บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ “เจนไวยย์ ทองดีนอก” ประเดิมนั่งแท่นผู้กำกับฯ เรื่องแรกใน “ความสุขของกะทิ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างจากวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ชื่อดัง

ข่าวบันเทิง Thursday December 18, 2008 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้กำกับหน้าใหม่” ที่ประเดิมงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ปี 2549 เรื่อง “ความสุขของกะทิ” แต่ผู้กำกับ “เจนไวยย์ ทองดีนอก” ก็ผ่านงานและสะสมประสบการณ์ด้านวงการบันเทิงมาแล้วมากมายหลากหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยผู้กำกับละครโทรทัศน์, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา และผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ไทย รวมทั้งพิสูจน์ฝีมือการกำกับของตัวเองจากภาพยนตร์สั้นหลายเรื่องจนได้รับรางวัลมาเป็นเกียรติประวัติอีกด้วย อันได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “มี” (ชนะรางวัลขุนวิจิตรมาตรา งานประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย) และ ภาพยนตร์สารคดี “เพื่อนตาย” (ชนะรางวัลรชฏเสมอ จากงานมหกรรมภาพยนตร์กรุงเทพฯ Bangkok Film Festival) ประวัติการศึกษา-ผลงานที่ผ่านมา ผมจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มชีวิตการทำงานหลังจากเรียนจบ ก็ไปเป็นคนทำมิวสิควีดีโอ ทำรายการโทรทัศน์ ผู้สร้างสรรค์รายการของบริษัทรถไฟดนตรี หลังจากนั้นก็มาทำเป็น Freelance ผู้ช่วยโฆษณาจนไปทำงานอีกครั้งเป็นผู้สร้างสรรค์รายการของบริษัท Work Point Entertainment ปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่ง Production Supervisor ของบริษัทสหมงคลฟิล์ม และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ความสุขของกะทิ” นี่แหละครับ จุดเริ่มต้นกับ “สหมงคลฟิล์ม” ค่ายหนังอันหลากหลาย คือจริง ๆ แล้ว มันก็มีความฝันที่อยากทำหนังมาตลอดตั้งแต่ตอนเรียนที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์แล้ว ตอนเรียนก็เลือกเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์เป็นวิชาเอก ทีนี้พอเรียนจบผมก็ได้ไปทำงานในวงการบันเทิงหลากหลายอย่างมาก จนกระทั่งได้มาอยู่ที่บริษัทสหมงคลฟิล์ม ก็มาขอตั้งแผนกใหม่ที่เป็น “แผนกพัฒนาบทภาพยนตร์” ซึ่งตอนแรกก็เป็นแผนกเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร แต่จริง ๆ เราทำงานในเชิงลับมากกว่า มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ตลอดเวลา คือเสี่ยเป็นคนรับเราเข้ามาทำงาน แล้วเสี่ยก็บอกว่าให้อยู่กับเขาไปก่อน แล้วถ้ามีเรื่องอะไรก็มาบอกเขา เขาก็จะรับฟัง หรือถ้าในอนาคตมีหนังเรื่องอะไรก็มาบอกได้อะไรประมาณนั้น เพราะว่าเราเข้ามาทำงานในแผนกพัฒนาบทภาพยนตร์ แน่นอนตอนที่เราคุยกับเสี่ยเราก็บอกว่าเราอยากทำหนัง อยากจะทำบทหนังดี ๆ ออกมา เสี่ยฟังแล้วก็เข้าใจ รู้สึกว่าเขาอยากสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ ใครก็ได้ที่มีความมุ่งมั่นมีไฟในการทำงานเนี่ยให้มาทำงานในบริษัทแห่งนี้ แล้วถ้าวันหนึ่งมีศักยภาพเพียงพอ เขาก็จะให้โอกาสอย่างนั้นมากกว่า นี่เป็นข้อตกลงตั้งแต่เข้ามาเริ่มทำงานนะครับ คือมันก็เลยเป็นไฟให้กับการทำงานของเราในแต่ละวันแต่ละแผนกที่เราไปช่วยงานคนนั้นคนนี้ ผมก็มีความฝันที่จะทำภาพยนตร์ ก็คิดว่าอยากจะทำหนังกับค่ายนี้แหละ เพราะว่ารู้สึกว่าเราดูหนังมาหลาย ๆ ค่าย และแนวทางของเราเนี่ยมันน่าจะอยู่ในค่ายสหมงคลฟิล์มมากกว่า เพราะว่ามันมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังบันเทิง หนังผี หนังตลก หนังที่อยู่ในกระแส และหนังที่อยู่ในแนวทางของเราที่จะเป็นหนังดราม่า หนังครอบครัวอย่างที่เราชอบ เพราะฉะนั้นการที่เราเลือกมาอยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับเราสร้างโอกาสให้กับตัวเองตลอดเวลา แม้ว่าเราจะเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง แต่ว่าเราก็มีความฝันว่าสักวันหนึ่งถ้าเราสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ผู้ใหญ่ก็น่าจะให้โอกาสเราได้ทำหนัง แล้ววันนั้นก็มาถึง แต่เรามองว่าในสมัยนี้คนจะทำหนังได้เนี่ย ฉายเดี่ยวมันคงยาก มันต้องมีแพ็คเกจมาช่วยมีทีมมาเสริม มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมในฐานะที่เป็นพนักงานตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็ต้องคิดอะไรมากกว่านั้น