“อาข่าผู้น่ารัก” กำหนดฉาย 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ข่าวบันเทิง Thursday August 7, 2008 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม
ณ หมู่บ้านชาวเขา เผ่าอาข่า มีเด็กหญิงแสนซนนามว่า “หมี่จู”
สาวน้อยคนนี้ กำลังจะทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนไป.....
พบกับภาพยนตร์สุดน่ารัก
เต็มอิ่มทุกความสุข ที่จะทำให้หัวใจทุกดวงพองโต
“อาข่าผู้น่ารัก”
Credit ทีมสร้าง
กำหนดฉาย 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว และสุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ดำเนินงานสร้าง ศิตา วอสเบียน
บทภาพยนตร์ สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ , ทรงศักดิ์ มงคลทอง
กำกับภาพยนตร์ สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ผู้ช่วยผู้กำกับ1 กาญจนพันธุ์ มีสุวรรณ
ผู้ช่วยผู้กำกับ2 สุภาวดี โกศรีย์พงศ์
กำกับภาพ สุรเชษฐ์ ทองมี
ลำดับภาพ สุทธิพร ทับทิม
ออกแบบงานสร้าง อรรคเดช แก้วโคตร
กำกับศิลป์ โสภณ พูลสวัสดิ์
ดนตรีประกอบ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ออกแบบเครื่องแต่งกาย นุชนาฏ มากสวาสดิ์
แต่งหน้า — แต่งผม อริญชยา ภู่สุวรรณ
นำแสดงโดย ด.ญ ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า, พิมพรรณ ชลายนคุปต์
เรื่องราวสุดประทับใจเริ่มต้นขึ้น.....
“พ่อจ๋า.....ทำไมใครหลายคนถึงหายไปจากหมู่บ้านของเรา
แล้วทำไมหนอ.....เราถึงไม่เคยถ่ายรูปพร้อมหน้าพร้อมตากันเลย
ความสุขอันแท้จริง.....มันอยู่ที่ตรงไหนกันนะ”
อาข่าผู้น่ารัก... ภาพยนตร์น่ารักเต็มอิ่มทุกหัวใจ จะมาถ่ายทอดเรื่องราวความรัก ความผูกพัน การพลัดพราก ผ่านการเดินทางทางความคิดของ หมี่จู (ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า) เด็กหญิงชาวเขาเผ่าอาข่า ที่ทุกคนในหมู่บ้านรู้ซึ้งถึงความแสบซน และบรรดาวีรกรรมสุดป่วนที่มักละเมิดข้อห้ามของเผ่าเป็นประจำ จนทำให้พ่อกับแม่ต้องส่งหมี่จูไปอยู่กับน้าที่พื้นราบ ที่นั่นเปรียบเสมือนโลกใบใหม่ที่หมี่จูไม่เคยรู้จักมาก่อน หมี่จูสนุกไปกับงานพิเศษคือการรับจ้างถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว รูปถ่ายแต่ละใบกำลังบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างกับหมี่จู เมื่อได้สัมผัสถึงความเหงาเดียวดายเมื่อต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก จึงทำให้หมี่จูคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างจากโลกใบเดิมที่เคยอยู่
จนกระทั่งการมาถึงของ “กลุ่มกระจกเงา” ซึ่งมี พี่แป้น (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) เป็นหัวเรือใหญ่ ได้เข้ามาทำโครงการทดลองชื่อว่า “บ้านนอกทีวี” ทีวีของชุมชนโดยชุมชน ทำให้เกิดเรื่องราวชวนอมยิ้มเมื่อเทคโนโลยีของชาวกรุงเข้ามามีส่วนในการดำเนินชีวิตของชาวเขา จนกระทั่งเกิดแรงบันดาลใจให้หมี่จูเดินทางกลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง และคิดที่บอกเล่าเรื่องราวที่เธอรู้สึก โดยใช้รายการบ้านนอกทีวีเป็นสื่อกลางถึงผู้คนรอบข้าง แต่คราวนี้กลับไม่ใช่เรื่องซุกซนอีกต่อไป มันกลับกลายเป็นเรื่องซาบซึ้งที่ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านได้หันกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า สิ่งที่ทุกคนโหยหาอยู่นั้นใช่สิ่งเล็กๆ แต่มีค่ามหาศาลใช่ที่เรียกกันว่าความรักหรือไม่......
