ความพร้อมในการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund ของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Thursday July 31, 2008 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
Sovereign Wealth Fund (SWF) หรือที่เรียกว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หมายถึง กองทุนของรัฐบาลที่มีทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศและมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ SWF แห่งแรกของโลกมีมานานกว่า 50 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี เพิ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก 1) ขนาดที่เพิ่มมากขึ้น ถึงประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) ลักษณะการลงทุนที่ต่างไปจากการลงทุนประเภทอื่นๆ ของรัฐ โดยในบางกรณีเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนสูงและเป็นการลงทุนระยะยาว หรือลงทุนในธุรกิจที่สามารถเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการลงทุนของ SWFs ได้แก่ การลงทุนซื้อหุ้นสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2550-2551 โดย SWF ของจีน (Morgan Stanley and the Blackstone Group) และ SWFs ของคูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ (Citigroup) ซึ่งการลงทุนดังกล่าวทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองความเคลื่อนไหวของ SWFs มากขึ้น
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการลงทุนผ่าน SWFs นั้น ทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จำเป็นต้องการวางกลยุทธ์ในการยืนอยู่ในเวทีเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคต โดยต้องมั่นใจว่าประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการลงทุนผ่าน SWFs และจะสามารถใช้ประโยชน์จากการที่มีปริมาณเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP หรือ เท่ากับ 4.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หรือมูลค่าการนำเข้าของประเทศ 11 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอกับภาระต่างๆ โดยเงินทุนสำรองฯ มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 44% การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการวางแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในหลายๆ ประเทศได้มีการใช้ประโยชน์จากการมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ด้วยการจัดตั้ง SWFs เพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศที่มีมากขึ้น เช่น จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น ภาครัฐอาจนำแนวทางการจัดตั้ง SWFs ของประเทศเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยตามความเหมาะสม บทวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง SWF ขึ้นในประเทศไทย โดยศึกษาแนวคิดการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งแหล่งเงินทุนอื่นๆ ของภาครัฐ มาจัดตั้ง SWF โดยมีเนื้อหาของสาระสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ 1) บทบาทของ SWFs ในระบบการเงินโลก 2) ความพร้อมในการจัดตั้ง SWF ของไทย และ 3) รูปแบบของ SWFs ที่เหมาะสม โดยในส่วน
แรกนั้น จะเป็นการศึกษาถึงแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนผ่าน SWFs และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ SWFs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในฐานะสถาบันลงทุนรายใหม่ ซึ่งรวมถึง การเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในกรณีที่มี SWFs จากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ การลงทุนผ่าน SWFs ที่มีขนาดใหญ่และในบางครั้งอาจจะกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม หากมีการย้ายฐานการลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์การลงทุนแล้ว อาจทำให้ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินทั้งของไทยและของโลกเพิ่มสูงขึ้นได้
ในส่วนที่สองนั้น จะเป็นการศึกษาถึงระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม (Optimal reserve) ของประเทศ และปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอนาคต ทั้งนี้ การจัดตั้ง SWF โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุน หรือที่เรียกว่า Non-Commodity SWF ซึ่งจัดตั้งโดยนำสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่เป็นส่วนประกอบของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีความมั่งคั่งที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก เนื่องจากทำให้ความมั่งคั่งที่แท้จริงของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีบางส่วนเกิดจากการเกินดุลบัญชีเงินทุน ซึ่งมีความผันผวนสูงและไม่สามารถนำมาเป็นแหล่งเงินทุนในการจัดตั้ง SWF ได้ เนื่องจาก SWFs มีการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและแนวโน้มการเคลื่อนไหวของการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในอนาคตด้วย
สำหรับส่วนที่สามนั้น จะเป็นการศึกษาถึงวัตถุประสงค์และรูปแบบการจัดตั้ง SWFs ในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาวางกลยุทธ์การจัดตั้ง SWF ของประเทศไทยตามความเหมาะสม การจัดตั้ง SWFs ในแต่ละประเทศจะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป โดยตัวอย่างวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากที่สุด 2 กรณี คือ 1) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการนำสินทรัพย์ของประเทศไปลงทุน (Wealth optimization funds) ซึ่งรวมถึงแนวคิดที่จะหาช่องทางการลงทุนเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถได้รับประโยชน์จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกิน (Excess reserves) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลตอบแทนระยะยาว (Yield enhancement) หรือการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic assets) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และ 2) เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะปานกลางหรือระยะยาว และลดผลกระทบในระยะสั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกหลักๆ ของประเทศ (Stabilization funds) นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขึ้นต้องคำนึงถึงรูปแบบขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างองค์กร ระดับความอิสระและธรรมาภิบาลขององค์กร นโยบายและวัตถุประสงค์ในการลงทุน และความโปร่งใสในการดำเนินงาน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