ซึ่งผมก็ได้ประสบการณ์จากการอยู่กับสหมงคลฟิล์ม จากการคอยคลุกคลีกับฝ่ายพีอาร์, ฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง, ฝ่ายเซลล์ หรือฝ่ายต่างประเทศด้วย ก็ทำให้มองเห็นว่า จริง ๆ แล้ว หนังมันควรจะถูกสร้างออกมาในรูปแบบไหนถึงจะไม่ขาดทุน เพราะการทำหนังมันต้องรับผิดชอบต่อตัวเองเป็นที่ตั้ง รับผิดชอบต่อนายทุน และที่สำคัญคือรับผิดชอบต่อสังคมใช่มั้ย ส่วนใหญ่หนังก็จะรับผิดชอบต่อนายทุนอย่างเดียวมันก็ไม่ดี สังคมก็ควรจะได้อะไรด้วย หรือตัวเองถนัดหรือไม่ถนัด หรือจริง ๆ มีอุดมการณ์แบบนั้นแบบนี้ มันจะได้ไม่ผิดไปจากความเป็นตัวของตัวเองไป ซึ่งผมก็ตั้งเป้าไว้แบบนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็เลยได้เลือกทำในสิ่งที่สามารถเลือกรับผิดชอบในสามสิ่งได้นั่นคือ ตัวเอง นายทุน และก็สังคมได้ครับ การรวมตัว-จุดกำเนิดของภาพยนตร์ชูใจ คือตั้งแต่เรียนจบภาพยนตร์มาเนี่ย คือรุ่นผมหลาย ๆ คนก็จะตั้งความหวังไว้ ทุกคนพี่ ๆ น้อง ๆ ก็จะรู้จักกัน หลายคนก็ทำหนังสั้นได้รางวัลกันหลายคน คนที่สนิทกับอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือเป็นศูนย์กลางของพี่น้องก็จะมีอยู่หลายคน เพราะฉะนั้นคือเราคุยกันตั้งแต่เรียนจบว่า มันน่าจะดีนะถ้าซักวันเราจะได้มารวมกันเพื่อทำอะไรซักอย่าง อาจจะไม่ใช่การทำหนังก็ได้ อาจจะมาเปิดบริษัทด้วยกัน นึกภาพว่าทุกคนมีครอบครัวแล้วก็วันเสาร์-อาทิตย์ก็พาลูกมาเล่นด้วยกันอะไรอย่างนี้ ก็เป็นภาพเพ้อฝันของเด็กที่กำลังเรียนจบ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีการพบปะ มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา ตัวผมเองก็จะเป็นคนบ้าหนังอยู่แล้ว เจอเพื่อนก็จะมีเรื่องเล่า ชอบอ่านหนังสือเรื่องนั้นนี้ก็จะมาเล่าสู่กันฟัง เพราะฉะนั้นสมาชิกในกลุ่มนี้ก็จะรักภาพยนตร์กันอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาพบปะก็จะคุยกันเรื่องหนังเป็นหลักอยู่แล้ว แล้วคราวนี้ก็เลยมองว่า ถ้าเรารวมตัวกันบ้างเนี่ยก็น่าจะเป็นพลังอันหนึ่งที่ให้นายทุนหันมาสนใจ ก็เริ่มตั้งแต่หลังเหตุการณ์สึนามิไม่นาน อย่างที่จำได้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ก็เริ่มรวมตัวกลุ่มคนรุ่นเดียวกันที่เรียนวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ด้วยกันมา ต่างเอกบ้าง มีเอกโฆษณาบ้าง เอกภาพยนตร์ด้วย พอรวมตัวแล้วก็มาคุยกับนายทุน ซึ่งจริง ๆ แล้วเสี่ยก็อนุมัติ เสี่ยก็เห็นด้วยกับแนวคิดหรือไอเดีย เพราะว่าเสี่ยก็มองว่าเขาอยากให้โอกาสคนรุ่นใหม่ เค้าอยากให้โอกาสมาก จำนวนทุนที่เสี่ยอนุมัติมา เค้ามองแล้วว่าน่าจะมีจุดคุ้มทุนทางธุรกิจ อยู่วงการนี้มานาน เสี่ยเค้าก็รู้อยู้แล้วว่าเรื่องแบบนี้ควรจะให้ทุนเท่าไหร่ คราวนี้มันกลายเป็นว่า เป็นดาบสองคมนิด ๆ คือว่า การคุยกันตั้งแต่เริ่มแรกเนี่ย เราอยากได้เรื่องอะไรที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ แล้วพอเสี่ยอนุมัติเปิดไฟเขียวจริง ๆ พอเรามาคุยกันแล้ว เรากลับรู้สึกว่าทุกคนยังติดกับปัญหาเรื่องราวที่นำเสนออยู่ รู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอมากกว่า ทำให้เราต้องถอยออกมาก้าวหนึ่งทั้งที่มันมีโอกาสแล้วนะ เรามองว่าหนังมันไม่สามารถตอบโจทย์ของกลุ่มเราได้ ยิ่งตอนนั้นเรายังไม่มีชื่อกลุ่มอะไรกันด้วย เราเลยยังไม่รู้สึกว่าเรามีเจตนารมณ์หรืออุดมการณ์กันยังไง เราก็เลยถอยออกมาก้าวหนึ่ง ซักพักหนึ่ง มันก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รุ่นน้องเราคือนิหน่า (สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา — โปรดิวเซอร์เรื่อง “ความสุขของกะทิ”) ทำหนังเรื่อง “กั๊กกะกาวน์” และ “เขาชนไก่” พอหลังจากนั้นก็ยังว่างอยู่เราก็เลยเรียกมารวมตัวด้วย ก็เริ่มเปิดใจกว้างขึ้นว่า กลุ่มของเราน่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะเด็กวารสารฯ ธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำในอนาคต แต่เป็นคนไหนก็ได้ที่มีความสามารถ หรืออยู่นอกแก่นแกนไม่สามารถไปรวมกับใครได้ก็จะมาอุ้มชูกันอะไรแบบนี้ ก็มาช่วยกันพัฒนาทำหนังกันต่อไป ทีนี้พอเริ่มได้นิหน่า, ได้อู๊ด (วิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับเรื่อง “กั๊กกะกาวน์” และ “เขาชนไก่”) มา พลังมันเริ่มแข็งแกร่งขึ้น เพราะนิหน่าเคยเป็นโปรดิวซ์มา 2 เรื่อง อู๊ดเคยเป็น ผกก. มาตั้ง 2 เรื่อง กลายเป็นว่าพวกผมยังไม่เคยทำหนังด้วยซ้ำ เพียงแต่หลาย ๆ คนก็เป็นที่ยอมรับในฝีมือในวงการหนังสั้นอะไรอย่างนี้ วงการนักวิชาการในบ้านเรา พอมารวมตัวกัน เราก็มานั่งคุยกันอีกครั้งว่าจะทำอะไรดี ก็เลยสรุปว่า ทุกคนเสนอเรื่องของตัวเองมั้ย แล้วก็มาคุยกันว่าเรื่องของใครน่าสนใจที่สุดหนึ่ง สอง สาม แล้วเอาไปคุยกับนายทุนกันอะไรแบบนี้ ก็คุยกันนานเป็นปีเหมือนกันนะ ตอนแรกผมก็เสนอเรื่องอื่นที่เขียนบทเอง คนอื่นก็เสนอบทมา ก็ยังไม่ลงตัวซักที สุดท้ายจุดพลิกผันมันอยู่ที่ว่า หนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ได้รางวัลซีไรต์ ก่อนได้รางวัลผมก็คุยกับเจ้าของบทประพันธ์ว่า เออเนี่ยผมชอบฉากหนึ่งมาก ฉากนี้เห็นแล้วรู้สึกอยากทำเป็นหนังเลยนะ อยากทำเป็นคลิปสั้น ๆ เลย ต่อให้ไม่ได้ทำแบบยาว ๆ ก็จะลองทำฉากนี้ดู เค้าก็เลยนึกถึงผมเพราะเราสนใจทำหนังเป็นเจ้าแรก ๆ ก่อนหนังสือได้รางวัลซีไรต์อีก ทีนี้หลังจากได้รางวัลก็มีค่ายหนังต่าง ๆ เข้ามาติดต่อ ค่ายละคร คนจะทำแอนิเมชั่นมากมายทั้งในและต่างประเทศ เพราะหนังสือมันดัง มันพิมพ์เกือบ 60 ครั้งแล้วทุกวันนี้นะครับ ทีนี้พอมีคนมาติดต่อขอซื้อเยอะเค้าก็เริ่มแบบว่า เออ จะขายดีมั้ย เริ่มมาปรึกษาเราว่า คุณจะเอายังไง เพราะไม่งั้นเค้าต้องขายให้คนอื่นนะ คุณจะซื้อหรือเปล่า คุณอยากทำมั้ย ผมก็เลยเอาเข้าที่ประชุม “กลุ่มภาพยนตร์ชูใจ” ตอนนั้นได้ชื่อกลุ่มแล้ว เพราะว่าเราต้องการธีมของกลุ่มว่าทำงานอะไรก็ได้ที่ช่วยยกระดับจิตใจ ดูแล้วชื่นชูจิตใจ ก็เลยกลายเป็น “ภาพยนตร์ชูใจ” อีกอย่างหนึ่ง เราเติบโตมาในยุค มานี มานะ ปิติ เจ้าแก่ อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีชูใจด้วย เราก็เลยนำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม ทีนี้พอเราเอาหนังสือซีไรต์มาวางที่กลุ่มเนี่ย มันเหมือนมีมติเป็นเอกฉันท์โดยอัตโนมัติ ทุกคนมองเห็นว่า หนังเรื่องนี้มีการตลาดอยู่แล้ว มีกลุ่มคนที่รอดูหนังที่ทำจากหนังสือเรื่องนี้ แล้วก็ทุกคนได้อ่านแล้วก็ประทับใจ มีความสุขในตัวเรื่อง แล้วก็คิดว่าหนังมันทุนไม่สูงมากนัก แล้วที่สำคัญมันตอบโจทย์กลุ่มภาพยนตร์ชูใจได้ เพราะดูแล้วมันน่าจะชื่นชูใจ ยกระดับจิตใจได้ สร้างมาตรฐานที่ดีต่อวงการภาพยนตร์ด้วย ซึ่งทุกคนก็เลยลงมติว่าเป็นเรื่องนี้ ซึ่งผมเป็นคนเสนอ ซึ่งทุกคนก็รู้สึกว่า คนเสนอก็น่าจะเป็นผู้กำกับถ้าไม่ติดอะไร ผมก็รับเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นว่าภาพยนตร์ชูใจเริ่มมาได้ยังไง แล้วก็ทำไม “ความสุขของกะทิ” ถึงได้รับเลือกเป็นการเปิดตัวกลุ่มเรื่องแรก พูดกันตามตรง หนังสือมันค่อนข้างนิ่ง ทำไมถึงกล้าเอามาทำเป็นหนัง คือจริง ๆ แล้วหนังทั่วโลกมีหลายประเภทนะครับ ในกลุ่มเราก็มองแล้วว่า จริง ๆ แล้ว อัตราส่วนของหนังดราม่าในโลกนี้น่ะเยอะที่สุด ไม่ใช่หนังแอ็คชั่นแล้วก็ไม่ใช่หนังผีด้วย หนังดราม่าไม่ใช่ขายไม่ได้ เราไม่กลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นดราม่าแล้วจะขายไม่ได้ แต่ทีนี้เมื่อมันเป็นดราม่าแล้วนิ่ง มันจะเป็นยังไงใช่มั้ยครับ แน่นอนว่าส่วนใหญ่หนังดราม่านิ่ง ๆ ก็มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนซักเท่าไหร่ เพราะบางทีการตีความว่านิ่งก็คือการไม่พูดเลย การแช่กล้องนาน ๆ หรืออะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เราก็รู้สึกว่าอันนั้นมันเป็นหนังไง แต่นี่มันเป็นหนังสือ หนังสือมันนิ่ง แต่หนังเราทำยังไงให้มันไม่นิ่ง ถูกมั้ย นั่นเป็นโจทย์หนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็คือ ถ้าเราถอดแบบมาเป๊ะ ๆ บรรทัดต่อบรรทัด แน่นอนมันก็จะเหมือนหนังสือเกินไป คือไม่ได้ห่วงว่าจะนิ่งเหมือนหนังสือนะ แต่ห่วงว่าจะเหมือนหนังสือจนเกินไป เหมือนเราดูหนังอะไรที่ทำมาจากหนังสือแล้วพยายามเคารพต้นฉบับมากเกินไป มันก็จะขาดสีสัน ขาดความสนุก อะไรอย่างนี้ เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีการดัดแปลงแบบจริงจัง ก็คือไม่เรียงตามลำดับ 1-2-3 ไม่พูดอย่างที่ตัวละครพูดจนเกินไป หรืออันไหนที่เค้าไม่พูดเราก็พูดซะ ซึ่งถ้าได้อ่านหนังสือแล้วก็จะรู้ว่าในหนังสือมันไม่ได้พูดอะไรเลย ทีนี้เราก็พยายามเขียนบทให้มันมีความสนุกขึ้น ว่ากันง่าย ๆ ก็คือมันจะมีความสนุกขึ้น มีสีสันมากขึ้น ร้อยเรียงใหม่ให้มีจังหวะที่น่าสนใจมากกว่าที่จะนิ่ง ๆ แบบในหนังสือนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดีนะครับ หนังสือมันต้องใช้จินตนาการในการอ่านด้วย และอีกอย่างก็คือในหนังสือเนี่ยแทบจะไม่มีบทสนทนาเลยด้วยซ้ำ คือถ้าเทียบอัตราส่วน ในหนังก็จะมีบทสนทนาเยอะกว่า