สวัสดีค่ะหนูชื่อ...หมี่จู
หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มาถึง 15 ปีเต็ม “สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์” โปรดิวเซอร์หญิงเหล็กผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกับ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์แถวหน้าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด และสร้างปรากฎการณ์สุดประทับใจมาหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่หนังกวาดรายได้ระดับบล็อกบัสเตอร์อาทิ ช็อคโกแลต ,ต้มยำกุ้ง , องค์บาก , บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ไปจนถึงหนังสะท้อนแง่มุมและแนวคิดทางสังคมอย่าง รักแห่งสยาม ,สยิว และ Fake ก็ได้ตัดสินใจถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต มุมมองและแนวคิดผ่านงานเขียนบท หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเข้าไปในหัวใจเพื่อการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจที่มาจากการได้เห็นข้อมูลของเรื่องราวขององค์กรหนึ่งทางหน้าหนังสือพิมพ์ มาสานต่อเป็นพล็อตเรื่องสุดน่ารักและประทับใจได้
“ตอนนั้นได้เห็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในภาพเป็นรูปชาวเขากำลังหยิบกล้องมาถ่ายทำรายการทีวี ก็เลยสะดุดใจ พออ่านข้อมูลก็รู้ว่าเป็นเรื่องของสถานีวิทยุโทรทัศน์ชุมชนของมูลนิธิกระจกเงา เลยปิ๊งไอเดียทันที คือรู้สึกว่าอยากเอามาทำหนังมาก หลังจากนั้นเลยเสาะหาข้อมูลกับทางกลุ่มกระจกเงา เพื่อขอข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจมาสร้างเป็นพล็อตเรื่อง”
จากความประทับใจผู้กำกับหญิงคนเก่งจึงไปติดต่อหาข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์ “ บ้านนอกทีวี” ของกลุ่มกระจกเงา จนได้ข้อมูลจริงของเด็กชาวเขาคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้ออกอากาศในรายการ โดยเธอเป็นเด็กผู้หญิงเผ่าอาข่าวัย 12 ปี ที่เป็นเด็กน้อยจอมซนของหมู่บ้านป่าแล มีความอยากรู้อยากเห็นสูงกว่าเด็กคนอื่นๆในหมู่บ้าน ทำให้เธอมักก่อเรื่องที่ผิดประเพณีของชนเผ่าอยู่เป็นประจำ ก่อนที่จะสร้างเรื่องราวสุดประทับใจให้กับทีมงานและคนในหมู่บ้าน จึงคิดที่จะนำเรื่องราวตรงนี้มาเป็นหนัง ผ่านเด็กคนหนึ่งในนาม “หมี่จู”
“หนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนความรักความรู้สึก และวิถีชีวิตของชาวเขาโดยเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ก็มีเด็กผู้หญิงตัวน้อยคนหนึ่งที่ชื่อว่า หมี่จู ซึ่งค่อนข้างแก่นแก้ว ซุกซน ก่อเรื่องวุ่นวายอยู่ตลอด จนดันไปทำอะไรบางอย่างที่ผิดประเพณีของเผ่า พ่อกับแม่ก็เลยอยากดัดนิสัย เลยส่งลูกสาวไปอยู่กับน้าในตัวเมือง เป็นจังหวะเดียวกับ
ที่มูลนิธิกระจกเงาเข้ามาดูพื้นที่เพื่อพัฒนาให้ความรู้กับชุมชน โดยการทดลองทำสถานีวิทยุชุมชน เป็นการทำรายการเพื่อชาวเขาโดยชาวเขาที่มีชื่อว่า “บ้านนอกทีวี” เป็นรายการเกี่ยวกับชาวเขาในหมู่บ้าน โดยมีชาวเขาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน สร้างรอยยิ้มและสนุกสนานกันไปส่วนหมี่จูที่ไปอยู่กับน้า ก็ไปหารายได้โดยการไปถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก ทำให้เขาได้เห็นเพื่อนพ้องที่เป็นชาวเขาด้วยกัน ที่ต้องมาลำบากทำงาน พลัดจากถิ่น ตัวหมี่จูก็เลยรู้สึกคิดถึงบ้าน จึงตั้งใจจะกลับไปสร้างวีรกรรมครั้งใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องซุกซนอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องราวสุดประทับใจที่เธอสื่อสารโดยใช้บ้านนอกเป็นสื่อกลาง”
คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมผู้กำกับหญิงคนเก่งคนนี้ ที่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับโปรเจกต์หนังฟอร์มยักษ์มามากมาย อีกทั้งผ่านโจทย์งานที่มีสเกลทางด้านโปรดักชั่นสุดยิ่งใหญ่ กลับเลือกที่จะทำหนังในสไตล์น่ารักสดใส และมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งความสนุกและความสุขจากหนังที่ตัวเองกำกับเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากความหวือหวาหรือทุนสร้างมหาศาลแต่อย่างใด เพียงแต่มันมาจากหัวใจที่เธอใส่เข้าไปในการกำกับหนังเรื่องนี้ต่างหากที่สำคัญ
“เราเป็นคนชอบดูหนังดราม่าน่ารักๆ ดูสดใส ดูแล้วให้แง่คิด หนังที่ได้อะไรกลับไปยังจิตใจของเรา อย่างสไตล์หนังที่เราอยากทำต้องเน้นเรื่องเรียลลีสติก อย่างเรื่องนี้ก็พยายามดึงเอาในจุดเล็กๆ ของจิตใจมาพูด ทั้งความรักและความผูกพัน อย่างเรื่องนี้จะมีส่วนที่พูดถึงความรักของครอบครัว อยากให้หนังของเราเป็นส่วนสะท้อนตรงนี้ ในขณะที่กำลังอมยิ้มและดื่มด่ำไปกับความน่ารักของตัวละครและบรรยากาศของหนัง ไม่ใช่หนังที่เอาเรื่องของชาวเขามาเป็นเรื่องโจ๊ก เพราะทุกอย่างเราได้ศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี “
เบื้องหลังบรรยากาศสุดประทับใจ...อาข่าโมเดลลิ่ง...และการใช้หัวใจกำกับฯ
จากการเดินทางไปหาข้อมูล ก็ถูกพัฒนาไปจนถึงการเสาะหาหาสถานที่ถ่ายทำที่มีบรรยากาศสวยงาม ด้วยความปราณีต การสร้างฉากที่เหมือนสภาพจริงที่ชาวเขาดำรงชีวิตกัน และการนำชาวเขาในท้องถิ่นมาร่วมแสดง ด้วยอยากให้ทุกอย่างถูกถ่ายทอดออกมาเป็นไปอย่างสมจริง เรื่องราวต่างๆถูกเรียงร้อยออกมาจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปคลุกคลีเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชน ภาพที่บรรจงสร้างออกมาผสมกับกลิ่นไอของทิ่วเขาในภาคเหนือ และบรรยากาศที่เหล่าชุมชนชาวเขาร่วมกันสรรค์สร้าง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาตรงตามความคิดที่ผู้กำกับวาดไว้
“ที่วาดภาพเอาไว้ในหัวคือต้องเป็นเขาโล่งๆ มีทะเลหมอกจางๆ ซึ่งจุดที่เราถ่ายทำห่างจากตัวเมืองอยู่สามชั่วโมง ต้องเดินทางข้ามเขาอยู่หลายลูก ซึ่งเรากับทางทีมงานก็ไปเจอภูเขาโล่งๆที่สวยมาก แล้วก็ยกพลกันเตรียมตัววางแผนการถ่ายทำทุกอย่างไปอยู่เป็นเวลา1เดือนเต็มเพื่อถ่ายทำ พอไปถึงก็รู้สึกเลยว่าที่นี่ดูเพียวมาก คือเราอยู่ในวิถีชีวิตแบบชาวเขาจริงๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งอะไรเลย ทุกอย่างเพียวมากเหมือนเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น คือถ่ายหนังเสร็จก็กินนอนที่นั่นเลย พอครบอาทิตย์ก็ต้องขับรถ 4 WD มาในตัวเมืองเพื่อซื้ออาหารสดกลับขึ้นไป ตกกลางคืนอากาศจะหนาวเย็นมาก ขนาดซุกตัวในถุงนอนที่อุ่นที่สุดแล้วบวกกับเสื้อหนาๆอีก1ตัวก็ยังไม่อาจต้านความหนาวได้ ยิ่งตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่ทรมานที่สุด ตื่นเช้าขึ้นมาแปรงฟันต้องเจอกับลมหนาว น้ำที่ใช้ล้างหน้าหรือแปรงฟันก็เหมือนเพิ่งเอาออกจากตู้แช่แข็ง เรียกว่าถ้าทุกคนไม่มีความตั้งใจจริงในการทำหนังเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้ คงยอมแพ้ตั้งแต่วันแรกแล้ว”
