ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่แนะนำ “เชียร์” เบียร์น้องใหม่สู่ตลาด

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2005 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์
- เปิดตัว “เบียร์เชียร์” เบียร์คุณภาพ ราคากันเอง สู่ตลาดเบียร์อีโคโนมี่
- ทุ่มงบ 400 ล้านบาท สนับสนุนการเปิดตัว
- วางเป้าส่วนแบ่งการตลาด 5% ในตลาดเบียร์อีโคโนมี่ ใน 3 ปี
เมื่อวานนี้ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (TAPB) ผู้ผลิตเบียร์คุณภาพรายใหญ่ที่สุดของไทย ประกาศเปิดตัว “เบียร์เชียร์” เบียร์น้องใหม่สัญชาติไทย คุณภาพระดับสากล โดยจะวางจำหน่ายในราคากันเอง เพื่อดึงดูดนักดื่มในเซกเม้นท์เบียร์อีโคโนมี่ พร้อมวางเป้าชิงส่วนแบ่งตลาด 5% ภายใน 3 ปีในตลาดเบียร์อีโคโนมี่
เบียร์เชียร์ ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้มีรสชาติถูกใจนักดื่มไทยอย่างแท้จริง ณ สำนักงานใหญ่ของไฮเนเก้นในทวีปยุโรป โดยการผสมผสานของฮอปส์คัดสรรพิเศษ 3 ชนิด ทำให้ได้รสชาติที่ชวนดื่มเฉพาะตัว
นายปัญญา ผ่องธัญญา ผู้จัดการทั่วไปของ TAPB กล่าวว่า “ในฐานะผู้ผลิตเบียร์พรีเมี่ยมซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 95% เราต้องการขยายความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ไปยังตลาดใหม่ๆ เรามีจุดมุ่งหมายที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดที่ผู้คนนิยมเบียร์คุณภาพ แต่ไม่ต้องการที่จะจ่ายในราคาที่สูงเสมอ ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้ตระหนักดีว่าเบียร์ที่ดีมีรสชาติเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นพิเศษ”
เบียร์เชียร์มีราคาใกล้เคียงกับเบียร์ลีโอ อยู่ที่ขวดละ 35 บาท (640 มล.) และกระป๋องละ 20 บาท (330 มล.)
เบียร์เชียร์วางเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้บริโภคอายุระหว่าง 22-30 ปีทั่วประเทศ ด้วยรสชาติที่นุ่ม เข้มกำลังดี และกลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์พิเศษอย่างที่คอเบียร์ต้องการ ด้วยระดับแอลกอฮอล์ปานกลาง ซึ่งจากผลการ-สำรวจของบริษัทพบว่าเป็นรสชาติที่นักดื่มไทยกำลังมองหา
“กุญแจสู่ความสำเร็จคือความสามารถของเราในการผลิตเบียร์คุณภาพ และวางจำหน่ายในราคาย่อมเยาเช่นนี้ได้ นอกเหนือจากการใช้ประสบการณ์ที่มีจากการผลิตไฮเนเก้นแล้ว เรายังมีการตรวจสอบคุณภาพระหว่างขั้นตอนการผลิตถึง 250 ครั้ง นอกจากนี้เรายังส่งตัวอย่างเบียร์เชียร์ไปตรวจสอบคุณภาพที่ประเทศ-เนเธอร์แลนด์อยู่เสมอ” นายปัญญากล่าว
เบียร์เชียร์ผสมผสานด้วยฮอปส์คุณภาพสูง 3 ชนิด จากการศึกษาพบว่ามีรสชาติที่ถูกคอคนไทย โดยฮอปส์ดังกล่าวนำเข้ามาจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่วนมอลท์และยีสต์นั้นนำเข้ามาจากยุโรป
นายปัญญากล่าวเสริมว่า “จากการศึกษาในส่วนของตลาดอีโคโนมี่ เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากกำลังมองหาเบียร์ที่รสชาติไม่เข้มหรืออ่อนจนเกินไป ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรุงเบียร์ชาวดัชท์ของเราจึงได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการปรุงเบียร์ในยุโรป เพื่อพัฒนาสูตรเบียร์มากกว่า 10 รสชาติ เราใช้เวลากว่า 2 ปีเพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 3,000 คนทั่วประเทศได้ทดลองดื่มและสัมภาษณ์ความคิดเห็น ในที่สุดเราจึงเลือกสูตรที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5.6% ซึ่งมีรสชาตินุ่ม เข้มกำลังดี และดื่มง่าย”
นายพรหมสรรค์ อายนบุตร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด - เบียร์เชียร์ กล่าวว่า เบียร์เชียร์คือเบียร์ที่มีคุณลักษณะ “สนุกสนาน ร่าเริง” และเป็นเบียร์ที่ “เพื่อนสามารถจะแบ่งปันความสนุกด้วยกันได้ทุกที่ทุกเวลา” กลุ่มเป้าหมายของเบียร์เชียร์ คือ “คนที่จริงใจ และเห็นคุณค่าของมิตรภาพอย่างแท้จริง” คอนเซ็ปท์ทางการตลาดคือ “ชีวิตมีเรื่องดีดีตั้งเยอะ เอ้า! เชียร์”