คือเราต้องคิดเพิ่มเข้าไป การแก้ปัญหาในการทำหนังเรื่อง “ความสุขของกะทิ” จากหนังสือเนี่ย คือนอกจากจะต้องเพิ่มบทสนทนา ก็ต้องมีการเพิ่มเรื่องราวใหม่ ๆ เพิ่มตัวละครใหม่ ๆ เพิ่มเซอร์ไพร้ส์ต่าง ๆ ที่จะทำให้คนอ่านหนังสือพอมาดูแล้วเนี่ยสนุกมากกว่าที่อ่านหนังสืออะไรอย่างนี้นะครับ แล้วคุณประทับใจอะไรในหนังสือเล่มนี้ถึงขนาดอยากที่จะเอามาทำเป็นหนัง คือถ้าถามตัวเองเนี่ย ในเรื่อง “ความสุขของกะทิ” เนี่ย ตัวหนูน้อย “กะทิ” ดูเหมือนจะมีความอบอุ่นจากตายาย แต่จริง ๆ เค้าเป็นคนที่ขาดความอบอุ่นไม่มากก็น้อย เรารู้สึกว่าเด็กที่เคยอยู่กับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ทิ้งไป แล้วต้องไปอยู่กับตายาย ต่อให้มีการดูแลมากแค่ไหน เค้าก็จะมีอะไรอยู่ในใจเหมือนเรา เออ เราก็ว่าเด็กคนนี้เหมือนเรา เราก็เคยถูกทอดทิ้งให้ขาดความอบอุ่นในระดับหนึ่งเหมือนตัวกะทิ ก็เลยค่อนข้างเข้าใจตัวเค้าเลย และที่สำคัญเราชอบ “ฉากกะทิร้องไห้” ซึ่งกะทิจะร้องอยู่แค่ฉากเดียวในหนังสือ แต่ในหนังขอไม่บอกว่าร้องไห้กี่ฉาก แต่ว่าในหนังสือที่เขียนว่า “กะทิร้องไห้จนตัวโยน วิ่งอย่างสุดแรง” อะไรแบบนี้จะมีอยู่แค่ฉากเดียว และเราจะชอบฉากนี้มาก ๆ ก็คงเหมือนกับตัวเองแหละ เวลาเสียใจเราก็ชอบวิ่งไป แล้วเราก็ชอบให้ลมมันพัดเข้ามา ก็รู้สึกว่ามันช่วยทุเลาความเศร้าความโศกลงไปได้ ก็จะเห็นภาพตลอดเวลาว่าจะถ่ายฉากนี้ยังไง เราจะถอยกล้องจากตรงนี้ ให้กะทิวิ่งมาตรงนี้ แล้ววิ่งไกลซักประมาณ 500 เมตรอะไรอย่างนี้ ภาพมันจะคิดทุกวัน ๆ ทำให้รู้สึกว่าภาพฉากนี้มันประทับอยู่ในใจเรา เราอยากจะถ่ายทอดออกมามาก มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำหนังเรื่องนี้ หลายคนก็ถามว่า เฮ้ย...ชอบแค่ฉากเดียวมันจะทำเป็นหนัง มันแปลกนะ เราก็บอกไปว่า จริง ๆ มันไม่แปลกเลย ผู้กำกับระดับโลกอย่างคูโรซาว่าหรือผู้กำกับอื่น ๆ พอเขาอ่านหนังสือแล้ว ส่วนใหญ่เขาก็เริ่มจากฉาก ๆ หนึ่งที่เขาประทับใจ แล้วก็ค่อยขยายออกมาเป็นเรื่องมากกว่า ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นวิธีที่ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะสนใจฉากใดฉากหนึ่งแล้วนำมาพัฒนาต่อเป็นหนังทั้งเรื่อง แต่เรื่องทั้งเรื่องต้องดีด้วยนะครับ โดย “ความสุขของกะทิ” มันก็ดีทั้งเรื่องอยู่แล้วครับ ขั้นตอนการเขียนบท ตามขั้นตอนแล้วเนี่ย พอตอนแรกเราได้หนังสือมา เราก็คุยกับนายทุน พอนายทุนอนุมัติ แล้วถึงมีการเขียนบท เพราะว่าเราคงไม่เขียนบทไปก่อน จริง ๆ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะครับการเขียนบทไปก่อน แต่ว่ามันควรจะต้องได้รับการอนุมัติไปก่อนนะครับสมัยนี้ที่เรามองนะ เพราะหนังเรามีคนเขียนบทเยอะแยะ มันก็จะเสียเวลาไปกับการเขียนบท แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าเขียนเสร็จแล้ว และเริ่มได้ทำเลยเนี่ย มันจะมีความกระชั้นชิดจนเกินไปหรือมีเวลาปรับแก้น้อย แต่ในทางกลับกันถ้าได้อนุมัติก่อนแล้วเนี่ยมันก็จะมีความสบายใจและมีความมั่นคงต่อโครงการพอสมควร แล้วก็ค่อยมาพัฒนาบทกันต่อไปเรื่อย ๆ คราวนี้พอเรารู้แล้วว่าได้ทำ เราคิดนะว่าหนังมีผู้ชมรอดูอยู่เยอะมากเพราะหนังสือได้พิมพ์ไปแล้ว 58 ครั้ง ก็ประมาณกว่า 250,000 เล่มที่มีคนซื้อไปแล้ว ก็จะแบบว่าเรื่องนี้ก็ได้รางวัลซีไรต์ด้วย แล้วถึงตอนนี้ก็ยังมีกระแสที่ขายได้และขายดีอยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกว่าถ้ามองเป็นเรื่องกดดันก็มีพอสมควร ก็คิดแล้วว่าเราจะทำอย่างไรให้คลายความกดดันตรงนี้ เราก็เลยวางแผนในใจว่าจะเอาเจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนบทด้วย คนที่จะรักษากลิ่นอายบทประพันธ์ “ความสุขของกะทิ” ได้ดีที่สุดแล้วเนี่ยก็คือ “คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ” เจ้าของบทประพันธ์นั่นเอง ซึ่งจริง ๆ พอเราได้อ่านหนังสือ ก็รู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่วิเศษ มีเสน่ห์อะไรบางอย่างอยู่ซึ่งมันก็มาจากเจ้าของบทประพันธ์นั่นเอง ซึ่งถ้าเราได้เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนบทด้วย มันก็จะคงความรู้สึกในหนังสือ มีเสน่ห์แบบหนังสือทุกประการ คนที่อ่านหนังสือและหลงรักหนังสือยังไงก็คิดว่าคงไม่หลุดกรอบจากสิ่งที่คนอ่านคาดหวังอะไรอย่างนี้นะครับ แต่ว่าถ้าจะให้เจ้าของบทประพันธ์เขียนคนเดียวไปเลยมันก็จะก้ำกึ่ง เพราะว่าจริง ๆ แล้วเจ้าของบทประพันธ์ก็เขียนแต่หนังสือ หรือไม่ก็แปลหนังสือ ผมก็รู้สึกว่ามันต้องผสมกันระหว่างวรรณกรรมกับภาพยนตร์ใช่มั้ยครับ เราก็จะดูเรื่องทางด้านภาพ เทคนิคต่าง ๆ หรืออารมณ์ หรือศิลปะด้านอื่น ๆ ผสมกับบทสนทนา คาแร็คเตอร์ตัวละคร ที่มาที่ไป ที่มันจะต้องผสมกันให้ลงตัวที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่า ผู้กำกับและเจ้าของบทประพันธ์เขียนบทร่วมกัน ถ้าจะบอกว่ามันเป็นสูตรก็ได้ มันก็เป็นสูตรที่ลงตัวที่สุด ส่วนใหญ่ผมก็ชอบดูหนังที่ผู้กำกับเขียนบทเองมากกว่า เพราะผู้กำกับจะสามารถถ่ายทอดตัวหนังสือที่ตัวเองเขียนได้ดีกว่า เพราะการตีความหรืออะไรอย่างนี้มันก็จะอยู่ในตัวคน ๆ เดียวกัน แต่ว่าถ้ายิ่งได้เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนด้วย มันก็เหมือนว่าทำให้ทุกอย่างออกมาลงตัวมากยิ่งขึ้น ง่ายขึ้น สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ พอเริ่มทำจริง ๆ แล้วนึกว่าจะมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย เนื่องจากว่าเจ้าของบทประพันธ์ค่อนข้างจะเปิดกว้างพอสมควร เพราะเจ้าของบทประพันธ์เนี่ยดูหนังเยอะเหมือนกัน ศึกษาหนังไม่ว่าจะเป็นหนังยุโรป หนังอเมริกา หนังฝั่งเอเชียเรา คือได้ดูมาทุกรูปแบบ สิ่งที่ผมนำเสนอไปก็คือว่าผมจะนำเสนอในทิศทางแบบไหน แคสติ้งน่าจะลักษณะแบบนั้นแบบนี้ ก็จะเห็นตรงกันตลอด เพราะเราจะคุยกันประมาณ 6-7 เดือนก่อนจะลงมือเขียน เขียนจริง ๆ ประมาณ 3 เดือน คุยกันตอนแรกประมาณ 6 เดือนก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาในการเขียน ผมจะเริ่มจากการพูดว่าฉากนี้ผมอยากได้ความรู้สึกอย่างไรก่อน เพราะฉากที่แล้วเป็นอย่างนี้ฉากต่อไปมันก็ควรจะเป็นอย่างนี้ ฉากนี้เป็นตอนกลางวันฉากต่อไปผมอยากได้เป็นตอนกลางคืน แล้วหลังจากนั้นผมอยากให้ฝนมันตก ดูเหมือนจะเป็นสูตร แต่มันกลับกลายว่าเป็นการทำงานที่ง่ายขึ้นว่า เรื่องนี้กราฟมันกำลังวิ่งขึ้นหรือวิ่งลง และมันเศร้าอยู่นะ คราวหน้าจะเศร้ามากไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวมันจะดูเหมือนบิ๊วอารมณ์เกินไป ทำให้ดูหนังแบบเรียบง่าย ให้มันดูงดงามและยังคงอารมณ์แบบนี้อยู่ ก็จะควบคุมกันเป็นจังหวะแบบนี้ ค่อย ๆ ดึงออก ค่อย ๆ เติมเข้าไป คุณงามพรรณมีการเสนอไอเดียอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า คือจริง ๆ พี่งามพรรณเขาจะเสนอไอเดียเรื่องที่มันมีความลับในเนื้อเรื่องที่เขาไม่ได้เขียนในหนังสือเอาไว้ มันอาจจะเป็นเหมือนคนทำหนังที่จะต้องมีฉาก Deleted Scene อะไรที่เก็บเอาไว้ยังไม่ได้ใช้ ก็จะเล่าให้เราฟังว่า พี่ทองเนี่ยเรื่องลึกลับเขาเป็นอย่างนี้นะ ตาเขาคิดอย่างนี้นะตอนนั้นเพราะอะไร ก็จะสนุกมากที่ได้ตัวละครเพิ่มเติมเข้าม าแล้วเขารู้สึกว่าอันนี้น่าจะลองใส่เข้าไปอย่างเพื่อน ๆ ของกะทิที่มาในภาคสองในภาคแรกมันไม่มี แต่ถ้ามันมีมันก็จะดีกว่าก็จะสนุกขึ้น ก็จะเป็นไอเดียที่เขาเสริมเข้ามาเพราะเขาเข้าใจตรงกันว่าการทำหนังเนี่ยจะต้องสนุกกว่าหนังสือ หนังสือเนี่ยคุณอยู่กับมันวันละหน้าสองหน้าได้แต่หนังคือสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วยเกือบ 2 ชั่วโมงอยู่ในนั้นเนี่ย คนดูจะต้องนั่งอยู่กับที่แล้วก็คอยติดตามตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็เข้าใจว่าจะต้องสนุกกว่า ทุกอย่างประณีต เรื่องราวประทับใจ ดูแล้วร้องไห้อยู่แล้ว แต่ความสนุก มันจะมาจากไหน มาจากเรื่องที่เขาเก็บซ่อนเอาไว้ อยากจะช่วยนำเสนอในหนังก็จะค่อย ๆ ดึงออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นไอเดียที่เจ้าของบทประพันธ์นำเสนอให้ครับ การคัดเลือกนักแสดงต่าง ๆ ในเรื่อง คือเรามองอย่างนี้ก่อนละกันว่า เด็กที่มาเป็นกะทิก็ต้องเป็นคนใหม่ แต่นอกนั้นต้องเป็นดารานักแสดงหมดเลยนะ ต้องมีคนรู้จักหมด โจทย์มันโดนตั้งมาอย่างงั้น เพื่อทำให้โปรเจ็คต์นี้มันแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญคือการันตีเรื่องความสามารถทางการแสดง เพราะต่อให้คุณแสดงเก่งยังไง แต่ถ้าไม่สามารถดึงคนดูเข้าไปในหนังได้ คือหนังสือมันค่อนข้างจะถูกเขียนอย่างค่อนข้างมีแบบแผนอยู่แล้ว ทุกคนก็จะมีภาพที่ชัดของตัวเองอยู่แล้ว การที่จะจูนความคิดของคนดูให้ตรงกับความคิดในหนังเนี่ย ง่าย ๆ วิธีที่ผมเลือกก็คือ เลือกคนที่เค้ารู้จัก มันตรงกันข้ามกับเรื่องอื่นมากเลยนะ คือเลือกคนที่เค้าไม่รู้จักสิถึงจะง่าย เค้าจะได้เชื่อว่าเค้าเป็นคนนั้นจริง ๆ แต่วิธีนั้นมันไม่เหมาะกับโปรเจ็คต์ “ความสุขของกะทิ” นี้ เพราะเรื่องนี้มันมีช่องว่างอยู่ตรงที่จินตนาการที่เกิดขึ้นในเรื่องทุกคนมักจะคิดไม่ตรงกัน