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นจุดสำคัญ คือผู้กำกับหญิงคนนี้ตั้งใจให้ทุกอย่างดูเป็นเรียลลีสติก ดังนั้นเรื่องภาษา บรรยากาศโดยรวม และวิถีชีวิตของตัวละครในเรื่อง จึงต้องดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทุกองค์ประกอบของหนังจึงเป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องของชาวเขา หรือรวมไปถึงนักแสดงบางส่วนในเรื่องที่เป็นชาวเขาแท้ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบ “อาข่าโมเดลลิ่ง” และนี่คืออีกหนึ่งสีสันที่ผู้กำกับหวังว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มให้กับหนังเรื่องนี้
“เรื่องของภาษาก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะเราเซ็ทให้ทุกอย่างถ่ายทอดถึงวิถีชีวิตของชาวเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาชาวเขาจริงๆ มาเล่น เราก็เอารถกระบะไปรับจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมา เหมือนระบบโมเดลลิ่งเลยนะ ที่ต้องทำแบบนี้ต้องบอกเลยว่าพี่ไม่ชอบทำอะไรที่มันไม่เรียลลิสติก ก็ต้องให้ชาวเขาเล่นเป็นตัวเขาอยู่แล้ว เช่นนั่งอยู่กับขอนไม้ นั่งอยู่กับเตาผิง เวลานั่งชงกาแฟ ดูดยาเส้น ก็เป็นตัวเขาเลย ตอนแรกก็สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ยังไม่คุ้นเคยกัน คือการทำงานกับผู้ใหญ่หรือเด็กชาวเขาทุกคน ต้องทำงานผ่านล่าม แต่เด็กบางคนก็สามารถพูดไทยได้ มีดื้อ มีซนบ้าง เล่นบ้าง กลัวเราบ้างแต่หลังๆกลายเป็นสนิท รักและผูกพันกันมากแทบจะนับญาติกันไปเลยทีเดียว”
นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแห่งความสุขที่มาจากความน่ารักของตัวละคร “หมี่จู” ผู้กำกับยังสอดแทรกเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาท่ามกลางความเจริญของชาวกรุง ความเหงาความเดียวดายเมื่อชาวเขาเหล่านั้นต้องพลัดพรากกัน สิ่งที่โหยหาคือการได้กลับมาอยู่รวมกันในครอบครัวในชุมชนของตนเอง ในเรื่องราวเหล่านี้ เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาถึงตัวผู้กำกับ ว่าไม่ต่างอะไรจากตัวเขา ที่อยู่ท่ามกลางความเจริญที่แสนจะวุ่นวาย เมื่อใดที่รู้สึกสับสนและทุกข์ใจ สิ่งที่ประโลมชีวิตให้ดีขึ้นได้คือ ครอบครัว นั่นคือสิ่งที่ตัวผู้กำกับตั้งใจให้ทุกคนได้แง่คิดตรงนี้ติดตัวกลับไป “คาดหวังว่าคนดูจะได้ในแบบที่เราได้ในแบบที่เราได้กลับมาจากตอนทำหนังเรื่องนี้ คือเราต้องการนำเสนอในมุมของครอบครัว พูดถึงความรัก ก็ในเมื่อไม่มีธุระที่จะต้องจากกัน ไม่มีความตายมาพราก แล้วทำไมไม่อยู่ซะด้วยกัน จะไกลจากไปทำไมให้คิดถึง ชีวิตชาวเขาส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ รวมไปถึงคนในเมืองก็เช่นกัน ที่มักมองข้ามความสำคัญของครอบครัว บางทีรู้สึกว่าตัวเองก็คล้ายๆหมี่จู คือตอนที่ทำเราไม่คิดว่าตัวเองอินขนาดนี้ แต่ว่าตอนนี้รู้สึกว่าที่หมี่จูกำลังพูดก็จริง คือตัวเราก็โหยหาครอบครัว โหยหาความรักที่แท้จริง แต่นี่ก็คือสิ่งที่ทุกคนโหยหาไม่ใช่เหรอ”