นายพรหมสรรค์กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรจุภัณฑ์ของเบียร์เชียร์ได้รับการออกแบบโดยบริษัท ดีไซน์ บริดจ์ ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของโลก และในส่วนกิจกรรมการตลาด เบียร์เชียร์จะมุ่งเน้นไปที่ความหมายของ “ช่วงเวลาดีๆ ระหว่างเพื่อน”
“TAPB เตรียมงบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขายและการตลาด ซึ่งรวมถึงโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ บิลบอร์ด และโปสเตอร์ “เราต้องการที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเบียร์เชียร์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้บริโภค โดยสื่อสารให้ทราบว่า เบียร์เชียร์ คือเบียร์คุณภาพ ราคากันเอง ที่สามารถดื่มเพื่อแบ่งปันเวลาที่ดีระหว่างเพื่อนได้ทุกที่ทุกเวลา” นายพรหมสรรค์กล่าว
งบประมาณส่วนใหญ่จะใช้ไปกับภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ รวม 3 เรื่อง ความยาวเรื่องละ 30 วินาที“เราจะมีรถแวนที่มีชื่อเรียกว่า ‘เชียร์ อัพ’ จำนวน 5 คัน วิ่งตามจุดสำคัญๆ ในเมือง เพื่อเสริมสร้างกระแสการรับรู้ของผู้บริโภค ถือเป็นการสื่อสารการตลาดที่เป็นเอกลักษณ์ของเบียร์เชียร์” นายพรหมสรรค์กล่าว
นายปัญญากล่าวเสริมว่า “การเปิดตัวเบียร์เชียร์สู่ตลาดนั้น สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นพอร์ตโฟลิโอ บริวเวอร์ (Portfolio Brewer) หรือเป็นผู้ผลิตเบียร์คุณภาพครอบคลุมทุกเซกเม้นท์ การที่จะเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในประเทศไทยนั้น ผู้ผลิตเบียร์จะต้องมีส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างน้อย 15% และเราคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเบียร์เชียร์จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้บริษัทไปถึงเป้าหมายนั้น”
นอกเหนือจากการวางจำหน่ายในโมเดิร์น เทรด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 5,500 แห่งแล้ว เบียร์เชียร์จะยังวางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกจำนวน 260,000 แห่ง รวมถึงร้านอาหารระดับกลาง ร้านก๋วยตี๋ยว และร้านอาหารข้างทางอีกกว่า 90,000 แห่งทั่วประเทศ
นายปัญญากล่าวว่ามูลค่าตลาดรวมของเบียร์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี
“เบียร์อีโคโนมี่” ซึ่งรวมถึงเบียร์ลีโอและเบียร์ช้าง มีส่วนแบ่ง 79% ของตลาดรวม “เบียร์พรีเมี่ยม” มีส่วนแบ่ง 9% ของตลาดรวม มีไฮเนเก้นเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและครองความเป็นเจ้าตลาด ขณะที่ “เบียร์สแตนดาร์ด” มีส่วนแบ่ง 12% ของตลาดรวม มีเบียร์สิงห์ และเบียร์ไทเกอร์เป็นแบรนด์สำคัญ
TAPB เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2538 โดยเป็นการร่วมทุนของกลุ่มไทยประกันชีวิต บริษัท เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ (ประเทศสิงคโปร์) บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และธนาคารทหารไทย ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 300 คน ประจำที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ และโรงเบียร์ที่จังหวัดนนทบุรี
คำบรรยายภาพ
- คุณปัญญา ผ่องธัญญา (ขวา) และคุณพรหมสรรค์ อายนบุตร (ซ้าย)
- “เบียร์เชียร์” - เบียร์คุณภาพระดับนานาชาติ ราคากันเอง และเป็นเบียร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ให้มีรสชาตินุ่ม แต่เข้มกำลังดี พร้อมระดับแอลกอฮอล์ปานกลางที่นักดื่มไทยกำลังมองหา ขวดใหญ่ (640 มล.) ราคา 35 บาท กระป๋อง (330 มล.) ราคา 20 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด
ปานตา พูนทรัพย์มณี หรือ ชัชฎาภา วิจิตรานนท์
โทรศัพท์ (02) 664 9500 ต่อ 116 หรือ 111 โทรสาร (02) 664 9515
สามารถคลิกดูภาพข่าวได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก เอเชีย   พราย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