“ความสุขของกะทิ” จาก “วรรณกรรมซีไรต์” ที่ครองใจผู้อ่านทั่วประเทศพ ร้อมแล้วที่จะมาสร้างชื่อให้จดจำอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์

ข่าวบันเทิง Thursday December 4, 2008 08:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม จาก “วรรณกรรมซีไรต์” ที่ครองใจผู้อ่านทั่วประเทศ บทประพันธ์ที่ลัดฟ้าสู่ระดับโลกด้วยความประทับใจพร้อมแล้วที่จะมาสร้างชื่อให้จดจำอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ที่ใคร ๆ ต่างรอคอยจากปลายปากกาเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” เจ้าของบทประพันธ์ระดับซีไรต์ ครั้งแรกที่คุณจะได้รู้จัก “หนูน้อยกะทิ” โดยกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์น้องใหม่ “ภาพยนตร์ชูใจ” ที่เนรมิตจินตนาการจากตัวหนังสือสู่แผ่นฟิล์มอย่างสมจริงในภาพยนตร์เรื่อง “ความสุขของกะทิ” กำหนดฉาย 8 มกราคม 2552 แนวภาพยนตร์ ครอบครัว-อบอุ่นประทับใจ อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ควบคุมงานสร้าง จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ, สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา ดำเนินงานสร้าง อังค์วรา พึ่งธรรม กำกับภาพยนตร์ เจนไวยย์ ทองดีนอก บทภาพยนตร์ เจนไวยย์ ทองดีนอก, งามพรรณ เวชชาชีวะ กำกับภาพ ธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์ ลำดับภาพ ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล ออกแบบงานสร้าง เอกรัฐ หอมลออ ผู้กำกับศิลป์ ธรรมรงรัตน์ วานิชสมบัติ ออกแบบเครื่องแต่งกาย กรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดนตรีประกอบ นภ พรชำนิ, คานธี แต่งหน้า วรโชติ อุปปิง ทำผม พรเทพ มงคลสกุลกิจ ฟิล์มแลป สยามพัฒนาฟิล์ม บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ทีมนักแสดง สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, จารุวรรณ ปัญโญภาส, กฤษฎา สุโกศล แคลปป์, เข็มอัปสร สิริสุขะ, ไมเคิล เชาวนาศัย, รัชนก แสง-ชูโต, นิธิศ โค้วสกุล และขอแนะนำ ภัสสร คงมีสุข (รับบทเป็น “กะทิ”) เมื่อ “กะทิ” กลายเป็น “หนัง” ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายขนาดสั้น เจ้าของรางวัลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2549 ที่เขียนโดย คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ด้วยยอดจำหน่ายกว่า 250,000 เล่ม และถูกตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 58 ครั้ง ทำให้ ความสุขของกะทิ เป็นหนังสือที่มีจำนวนผู้อ่านมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย รวมถึงยังโด่งดังจนได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์เพื่อแปลและจำหน่ายไปแล้ว 7 ภาษาใน 8 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย (ภาษาอังกฤษ), ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สเปน (ภาษาคาตาโลเนีย), เกาหลี, ลาว และที่ จีน และ ไต้หวัน (ภาษาจีน) เป็น 2 ประเทศล่าสุดที่เพิ่งขายลิขสิทธิ์เพื่อแปลและพิมพ์จำหน่ายต่อไปรวมถึงเวอร์ชั่นไทย ก็เพิ่งจัดพิมพ์ “ฉบับปกแข็ง” เพื่อฉลองความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ไป จากความประทับใจในหนังสือ ได้รับการถ่ายทอดสู่เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มโดย “ภาพยนตร์ชูใจ” “ภาพยนตร์ชูใจ” คือกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม คลุกคลีและคร่ำหวอดในแขนงงานต่าง ๆ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ล้วนแล้วแต่ต่างผ่านโมงยามในการเรียนรู้ หลงใหล ในเสน่ห์ของภาพยนตร์ในฐานะคนรักหนังมาแรมปี โดยหวังไว้สักวันหนึ่งว่าจะได้มีโอกาสถ่ายทอดความคิด ผลักดันไอเดียที่แล่นผ่านเข้ามาในชีวิต ออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่มุ่งสื่อสารกับผู้คนกลุ่มใหญ่ และในวันนี้ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในนามของภาพยนตร์ชูใจกำลังจะถือกำเนิดขึ้น เมื่อได้รับเกียรติจากนวนิยายเรื่อง “ความสุขของกะทิ” วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ปี 2549 มาสร้างเป็นผลงานภาพยนตร์เปิดตัวเรื่องแรก เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีตรงตามแนวทางของกลุ่มที่เน้นการสร้างภาพยนตร์ที่ช่วยเชิดชูยกระดับจิตใจและสร้างสรรค์สังคม โดย “ความสุขของกะทิ” เป็นหนังสือที่มีการขมวดปมทางอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างความประทับใจ อบอุ่นอบอวลให้กับแฟนหนังสือได้อย่างลงตัวที่สุด นอกจากนี้ ทางภาพยนตร์ชูใจยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ในการถ่ายทอดเรื่องราวของ “เด็กหญิงกะทิ” ผ่านบทภาพยนตร์ร่วมกับผู้กำกับ คุณเจนไวย์ ทองดีนอก เป็นครั้งแรกด้วย รวมถึงยังมี 2 สาวเก่งผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยอย่าง คุณจาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ และ คุณสุฐิตา เรืองรองหิรัญญา มารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ เรื่องย่อ “ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่” “กะทิ” (น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อ “แม่” (รัชนก แสง-ชูโต) ต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายที่มิอาจรักษา กะทิต้องผ่านขั้นตอนความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและความสูญเสีย ที่มากเกินกว่าที่เด็กวัยเดียวกันนี้จะรับไหว ถึงกระนั้น กะทิก็ได้เรียนรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ใน “ลิ้นชักแห่งความทรงจำ” ที่แม่เตรียมไว้ให้ก่อนสิ้นลมหายใจว่า ความทุกข์จากการสูญเสียนั้นมิอาจพรากความสุขจากความรักและความผูกพันของแม่ที่มีต่อเธอได้ “อดีตเหมือนเงา บางครั้งทอดนำทางอนาคต” เด็กน้อยเติบโตขึ้นจากประสบการณ์นี้ด้วยความเชื่อมั่นและกำลังใจในการดำรงชีวิตจากบุคคลใกล้ชิด...ผู้ที่เธอรักและรักเธอ ไม่ว่าจะเป็น “ตา” (สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์) และ “ยาย” (จารุวรรณ ปัญโญภาส) ผู้ที่รักหลานกะทิดุจชีวิต, “น้าฎา” (เข็มอัปสร สิริสุขะ), “น้ากันต์” (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์), “ลุงตอง” (ไมเคิล เชาวนาศัย) และ “พี่ทอง” (นิธิศ โค้วสกุล) ที่ต่างเข้ามาสร้างสีสัน แบ่งปันความสุข และเติมเต็มชีวิตให้หนูน้อยกะทิรู้สึกว่า เธอไม่ได้ขาดอะไร และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้เฉกเช่นเด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้วในความโศกเศร้านี้ ก็มี... “ความสุขจริงแท้อันยิ่งใหญ่” ที่ได้เบ่งบานในหัวใจของ “เด็กหญิงกะทิ” อยู่เช่นกัน “ความสุขของคนรอบข้าง คือความสุขของเราด้วย...ความสุขแบ่งปันได้” คาแร็คเตอร์ตัวละคร กะทิ รับบทโดย น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข เด็กหญิงวัย 9 ปี ผูกพันกับแม่จากสิ่งต่าง ๆ ที่แม่ได้เตรียมไว้ให้ แม้จะแยกกันอยู่ตั้งแต่ 5 ขวบ กะทิเป็นเด็กช่างคิดกว่าวัยและเติบโตมากับตาและยาย นิสัยร่าเริงตามประสาเด็ก มีโลกทัศน์ในเชิงบวก และกล้าหาญเมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของเธอ แม่ (ณภัทร) รับบทโดย รัชนก แสงชูโต ทนายสาว หลังจากหย่าขาดจากสามีแล้ว เธอจึงเลี้ยงลูกตามลำพังท่ามกลางครอบครัวและเพื่อนที่คอยเป็นกำลังใจ เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยหนักและไม่อาจดูแลลูกได้ จึงฝากลูกไว้กับพ่อแม่ และใช้เวลาที่เหลือเตรียมทุกสิ่งไว้ให้ลูกก่อนก่อนตัวเองต้องจากไป ตา (พิทักษ์) รับบทโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตทนายนักเรียนนอก ที่หันหลังให้กับชีวิตเมืองกรุง และย้ายกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายในอยุธยากับภรรยาและกะทิ-หลานสาว ที่ลูกสาวคนเดียวฝากไว้ในความดูแล