ทำความรู้จัก...หมี่จู
“อาข่าผู้น่ารัก” จะทำให้คุณสัมผัสได้ถึงความน่ารักเต็มอิ่มหัวใจไปกับเรื่องราวของหนัง ที่ต้องการสื่อถึงเรื่องราวความผูกพัน ความรัก ของคนในครอบครัว ผ่านการเดินทางทางความคิดของตัวละครหมี่จู เด็กหญิงชาวอาข่าจอมซน เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเสาะหาสาวน้อยที่จะมารับบทหมี่จูจึงต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ตัวแทนของความน่ารักสดใส และสามารถอมยิ้มไปกับความซนและโลกส่วนตัวของเธอ ภายใต้โจทย์แรกที่ สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ ไว้เป็นอันดับแรกสำหรับเด็กหญิงที่จะมาถ่ายทอดตัวละครหมี่จูนั่นคือต้องสามารถทำให้คนดูตกหลุมรักเธอให้ได้
“หมี่จูต้องมีความน่ารัก ดูสดใสบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันต้องมีความซุกซน แก่นแก้ว ตามประสาเด็กทั่วไป และมีมุมที่กำลังค้นหาตัวเอง หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองได้พบเจอ หมี่จูต้องสามารถทำให้คนดูหัวเราะไปกับความแสบซนของเธอ และสามารถทำให้คนดูรู้สึกโหยหาเวลาที่เธอเหงา และทำให้เสียน้ำตาเวลาที่เธอร้องไห้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการจากตัวละครหมี่จู”
สำหรับขั้นตอนการหาเด็กผู้หญิงที่จะมารับบทเป็น “หมี่จู” ผู้กำกับหญิงคนเก่งนั้นได้ใช้เวลาเกือบครึ่งปี จากผู้ที่มาคัดเลือกกว่าร้อยคน จนในที่สุดฟ้าก็ประทานเด็กผู้หญิงลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น วัย 10 ขวบที่ชื่อว่า “น้องแคนดี้” หรือมีชื่อเต็มว่า “ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า” ให้มาเจอกับผู้กำกับหญิงคนเก่ง และหลังจากผ่านการทดสอบทางการแสดงอยู่พักใหญ่ น้องแคนดี้ ก็สามารถมารับเป็นตัวละครสำคัญตัวนี้ได้อย่างที่ผู้กำกับวาดภาพเอาไว้
“เราเริ่มจากการติดต่อน้องที่เรียนม.เชียงใหม่ ให้เขาช่วยทำแคสติ้งให้ ก็ต้องมีการพูดคุยกันเรื่องโจทย์ของเราว่าต้องการเด็กอายุประมาณ 8-10 ปี เขาก็ไปหาตามโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนบัลเล่ต์ แล้วก็ไล่ถ่ายรูปเด็กแล้วคัดส่งมาให้ จนได้เจอกับแคนดี้ ซึ่งตอนแรกที่ได้เจอกับแคนดี้ เขาเป็นเด็กคนเดียวที่สามารถเล่นได้แสดงได้ แม้ว่าจะเขินก็ตาม เราพูดอะไรไปให้ซึ้ง เขาก็ซึ้ง เขาสามารถร้องไห้ให้เราดูได้ แล้วบวกกับหน้าตา และตัวน้องเองเป็นเด็กเชียงใหม่ บุคลิกและลักษณะก็ดูเป็นคนเหนืออยู่ ช่วงเวลาที่เวิร์กช็อบด้วยกัน จะรู้เลยว่าน้องเป็นเด็กแก่น ก็เลยรู้สึกว่านี่แหละที่เป็นไปตามที่เราอยากได้ตอนนั้นรู้สึกว่าเด็กคนนี้แหละคือหมี่จูที่เราตามหา”
แต่การที่เด็กวัยสิบขวบอย่างน้องแคนดี้ ที่ยังไม่เคยผ่านงานแสดงใดๆ มาก่อน ต้องมารับบทนำในหนังเป็นครั้งแรก โดยต้องสวมบทบาทเป็นเด็กหญิงชาวเขาสุดแก่น เรื่องของภาษา และการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ลำบาก จึงเป็นเหมือนการบ้านที่หนักเอาการ สำหรับเด็กน้อยคนนี้ ซึ่งผู้กำกับหญิงคนเก่งพูดถึงการเตรียมตัวของน้องแคนดี้เพื่อมารับบทหมี่จูว่า