เพราะมันไม่ได้ถูกเขียนว่าหน้าตาเป็นยังไง พื้นเพ สูงต่ำดำขาวยังไง ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น เราเลยวัดจากความรู้สึกของทีมงานทุกคนว่า เราควรจะเลือกจากคนที่เป็นดารานักแสดง เป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว แล้วมันจะสามารถจูนความรู้สึกกับคนดูได้ง่ายซึ่งมันก็จริงด้วย แต่ถ้าเราเอาคนไม่รู้จักมา มันจะเกิดความรู้สึกว่า มันจะใช่หรือ ไม่น่าจะใช่นะ ก็คือมันไม่มีความผูกพันกับคนนี้ไง คือยังไม่มีความรู้สึกผูกพันกับนักแสดงหน้าใหม่ ยกเว้นตัวกะทิที่จำเป็นต้องเป็นหน้าใหม่ เพราะว่าเค้าไม่ควรจะผูกพันกับคนนี้ เค้าควรจะเชื่ออย่างเต็มร้อยว่า คน ๆ นี้เราไม่เคยเห็น ซึ่งอาจจะเป็นกะทิได้หรือเปล่า สามารถสร้างเซอร์ไพร้ส์ได้มากกว่า แต่คนอื่น ๆ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะสร้างความรู้สึกร่วมได้ตั้งแต่ทีแรกที่เห็น เพราะฉะนั้นตากับยาย คนก็จะชอบกันมาก โห ยายดุได้เหมือนในเรื่องเลย อุ๊ย...ตาคิดว่าตัวเองเป็นคนตลกขำ ๆ ฝืด ๆ เหมือนอาสะอาดเลย หลายคนก็จะมองเป็นอย่างนั้น คือจริง ๆ แล้วผมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกก็ทำงานตามสัญชาตญาณก่อน คือว่าก็อยากทำงานกับใครเราก็รู้สึกว่าเราต้องจูนภาพความฝันกับความจริงให้อยู่ตรงกลางให้ได้ โดยมีเจ้าของบทประพันธ์เป็นคนตัดสิน เราก็นึกถึงตายายในบ้านเราว่าคนอายุประมาณนี้ที่เป็นนักแสดงด้วยแล้วก็มีฝีมือด้วยมีก็ไม่ถึง 5-6 คนก็จะมีการคัดไปว่าคนนี้หน้าซ้ำไปแล้ว คนนี้ใจดีเกินไป คนนี้ดูใจร้ายเกินไป คนนี้ไม่น่าจะหัวล้านนะ มันก็จะเหลือไม่กี่คนอะไรอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่ทุกท่านก็จะมีความสามารถในการแสดงที่มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่เราก็รู้สึกส่วนตัวเราชอบ ”คุณอาสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์” ติดตามหนังเขามาตลอดก็เลยรู้สึกว่าเขาเหมือน Clark Gable เมืองไทย ค่อนข้างอายุมากแล้ว แต่ก็ค่อนข้างสู้งานหนักไม่เคยบ่o เราก็เลยรู้สึกว่าอยากทำงานกับอาสะอาดสักครั้งหนึ่ง ก็เลยเลือกอาสะอาด พอได้อาสะอาดมันก็เหมือนเป็นแพ็คเกจคู่ขวัญเขาจริง ๆ ในสมัยอดีตเขาก็คือ “คุณจารุวรรณ ปัญโญภาส” บทในเรื่องยายของกะทิ บทค่อนข้างจะดุแต่ใจดียิ้มแล้วโลกสดใส แล้วก็เคยดูงานป้าแมวในงานละครเยอะแยะ เพราะป้าแมวไม่ได้เล่นหนังมากนักส่วนตัวเราก็ชอบมาตั้งนานแล้ว ถ้าได้จับคู่กันอีกสักครั้งหนึ่งก็คงจะดีก็เลยเลือกเป็นป้าแมว ส่วนตัวละครอื่น ๆ แน่นอนอย่างพวกพี่น้อย, เชอร์รี่ ก็จะเป็นสีสันของเรื่องเพราะจริง ๆ บทน้าฎากับน้ากันต์ก็เป็นบทที่สำคัญมากถึงจะไม่ได้เด่นเท่ากะทิ จริง ๆ เพราะมันเป็นเรื่องความสุขของกะทิ พอเห็นหน้านักแสดงแล้วต้องชอบนอกจากฝีมือการแสดงที่อยู่ในขั้นดี เห็นหน้าก็รู้สึกว่าอยากติดตาม เพราะฉะนั้นพี่น้อยกับเชอร์รี่เป็นคู่ที่น่าจับมาให้ลงตัวกัน ซึ่งทั้งคู่ไม่เคยมาเจอกันก่อน อะไรที่มันเป็นครั้งแรกมันก็น่าจะสด น่าจะสร้างสีสันให้กับเรื่องราวได้มากมาย รู้สึกว่าตัวพี่น้อยแล้วก็เชอร์รี่ทั้งคู่ก็ให้ความกรุณากับหนังเรื่องนี้มาก มาช่วยกันแสดงสร้างสีสันเป็นที่รักของคนในกองถ่ายเป็นที่รักคนในเรื่องได้ตลอดเวลา ส่วนลุงตองเคยรู้จักกับพี่ไมเคิล เชาวนาศัย มาบ้าง เนื่องจากอยู่ในวงการหนังสั้นและวงการศิลปะซึ่งพี่ไมเคิลถ้ามองกันจริง ๆ ก็เป็นคนดังในแวดวงศิลปะทั้งในประเทศไทยแล้วก็ต่างประเทศด้วย คือถ้าเรามองในแง่มุมการตลาดก็มองได้เลยตรงที่หนังเรื่องนี้ได้ถูกฉายแล้วชาวต่างชาติได้มาเห็นก็จะแบบว่ารู้จักไมเคิล เชาวนาศัย ทุกวันนี้ก็เป็นอาจารย์สอนที่ปารีสที่ยุโรปอะไรอย่างนี้ หลายประเทศคนจะรู้จักไมเคิล เชาวนาศัยเป็นอย่างดี ในประเทศไทยแวดวงหนังสั้นหรือแวดวงหนังใหญ่ที่พี่ไมค์ได้เริ่มเล่นหนังมาก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วบท “ลุงตอง” ในเรื่อง เราก็ต้องการคนที่มีบุคลิกลักษณะทางเพศบางประการ ซึ่งหลังจากที่พี่เขาได้อ่านหนังสือแล้วเขาก็ตอบรับทันที ให้ความสนใจว่าอยากเล่นมากมีไอเดียต่าง ๆ สร้างตัวละครตัวนี้ให้เราเห็นว่าเขาน่าจะเล่นได้จริง ๆ ก็ให้ความร่วมมือดีเป็นเกียรติอย่างหนึ่งที่พี่ไมค์รับบทเป็นลุงตอง ตัวแม่ “คุณรัชนก แสง-ชูโต” ผมก็เป็นแฟนหนังของคุณรัชนกตั้งแต่เล่น “ฉลุย” แล้ว จริง ๆ แล้วดูเหมือนว่าอายุจะห่างกันแต่จริง ๆ แล้วไม่ห่างกันมาก ผมอาจจะได้ดูหนังแบบว่าตอนวัยรุ่นแล้วก็ชอบคุณรัชนกมาก เนื่องจากคุณรัชนกเป็นคนสวยมาก เป็นคนที่มีการแสดงพิเศษสำหรับผม