ทุกนาทีมีค่าเมื่อต้องประคับประคองชีวิตหนึ่งของเด็กน้อยที่เพิ่งเริ่มต้นให้ออกก้าวเดิน ยาย (ลัดดา) รับบทโดย จารุวรรณ ปัญโญภาส อดีตเลขานายใหญ่โรงแรมห้าดาว ยายของกะทิที่พอใจกับชีวิตเรียบง่าย รอยยิ้มของลัดดาหายไปเมื่อรับรู้ว่าลูกสาวคนเดียวมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน และภาระความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูหลานสาวคนเดียว ทำให้ต้องใช้สติในการตัดสินใจ น้าฎา (ชฎา) รับบทโดย เข็มอัปสร สิริสุขะ หญิงสาวผู้เป็นเลขาฯ ให้ณภัทร และกลายเป็นมือขวาในทุกเรื่องให้เธอจนถึงวาระสุดท้าย แม้จะเสียใจเมื่อรู้ว่าณภัทรป่วยหนัก แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอได้รู้จักความเข้มแข็ง ความเสียสละ และรักแท้ที่แม่มีให้ลูก เธอไม่อาจห้ามใจผูกพันกับ กันต์-เพื่อนรุ่นน้องของณภัทรได้ และรู้ว่ามีโอกาสน้อยเหลือเกินที่เขาจะมองมา แต่นั่นก็เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเธอที่ได้ใกล้ชิดเขาในช่วงเวลาหนึ่ง น้ากันต์ รับบทโดย กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ หนุ่มโสด พูดน้อย เก็บตัว รุ่นน้องที่สนิทสนมกับณภัทรตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย กันต์ชื่นชมในความเก่งและยกให้ณภัทรเป็นผู้หญิงในดวงใจ เขาพร้อมเสียสละความสุขส่วนตัวหากจะทำให้เพื่อนรุ่นพี่จากไปโดยสงบ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลกะทิ กันต์ไม่เคยมองหาหญิงคนไหน แม้จะมีสาวสวยน่ารักอยู่ใกล้ตัว จนเมื่อภาพความจริงคมชัดว่าชีวิตไม่ควรโดดเดี่ยวนัก เขาจึงถอนสายตาจากหญิงในดวงใจมายังหญิงใกล้ตัว ลุงตอง รับบทโดย ไมเคิล เชาวนาศัย ลุงตอง ลุงของกะทิ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับณภัทรแม่ของกะทิ โดยนิสัยเป็นคนใจดี รักพี่น้องและพวกพ้องมาก ผูกพันกับณภัทรมาตั้งแต่เล็ก รักสวยรักงาม ชอบจัดดอกไม้เป็นพิเศษ เป็นคนมีอารมณ์ขันหยิกแกมหยอก แต่ลุงตองมีสายตาแหลมคมและมองโลกในมุมปรัชญาเสมอ พี่ทอง รับบทโดย นิธิศ โค้วสกุล เด็กวัด ผู้มีนิสัยชอบช่วยผู้อื่นโดยธรรมชาติและโดยการอบรมของหลวงลุง ทองกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกะทิโดยไม่รู้ตัว เมื่อเขาได้ช่วยชีวิตกะทิไว้ในเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ เขารับกะทิเป็นน้องตั้งแต่วันแรกที่ได้เห็น และความรู้สึกนี้ไม่เคยแปรเปลี่ยนตามกาลเวลาเลย ประวัติ น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข (รับบทเป็น “กะทิ” ในเรื่อง “ความสุขของกะทิ”) ชื่อ ด.ญ. ภัสสร คงมีสุข (พลอย) อายุ 12 ปี น้ำหนัก 33 กก. สูง 152 ซม. การศึกษา ม.1 โรงเรียน ชลกันยานุกูลแสนสุข จ.ชลบุรี ความสามารถพิเศษ ไอซ์สเก๊ตช์, เต้นห่วงฮูลาฮู้ป กีฬาที่ชอบ แบดมินตัน, ว่ายน้ำ, เต้นห่วงฮูลาฮู้ป สีโปรด สีม่วง งานอดิเรกยามว่าง อ่านหนังสือการ์ตูนความรู้ อาหารจานโปรด สเต๊กหมู, ไอศกรีม ผลไม้ที่ชอบ แอปเปิ้ลลูกเล็ก สัตว์เลี้ยงตัวโปรด หมากระเป๋า สไตล์การแต่งตัว เสื้อยืดกางเกงเอี๊ยมขาสั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป (ในประเทศ) หัวหิน ประเทศที่อยากไป ญี่ปุ่น ดาราที่ชื่นชอบ แพนเค้ก, นุ่น วรนุช, เชอรี่ เข็มอัปสร นักร้องที่ชื่นชอบ บี้ เดอะสตาร์ ผลงานการแสดง ความสุขของกะทิ อธิบายความเป็นตัวเอง เป็นคนร่าเริง ชอบสนุก จริงใจ สดใส คติประจำใจ รักไม่ยุ่ง มุ่งแต่เรียน บันทึกผู้กำกับ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีเวลาของมัน การเตรียมพร้อมที่ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การอดทนและรอคอย พ่อผมเคยบอกว่า ตอนผมยังเล็ก คราวใดที่ผ่านหน้าโรงภาพยนตร์ ผมจะร้องไห้งอแง นั่นอาจเป็นเพราะผมอยากจะดูหนัง หรือไม่ก็เพราะว่าในสมัยก่อนบริเวณหน้าโรงฯ มีแตรวงบรรเลงเรียกร้องความสนใจอยู่ก็เป็นได้นั่นเป็นเหตุผลที่ผมนำมาอ้างเสมอเมื่อมีใครถามถึงจุดเริ่มในการสนใจศาสตร์แขนงนี้ และก็เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ช่วยสะกดจิตตัวเองให้เป็นนักทำหนัง แรกเริ่ม “ความสุขของกะทิ” ที่ผมรู้จักยังไม่มีคนสนใจมากนัก ผมใช้เวลากับกะทิในมุมมองของตัวเองและจินตนาการเป็นภาพต่าง ๆ นานาโดยไม่เคยนึกว่า วันหนึ่ง จินตภาพเหล่านั้นจะได้สัมผัสบนจอเงินจริง ๆ เป็นสัมผัสที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของความสุขทุกอณูเฟรม ...การได้ทำงานกับแสงช่างวิเศษนัก... เมื่อความตั้งใจคือถ่ายทอดสาระของความสุข สิ่งที่ห้ามละเลยคือการสร้างบรรยากาศแห่งสุขให้จงได้ ความสุขบนแผ่นฟิล์มย่อมเกิดจากรายละเอียดนอกแผ่นฟิล์มที่แปรผันตามกันดังสมการลบลบเป็นบวก เพราะการสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องใหญ่ วุ่นวาย เป็นงานหนักที่ต้องทุ่มเทหมกมุ่นในสติตลอดการกระทบกระทั่ง กดดัน และความเครียดจึงอาจแสดงตัวชัดเจนเมื่อลงมือทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา การวางแผนที่จะลบสิ่งต่าง ๆ ในด้านลบจึงเป็นเป้าหมายแรกในการถ่ายทำ ผลที่ได้คือทุกวันเราทำงานกันด้วยความสุขใจ เข้าใจ ไร้ซึ่งการด่าทอ แต้มรอยยิ้มเติมอารมณ์ชวนหัวเราะ น้ำเสียงที่ส่งผ่านกันจึงเย็นฉ่ำชูใจไร้สารปลอมปน เมื่อบรรยากาศได้ ก็ไม่ยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวอย่างได้บรรยากาศ วันสุดท้ายของการถ่ายทำที่บ้านไทยในอยุธยา พวกเรามีช่วงพักเที่ยงยาวเพื่อรอคอยการมาของแสงยามเย็น ทุกคนต่างหามุมของตัวเองเพื่อเอนกายพักผ่อน แต่ผมไม่ได้นอน ไม่ใช่ว่าไม่ง่วง ไม่รู้ทำไม คงเพราะช่วงเวลาของการถ่ายทำที่อยุธยากำลังจะหมดลงกระมัง บ้างอยู่ใต้ต้นไม้ บ้างก็บนศาลาริมน้ำ บ้างก็บริเวณระเบียงนอกชาน หลายคนนึกถึงวันที่ผ่านมาและเริ่มดื่มด่ำกับช่วงเวลาสุดท้ายด้วยการนอนและฝันไป ผมถามตัวเองเหมือนกะทิว่า “ตัวเองต้องการอะไร” เมื่อมองไปรอบ ๆ กาย ณ นาทีนั้นผมก็ได้คำตอบ... ขอบคุณทุกคนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด ขอบคุณที่ไว้ใจและศรัทธากัน ขอบคุณทุกคนที่แสดงออกว่ามีความสุข และขอบคุณที่รัก...“กะทิ” เจนไวยย์ ทองดีนอก บ้านชูใจ เก้าโมงสามสิบเจ็ดนาที วันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบสอง ปีชวด ประวัติย่อผู้กำกับ เจนไวยย์ ทองดีนอก (GENWAII THONGDENOK) เกิด - อังคาร 25 กุมภาพันธ์ ปีเถาะ การศึกษา - ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ จ.สกลนคร - มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแม่พระฟาติมา กรุงเทพฯ - มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี - ปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เอกภาพยนตร์) กิจกรรม - ประธานคณะกรรมการคณะวารสารศาตร์และสื่อสารมวลชน - ประธานชุมนุมถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ผู้กำกับละครประจำปีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เกียรติประวัติ - ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “มี” ชนะรางวัลขุนวิจิตรมาตรา งานประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย - ภาพยนตร์สารคดี “เพื่อนตาย” ชนะรางวัลรชฏเสมอ จากงานมหกรรมภาพยนตร์กรุงเทพฯ Bangkok Film Festival ประวัติการทำงาน - ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท รถไฟดนตรี จำกัด - ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด - ผู้ช่วยกำกับฯละครโทรทัศน์ - ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์โฆษณา - ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์ - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง Production Supervisor บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด และกำกับภาพยนตร์ “ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องแรก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