“เริ่มจากการส่งไปเรียนการแสดงที่โรงละครของกาดสวนแก้ว เพราะว่าเราไม่อยากให้เด็กเดินทางไกลมากรุงเทพฯ ก็ให้เขาเรียนเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องของภาษา คือบทภาพยนตร์จะต้องมีภาษาอาข่า ซึ่งยากมากๆ แต่เด็กทำได้ เขาต้องอ่านเป็นคาราโอเกะ ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าน้องมีความสามารถมาก เพราะภาษาอาข่าเป็นอะไรที่ยาก ตัวเองยังทำไม่ได้เลย แล้วน้องเขาทำได้ดีมาก เขาใช้เวลาจำบทภาษาอาข่าสักประมาณหนึ่งเดือน ระหว่างที่ขึ้นไปถ่ายทำ ทุกคืนเขาก็จะต้องนั่งดูบทซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่เครียดมากสำหรับเด็ก 9 ขวบ เรื่องภาษานี่ถือเป็นเรื่องที่ยากมา ต้องยอมรับว่าน้องมีความอดทนและมีความสามารถมาก เขาต้องมาจากบ้านที่เชียงใหม่เพื่ออยู่กับเรา ต้องไปนอนอยู่หมู่บ้านชาวเขา ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เที่ยวอะไรเลย กลางคืนก็ต้องท่องบท แรกๆ เขาก็มีอึ้งมีงอแงนิดหน่อย แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มสนุก ซึ่งเขาเป็นคนแก่นอยู่แล้ว วันไหนพักถ่ายเขาก็จะไปเดินเล่นน้ำตก ไปเดินดูต้นไม้ ก็เลยซึมซับกลมกลืนกับคาแรกเตอร์ที่ได้รับไปในตัว”
ทางด้านน้องแคนดี้ เด็กน้อยผู้น่ารักผู้ที่มารับบทเป็น “หมี่จู” พูดถึงช่วงเวลาและประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่แสนประทับใจ กับการแสดงหนังครั้งแรกโดยต้องมารับบทเป็นตัวสำคัญที่สุดในเรื่อง ที่จะทำให้เธอต้องจดจำความรู้สึกดีๆ ตลอดไปตราบนานเท่านาน
“แคนดี้รู้สึกดีใจมาก ที่ได้มาเล่นเป็นหมี่จูในหนังอาข่าผู้น่ารัก ตอนแรกที่ไปแคสติ้งก็ไม่มั่นใจ เพราะรู้สึกว่าแสดงไม่เป็น พี่ปุ๊กกี้ (ผู้กำกับ) ก็บอกให้เราเล่นเป็นธรรมชาติ พอรู้ว่าได้เล่นก็ดีใจมาก เพราะว่าจะได้ไปเที่ยวเล่นอยู่บนดอย แต่พอเอาเข้าจริงทุกอย่างดูยากมาก ต้องท่องภาษาอาข่า ต้องท่องบท ไม่ได้ดูทีวี ไม่ได้เจอเพื่อน แต่ว่าพออยู่ไปสักพักก็เริ่มสนุก บรรยากาศก็ดี เรื่องของการแสดงก็เข้าใจมากขึ้น เพราะพี่ปุ๊กกี้จะพูดเสมอว่าให้เล่นเป็นตัวเอง เพราะว่านิสัยของแคนดี้จะแก่นๆ เหมือนกับหมี่จูอยู่แล้ว”
นอกจากน้องแคนดี้ ผู้ที่มารับบทเป็นหมี่จูในเรื่องแล้ว “อาข่าผู้น่ารัก” ยังได้นักแสดงสาวมากฝีมือ “พิมพรรณ ชลายคุปต์” ผู้ที่เคยผ่านผลงานหนังอย่าง คืนบาปพรหมพิราม , ฟอร์มาลีนแมน...รักเธอเท่าฟ้า , โคลิค..เด็กเห็นผี โดยสาวพิมต้องมารับบทเป็น พี่แป้น หัวเรือใหญ่ของกลุ่มกระจกเงา เป็นบุคคลสำคัญที่มีตัวตนอยู่จริง โดยพี่แป้นเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการทำรายการโทรทัศน์เพื่อชาวเขา หรือที่มีชื่อรายการว่า “บ้านนอกทีวี” และเป็นสื่อกลางให้กับ หมี่จูถ่ายทอดความรู้สึกสุดประทับใจให้กับชาวบ้าน ซึ่งผู้กำกับพูดถึงสาวพิมและคาแรกเตอร์ของตัวละครตัวนี้ว่า