ก็คือว่าสามารถเล่นได้สมบทบาทแน่นอนว่าบทแม่ในเรื่องนี้ต้องแสดงเหมือนคนป่วยคนที่สามารถแสดงบทความเป็นแม่ได้เป็นอย่างดีซึ่งคุณรัชนกเองก็มีลูกแล้ว 2 คน เราก็เหมือนได้ไปนั่งคุยเพื่อทดสอบบทกัน ก็เลยติดต่อเข้าไปคุณรัชนกอ่านบทแค่ 2 หน้าก็น้ำตาไหล เนื่องจากว่ามีความผูกพันขึ้นมากับตัวละครทันที เพราะเป็นแม่เคยอุ้มลูกและเคยไม่มีแรงในลักษณะแบบนี้เหมือนมีอาการที่แบบว่าคล้าย ๆ กับตัวแม่กะทิเองอยู่ในเรื่อง พี่นกก็เลยเข้าใจมันในทันทีแทบยังไม่ต้องกำกับด้วยซ้ำ แล้วบทเรื่องนี้ผมก็ต้องการให้แม่ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการแสดงเก่งมาเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าจะให้พูดคนเดียวประมาณ 2 หน้ากระดาษ A4 นอกจากจะต้องจำบทให้ได้และจะต้องเข้าใจทุกตัวอักษรทุกบรรทั ดแล้วก็ต้องสามารถควบคุมแล้วก็ทำให้ท่านผู้ชมคล้อยตามแล้วก็ติดตามตัวเองไปตลอดระยะเวลา 2 หน้ากระดาษ แล้วก็เคยเห็นคุณรัชนกเล่นหนังเล่นละครแล้วแบบเรียกว่า การแสดงไม่มีข้อผิดพลาดอะไรที่จะทำให้เขาเล่นไม่ได้ ก็เลยตกลงแล้วตัวพี่รัชนกเองก็ยินดีที่จะเล่นให้เราด้วยทั้ง 2 ฝ่าย ก็เหมือนเห็นพ้องต้องกันว่าคุณแม่ของกะทิก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก คุณรัชนก แสง-ชูโต พูดถึงตัวพี่ทอง เป็นอย่างไรบ้าง พี่ทองก็เป็นตัวละครที่แคสยากมาก เนื่องจากว่าเราอยากได้คนที่หน้าตาใจดีดูแล้วอบอุ่นแล้วก็กิริยาท่าทางต่าง ๆ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นคนอบอุ่นอย่างเดียวเลยไม่อยากรู้สึกว่าเป็นคนที่มีแง่มุมในด้านลบอะไรอย่างนี้ เพราะว่าพี่ทองในเรื่องนอกจากจะเคยช่วยชีวิตกะทิตอนเด็ก แล้วตอนโตก็จะเป็นเพื่อนเล่น เป็นคนคอยให้คำปรึกษา มาช่วยทำกับข้าว ช่วยตาทำโน่นทำนี่ตามไปบิณฑบาตรกับหลวงลุงทุกเช้าเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกับกะทิด้วย เราก็แคสไปประมาณเกือบร้อยคน หลังจากดูรูปดูอะไรส่วนใหญ่ก็จะยิ้มกันเพราะเด็กน่าตาดีและก็หล่อด้วย ก็อยากได้เด็กหน้าตาดีแน่นอน พี่ทองของเราได้น้องไอซ์ (นิธิศ โค้วสกุล) มา เนื่องจากว่าเราถามคำถามกับเขาแล้วเขาตอบในแง่มุมที่เป็นคนซื่อ ๆ การแสดงไม่ได้จัดระเบียบมาว่าต้องเล่นแบบนั้น คือมันเป็นธรรมชาติมาก ๆ เป็นคนดี ต่อให้ตอบคำถามในด้านสิ่งแวดล้อมสังคมก็เป็นคนที่ดี อยากจะช่วยเหลือคนอื่น เวลายิ้มแล้วโลกดูสดใส และเขาดูมีปมเล็ก ๆ ในใจ เพราะเขามีแผลเป็นที่คาง พอไปถ่ายงานที่ไหนไม่ว่าจะเป็นงานหรือละครก็ไม่มีใครต้อนรับเขาเลย อาจจะเป็นที่บทไม่เหมาะก็ได้ แต่เขาคิดว่าเป็นเพราะเขามีแผลเป็นที่ตรงนี้หรือเปล่า เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเด็กคนนี้มันมีอะไรบางอย่างถ้าเราให้โอกาสกับเด็กคนนี้ เด็กคนนี้เขาต้องทำงานเต็มที่แน่นอน เราก็เลยรู้สึกว่านอกจากองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย ก็เลยให้น้องไอซ์มารับบท “พี่ทอง” ซึ่งก็เราเขียนบทเพิ่มให้ด้วยซ้ำว่าพี่ทอง หลังจากว่ายน้ำไป คางได้ไปชนที่ปลายเรือด้วยซ้ำ เพื่อให้เขารู้สึกว่าแผลเป็นที่เขามีอยู่เหมาะกับหนังนะ มันไม่ได้มีอุปสรรคต่อการทำงานเลยเน้นที่คุณภาพของเขามากกว่า การแสดงของเขา การตั้งใจของเขา ก็คือเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งให้เขามีกำลังใจในการทำงาน กลับมาที่การคัดเลือกตัวละครสำคัญ-ศูนย์กลางของเรื่องอย่าง “กะทิ” เป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องย้อนไปถึงตอนที่เปิดตัว “กลุ่มภาพยนตร์ชูใจ” นะครับว่าเรามีงานเปิดตัวร่วมมือกับอมรินทร์พับลิชชิ่งฯ ว่ากลุ่มภาพยนตร์ชูใจได้คว้าลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้แล้ว เพราะว่าไม่เช่นนั้นเรื่องลิขสิทธิ์มันจะไม่จบ เพราะว่าจะมีคนขอซื้ออยู่ตลอดเวลา และบางคนก็ไม่เชื่อว่ากลุ่มของเราและสหมงคลฟิล์มได้ไปแล้ว เพราะว่าจะมีคำถามเกิดขึ้นในหมู่แวดวงหนังอยู่ว่าสหมงคลฟิล์มจะทำหนังเรื่อง “ความสุขของกะทิ” แน่หรือ เพราะมันมาจากบทประพันธ์ซีไรต์ หนังสือมันได้รางวัลนะ และคุณงามพรรณเค้าจะขายให้เราหรือ เห็นสหมงคลฟิล์มทำแต่หนังผีหนังตลก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหยุดข่าวลือต่าง ๆ ด้วยการเปิดตัวกลุ่มภาพยนตร์ชูใจ แล้วก็บอกว่าเราคว้าลิขสิทธิ์มาแน่นอนแล้ว และเราก็เปิด “โครงการตามหากะทิ” ไปด้วยเลย เนื่องจากว่าเรามองว่าเด็กคนนี้ต้องเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ต้องมีความสดใสแล้วก็มีความสามารถทางการแสดงสูง