มรภ.สงขลา วิจัยจิตรกรรมฝาผนังฯ ศิลปะพื้นบ้านหนังตะลุง ปั้นทายาททางวัฒนธรรม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Friday May 18, 2018 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มรภ.สงขลา อาจารย์คณะศิลปกรรมฯ มรภ.สงขลา ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า คว้ารางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก ภาคบรรยาย สาขาสังคมศาสตร์ แนะจัดทำหลักสูตรการเรียนระยะสั้น หวังชุมชนเห็นคุณค่าหนังตะลุง ร่วมปั้นทายาททางวัฒนธรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผศ.ดร.กฤติยา ชูสงค์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วย ผศ.บัณฑิตา วรศรี อ.ตถาตา สมพงศ์ อ.อักษราวดี ปัทมสันติวงศ์ และ อ.ธัชพล ภัทรจริยา ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 28 ซึ่งผลงานของตนและ อ.ตถาตา ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยในระดับดีมาก ภาคบรรยาย ในสาขาการศึกษา และ สาขาสังคมศาสตร์ โดยตนศึกษาเรื่องจิตรกรรมฝาผนังสู่การเรียนรู้ : ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงอัตลักษณ์ท้องถิ่น : กรณีศึกษาวัดคูเต่า ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้เยาวชนและคนในชุมชนเรียนรู้ถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงที่เชื่อมโยงเรื่องราวจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เรื่องพระเวสสันดรชาดก ทำให้เยาวชนและคนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและอัตลักษณ์ของจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหนังตะลุง และเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการสืบสาน อนุรักษ์ อีกทั้งเป็นการสร้างทายาททางวัฒนธรรมผลิตผลงานศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงให้คงอยู่คู่ชุมชนวัดคูเต่า ผศ.ดร.กฤติยา กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าเยาวชนและคนในชุมชนให้ความสนใจและเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวคูเต่ามากขึ้น โดยให้ความร่วมมือเข้าร่วมกระบวนการจัดการเรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงที่กำลังเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของชาวชุมชน ซึ่งการสร้างแหล่งเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้มีชีวิตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง ในรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การฝึกหัด การแสดง และการต่อยอดองค์ความรู้จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเกิดจากความตระหนักและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาด้านจิตรกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงพลังการรวมกลุ่มเพื่อรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น "คณะหนังตะลุงในปัจจุบันปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการแสดง โดยนำเอาสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประกอบการแสดงหนังตะลุง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงแบบสมัยก่อนก็ปรับเปลี่ยนจากเครื่องห้า กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ นำเครื่องดนตรีสากล เช่น กลองชุด กีตาร์ เบส คีบอร์ด ฯลฯ เข้ามาร่วม ทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสร้างทายาททางหนังตะลุงเพื่อทำหน้าที่สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ไว้จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะบทบาทของหนังตะลุงมีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวใต้" อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้หลายแขนงเริ่มเลือนหายและมีบทบาทลดน้อยลงจากวิถีชีวิตประจำวันของชาวใต้ การสร้างทายาททางวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและยั่งยืน ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้นำชุมชนหรือศิลปินพื้นบ้านยืนหยัดที่จะรักษา สืบสาน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ก็จะคงอยู่คู่ชุมชนต่อไป ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรมควรสนับสนุนให้ความรู้แก่เยาวชนและคนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น สถาบันการศึกษา ระดับต้นและระดับปลาย ควรจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การเรียนรำโนรา การฝึกหัดเล่นหนังตุง การฝึกหัดบรรเลงเครื่องห้า (ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง ปี่ ) เพลงเรือ การแทงหยวก เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