“พี่แป้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เพราะฉะนั้นการหาใครสักคนเพื่อมารับบทนี้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะว่าพี่แป้นต้องเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นผู้นำ มีความคิดที่ทุ่มเทและเสียสละจะพัฒนาชีวิตของผู้อื่น ซึ่งพิมก็เหมาะกับบทนี้มาก สายตาเขาดูมีความแน่วแน่ คนที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ จะต้องดูมีคาแรกเตอร์ที่แข็งและแน่วแน่ ซึ่งในส่วนของทีมกระจกเงาก็อิงจากตัวจริงเลย คือคาแรกเตอร์ในภาพยนตร์ของกลุ่มกระจกเงามีจริงทุกคน ทั้งพี่แป้น อาตี อาหม่า ที่มาเป็นอาสาและสอนให้ชาวเขารู้จักการตัดต่อ การถ่ายทำรายการทีวี สอนกระบวนการการออกอากาศ ตัวละครกลุ่มนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นสีสันที่สามารถเรียกรอยยิ้ม จากความรู้สึกประทับใจ เมื่อได้เห็นชาวเขาทำรายการทีวี และเมื่อได้เห็นตัวเองในทีวีครั้งแรก”
ทางด้านนักแสดงสาว พิมพรรณ ชลายนคุปต์ ก็ได้พูดถึงบทบาทใหม่ครั้งสำคัญของเธอ ที่เจ้าตัวถึงกับเอ่ยปากว่าแม้คาแรกเตอร์ไม่ได้หวือหวาอะไรมากมาย แต่กลับรู้สึกท้าทายมากกว่าทุกเรื่องที่เคยร่วมงานมา ทั้งเรื่องของการทำงานในระหว่างถ่ายทำ รวมไปถึงแง่คิดที่เธอได้รับกลับมาจากการเล่นหนังเรื่องนี้ด้วย
“สิ่งที่ท้าทายตัวเรากับการมาเล่นหนังเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้เป็นบทเรียบๆ ง่ายๆ แต่การจะสื่อสารให้กับคนดูดูแล้วรู้สึกอินไปกับเราได้ เป็นสิ่งที่ยาก เพราะตัวละครพี่แป้นที่พิมเล่นมีอยู่จริง วิธีการแสดงออกทุกอย่างจะต้องคล้ายกับตัวจริง ทั้งแววตาและความรู้สึกต้องทำให้เชื่อได้ว่าคนๆ นี้พร้อมจะทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ เพราะพิมเองไม่เคยไปสัมผัสงานในด้านแบบนี้มาก่อน อีกอย่างหนึ่งคือการถ่ายทำ เพราะเราต้องขึ้นไปอยู่บนนั้นเลย ใช้เวลาเป็นเดือนๆ รู้สึกว่าทุกอย่างดูเพียวมากๆ สิ่งที่เราซึมซับได้จากการทำงานในหนังเรื่องนี้ คือทำให้เรารู้ว่า การได้อยู่กับคนที่เรารัก นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง หนังเรื่องนี้กำลังจะสื่อถึงความผูกพันในครอบครัว ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่านี้แล้ว สิ่งของภายนอก วัตถุต่างๆ มันไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย การได้อยู่กับคนที่เรารัก คนที่ปราถนาดีต่อเรา นั่นคือความสุขที่แท้จริง เชื่อว่าคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จะรู้สึกอิ่มใจ และอาจหันกลับไปมองคนที่รักรอบข้างมากขึ้น”
Character
ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า รับบทเป็น “หมี่จู”
“หมี่จู” เป็นสาวน้อยชาวอาข่า ที่ความแก่นซนไม่ได้น้อยไปกว่าความน่ารักของเธอ จนวันหนึ่งเธอก็สร้างเรื่องเดือดร้อน จนพ่อกับแม่ต้องส่งเธอไปอยู่กับน้าในเมือง ที่นั่นเองที่หมี่จูได้เจอกับคนในหมู่บ้านของเธอที่หายไป ทำให้เธอรู้สึกโหยหาและคิดถึงดินแดนที่เธอเคยอยู่ และตั้งใจที่จะกลับไปบ้านเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างกับคนที่นั่น วีรกรรมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องซุกซนอีกต่อไป แต่จะทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล
“หนูมีความสุขที่มีรูปถ่าย...เวลาถ่ายรูปสนุกมาก หนูเจอนักท่องเที่ยวทุกวัน ถ่ายรูปทุกวันแต่...หนูอยากมีรูปถ่ายแบบนี้กับพ่อ กับแม่ กับทุกคนในหมู่บ้านมากกว่าแต่มันก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะอีกไม่นาน หนูก็คงถูกไล่ออกจากหมู่บ้านเหมือน อานี ป่องเปี้ย แล้วก็น้าหมี่ยี ที่ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย….”
