าวทั่วไป Monday May 14, 2018 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน โดยทางโครงการฯ ได้สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือการออกแบบและผลิตเซรามิก เพื่อลดการปลูกพืช เสพติดพร้อมแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน และได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ เทศบาลเมืองคาซามะ จ.อิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ส่งช่างเซรามิกฝีมือดีของมูลนิธิฯ "อิ๋ว" ทิพวรรณ ดวงดอกมูน เรียนรู้การผลิตเซรามิกแบบครบวงจรครั้งแรก เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาปรับประยุกต์ใช้ในงานเซรามิกของมูลนิธิฯ ในแบบหัตถอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าเซรามิก "ดอยตุง" สู่ระดับสากล เป็นระยะเวลากว่า ๔ ปี ที่การพัฒนาเซรามิกตาม MOU ระหว่างเมืองคาซามะ แหล่งผลิตงานเซรามิกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อผลิตงานเซรามิกที่ดีที่สุดในโลก ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ริเริ่มไว้เมื่อปี ๒๕๕๘ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อไปดูงาน ณ เมืองคาซามะ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเซรามิกจากเมืองคาซามะเดินทางมาสอนการทำเซรามิก ณ ศูนย์ผลิตและจัดจำหน่ายงานมือ ๕๒ ไร่ ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย และช่างเซรามิกดอยตุงนำผลงานเซรามิกที่ประยุกต์จากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ไปจัดแสดงที่เมืองคาซามะ เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวสอดรับกับทิศทางการพัฒนางานเซรามิกดอยตุง ที่เน้นงานทำมือหรืองานคราฟต์ เพื่อสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา จักรายุธ์ คงอุไร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ หนึ่งในผู้ดูแลงานเซรามิก ดอยตุง กล่าวว่า การผลิตเซรามิกของดอยตุงในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นในลักษณะหัตถอุตสาหกรรม คือผสมผสานระหว่างการใช้เครื่องจักรอย่างเหมาะสมและงานฝีมือจากชาวบ้าน เพื่อให้คนในพื้นทีมีอาชีพมีรายได้ แต่ผู้บริหารของมูลนิธิฯ มองการณ์ไกล อยากให้งานเซรามิกดอยตุงเป็นงานทำมือชิ้นเดียวในโลก ซึ่งเป็นกระแสในการเลือกซื้องานเซรามิกในปัจจุบัน โดยเอกลักษณ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตัวงานสูงขึ้น ๒-๓ เท่า "ทางมูลนิธิฯ จึงส่ง อิ๋ว ทิพวรรณ ช่างเซรามิกฝ่ายชุบเคลือบอายุน้อยที่สุดของมูลนิธิฯ และยังเป็นคนในพื้นที่ ไปเรียนรู้และฝึกทักษะการผลิตเซรามิกอย่างครบวงจรที่ Kasama College of Ceramic Art เมืองคาซามะ ตั้งแต่การออกแบบ เลือกและเตรียมดินปั้น การเคลือบ การใช้เทคนิคการเผา เป็นเวลา ๑ ปี ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์สร้างช่างเซรามิกดอยตุงรุ่นใหม่ ที่สามารถผลิตผลงานเซรามิกได้ครบขั้นตอน ซึ่งจะได้งานเซรามิกที่ลึกซึ้งมากขึ้น ช่างเซรามิกก็สามารถพัฒนาฝีมือได้มากขึ้นเพราะสร้างสรรค์เองมากขึ้น ต่างจากเดิมช่างจะแยกทำงานเป็นส่วนๆ ตามความถนัด" จักรายุธ์ อธิบายเพิ่ม ความตั้งใจบวกกับพรสวรรค์ ทำให้เวลาเพียง ๑ เดือน ที่เข้าไปเรียนรู้การผลิตเซรามิกที่ Kasama College of Ceramic Art ทำให้ทิพวรรณได้รับการยอมรับถึงฝีมือที่โดดเด่นจากอาจารย์ผู้สอน โดยองค์ความรู้จากการศึกษา ทิพวรรณจะนำกลับมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเซรามิกดอยตุงให้ก้าวสู่ระดับสากลได้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