ประวัติ ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า มีชื่อเล่นว่า แคนดี้ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2537 เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น และอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด หลังจากที่ทีมแคสติ้งเลือกรูปถ่ายกว่าร้อยใบเพื่อเสาะหาเด็กผู้หญิงที่จะมารับบทเป็นหมี่จู ในที่สุดความน่ารักสดใสของน้องแคนดี้ก็โดนใจผู้กำกับหญิงคนเก่งเข้าอย่างจัง ทำให้เธอได้สวมบทบาทนักแสดงครั้งแรกในขณะที่อายุ 10 ปี
พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ รับบทเป็น พี่แป้น
“พี่แป้น” เปรียบเสมือนเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มกระจกเงา เธอเป็นผู้หญิงที่เข็มแข็ง มีความเป็นผู้นำ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาชีวิตของชาวเขา ในขณะเดียวกันพี่แป้นก็เปรียบเสมือนหน้าต่างบานใหม่ของชาวเขา เมื่อทำให้ทุกคนรู้จักกับเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างความสุข เช่นเดียวกันกับที่หมี่จูรบเร้าพี่แป้นเพื่อจะออกทีวี เพื่อใช้บ้านนอกทีวีถ่ายทอดความรู้สึกที่หล่นหายไปจากชาวเขา
“ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าสภาพอากาศปลอดโปร่ง สัญญาณอาจไปถึงพื้นราบที่เชียงราย แต่ก็ชั่งเถอะ...ที่สำคัญเราต้องทำรายการถ่ายทอดสดกัน เพื่อให้พวกเราบนเขาได้ดูกันแบบสดๆ ไอ้เรื่องที่จะแพร่ภาพไปพื้นราบได้หรือไม่ได้...มันก็แค่ผลพลอยได้เท่านั้น”
ประวัติ พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นที่รู้จักไปทั่วเมือง จากการมารับบทนำในหนังที่มีกระแสมากที่สุดในยุคนั้นคือ “คืนบาปพรหมพิราม” ทำให้เธอแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะนักแสดงที่ผ่านบทบาทที่หินสุดๆ มาแล้ว ก่อนจะมีผลงานหนังอย่าง “ฟอร์มาลีนแมน...รักเธอเท่าฟ้า” และ โคลิค..เด็กเห็นผี” และล่าสุดกับบทบาทพี่แป้น ตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเธอก็สวมบทบาทได้ดีเยี่ยมอีกเช่นเคย
Director ‘s profile
หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มากว่า 15 ปี สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ โปรดิวเซอร์หญิงเหล็กผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์มาหลายต่อหลายเรื่องตั้งแต่หนังกวาดรายได้ระดับบล็อคบัสเตอร์อย่าง ช็อคโกแลต , ต้มยำกุ้ง , องค์บาก ,7 ประจัญบานทั้งสองภาค ฯลฯ ไปจนถึงหนังสะท้อนแง่มุมและแนวคิดทางสังคมอย่าง รักแห่งสยาม , สยิว , Fake ,คนผีปิศาจ ฯลฯ ตัดสินใจถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต มุมมองและแนวคิดผ่านงานเขียนบท และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตโดยหยิบเอาเรื่องราว อันใสซื่อที่เต็มไปด้วย “รอยยิ้ม” และ “ความประทับใจ” ของเด็กหญิงชาวเขาเผ่าอาข่า มาถ่ายทอดเป็น “อาข่าผู้น่ารัก” ภาพยนตร์ในแนวใส ๆ โดยใช้เวลาเตรียมงานนานกว่า 8เดือนและครึ่งปีสำหรับคัดเลือกนักแสดงหลักเพื่อมารับบท “หมี่จู” เด็กหญิงชาวเขาที่กำลังอยู่ท่ามกลางความสับสนในการค้นหาตนเอง จนกระทั่งได้พบกับแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
ประวัติผู้กำกับ : สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
เกิดวันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ 2509
พ.ศ.2531-2532 ตำแหน่ง Casting ของ Unity Production House
พ.ศ.2533-2536 ตำแหน่ง โปรดิวเซอร์ ผลิต มิวสิควีดีโอ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น
พ.ศ.2537-2538 ตำแหน่ง ผู้จัดการกองถ่าย(อิสระ) ภ.เรื่อง “โลกทั้งใบ...ให้นายคนเดียว”, “ล่องจุ๊น” และ ภ.เรื่อง “ปาร์ฏิหารย์...โอม+สมหวัง”
ตำแหน่ง โปรดิวเซอร์ มิวสิควีดีโอ บริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2542 ตำแหน่ง Freelance Producer บริษัท บาแรมยู จำกัด
พ.ศ.2543—ปัจจุบัน ตำแหน่ง Line Producer บริษัท บาแรมยู จำกัด
ภ.เรื่อง “ปอบ หวีดสยอง” ,“7 ประจันบาน 1”, “999-9999…ต่อ ติด ตาย”
ตำแหน่ง Producer ภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก”, “สยิว”, “Fake”, “เฮี้ยน”, “ตะเคียน”, “X-man”, “นายอโศก...นางสาวเพลินจิต”, “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม”, “Formalin Man”, “7 ประจันบาน 2”, “คน ผี ปีศาจ”,“เฉิ่ม”, “เกิดมาลุย”, “อาข่าผู้น่ารัก” ,“ต้มยำกุ้ง“ ,“13 เกมสยอง” ,“เขาชนไก่” ,“โคตรรักเองเลย” ,
“รักแห่งสยาม” และ ”ช็อคโกแล็ต”
เขียนบทภาพยนตร์ และ กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อาข่าผู้น่ารัก”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