เพราะผู้กำกับสนใจที่จะทำงานกับเด็กเก่ง ๆ คือสามารถสื่อสารแบบที่ผู้ใหญ่คุยกันรู้เรื่อง แล้วก็สื่ออารมณ์ออกมาได้ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก กะทิเล่นได้ยากมาก ก็เปิดรับทางช่องทางต่าง ๆ ก็มีคนมาสมัครเยอะมาก ก็เริ่มช่วยกันดูรูป แล้วก็นัดเข้ามาทำเทปแต่ละคน กว่าจะผ่านเข้ารอบมาได้ก็ใช้เวลานานเป็นเดือนสองเดือนเหมือนกัน อย่าง “น้องพลอย” เนี่ยมาคนแรกเลย อะเมซซิ่งมาก “ภัสสร คงมีสุข” มาแคสเป็นคนแรกเลย แต่ว่าผมไม่ชอบ ดูไม่รู้เรื่อง เพราะเทปวันนั้นมันไม่มีเสียง เทปของน้องพลอยเป็นคนเดียวที่ถ่ายไม่ติดเสียง จะเห็นแต่หน้า ทำหน้าปะหลักปะเหลื่อ แล้วตอนนั้นก็ผมยาว ดูแล้วก็เหมือนเด็กทั่วไป ไม่เห็นว่ามีความสามารถหรือความน่ารักมากกว่าเด็กคนอื่นตรงไหน เราก็เลยมองข้ามไป แต่ก็มีทีมแคสติ้งเค้าบอกว่าน่าสนใจนะ น่าจะเรียกมาดูอีกรอบหนึ่ง แล้วก็จะได้ฟังเสียงอะไรด้วย เราก็เลยเรียกน้องพลอยกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเด็กคนอื่นที่เข้ารอบอีกประมาณ 10 กว่าคนแล้วก็มาทำเทปกันอีกรอบหนึ่ง แล้วก็เริ่มให้การบ้านหนักขึ้น ให้มีการแสดงที่ซับซ้อนมากขึ้นอะไรอย่างนี้ ก็เลยทำให้น้องพลอยติดเข้ามา 1 ใน 5 อีก ซึ่งคราวนี้เราก็คิดว่ามันน่าจะคัดเหลือคนหนึ่งได้แล้วล่ะ เราก็มานั่งวิเคราะห์เทปดู มานั่งพูดคุยกับทีมงานดูว่า เด็กคนไหนที่ดูแล้วพอที่จะเป็นกะทิได้ คือทั้งน่ารักทั้งเก่ง และที่สำคัญก็คือสามารถอยู่กับโปรดักชั่นได้ เพราะเด็กเนี่ยถ้าคุณพลาดนิดเดียวเค้าก็โตกลางกองถ่ายไปเลย หรือไม่เค้าอาจจะมีปัญหาส่วนตัวอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เมื่อเรามาดูน้องพลอยแล้วเนี่ย นอกจากจะมีความสามารถทางการแสดงสูง มีความน่ารักแล้วเนี่ย ที่เค้าโดดเด่นกว่าคนอื่นก็คือเค้ามีความเป็นธรรมชาติของเด็ก ส่วนใหญ่เด็กที่ผ่านเข้ารอบมาเนี่ยการแสดงจะดี น่ารัก แต่มักจะไม่เป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะว่านอกจากจะเป็นเด็กเกินตัว แล้วก็มีทักษะการแสดงที่ดูเหมือนผู้ใหญ่จนเกินไป เค้าจะไม่มีความเป็นธรรมชาติ เค้าจะเป็นอีกคนจนเกินไป เหมือนไปผ่านการแสดงแล้วได้รับการสอนในแบบแผนที่ผมรู้สึกว่ามันทำให้เด็กเปลี่ยนจากธรรมชาติของตัวเองจนเกินไป แต่น้องพลอยเนี่ยพอเล่นร้องไห้อะไรแล้ว ก็ยังกลับมาเป็นเหมือนเดิม กลับเป็นเด็กยิ้มร่าเริง ขี้เล่น เหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งเราต้องการเด็กแบบนี้ เพราะว่าพวกนี้มันจะมีพลังพิเศษบางอย่างที่จะทำให้ผู้ชมสามารถจับต้องและเข้าถึงได้ง่ายกว่า ถ้าเราได้เด็กแบบซึม ๆ หรือเด็กที่พยายามเป็นผู้ใหญ่จนเกินไปเนี่ย มันก็จะขาดความสดใสตรงนี้ น้องพลอยก็เลยชนะเลิศหลังจากที่ผมเคยบอกเค้าว่าผมไม่ได้ชอบเค้าตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายเค้าก็มาชนะใจเราทีหลัง นี่คือตัวแรกที่ค่อนข้างลำบากในการเลือกมาก ๆ ต้องส่งน้องไปเรียนการแสดงเพิ่มเติมไหม คือส่วนตัวผมในเรื่องของการแสดงก็เคยผ่านมาบ้าง เพราะเคยเล่นละครเวที เคยเป็นผู้กำกับละครเวทีของคณะวารสารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ รู้สึกว่าการแสดงส่วนใหญ่มีรูปแบบตายตัวอยู่ซึ่งถ้าไม่กลั่นกรองให้ดี ถ้าให้มันติดตัวไป มันไม่สามารถเอาออกได้ มันจะเล่นแบบอื่นไม่ได้ เหมือนอย่างที่เราดูละครโทรทัศน์บางอย่างที่เราเห็นจนชินตา บางอันเราก็รู้สึกว่าเราไม่ชอบ มันดูไม่เป็นธรรมชาติ มันเป็นภาพยนตร์จริง ๆ เพราะว่าการแสดงที่แตกต่างกัน เราค่อนข้างคิดเหมือนกันว่าจะให้แอ็คติ้งโค้ชที่เคยร่วมในภาพยนตร์ต่าง ๆ ได้มาดูแลน้องดีไหม เราก็คิดแล้วรู้สึกว่ามันไม่เหมาะ จริง ๆ แล้วมีเซ้นส์ของการแสดงอยู่ เราไม่อยากให้ใครมาใส่อะไรให้เขาแล้วให้เขาจำอะไรผิด ๆ เราจึงค่อย ๆ ดูแลด้วยตัวเอง หาเพื่อนฝูงหรือฝ่ายแคสติ้งเองที่พอจะมีความรู้เรื่องการแสดงบ้างมาปรึกษากันเรื่องเวิร์คช็อป จะดึงอารมณ์เขายังไง จะลองให้เขากล้าที่จะมีความเชื่อในแบบไหนได้บ้างที่มันจะไม่นอกเหนือเรื่องการแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วก็ค่อย ๆ ละลายพฤติกรรมเขาไป ให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่กับเพื่อนอารมณ์จะเป็นลักษณะแบบนี้ เรียกเพื่อนของกะทิที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้มาเวิร์คช็อปร่วมกันเราจะไม่ให้เขาอยู่คนเดียว เนื่องจากที่กะทิอยู่ในเรื่องทุกฉากต้องมีคนอื่น การที่เขาต้องรู้จักฟังรู้จักคิดในสิ่งที่เขาได้ยิน แล้วค่อย ๆ สอนให้เขาแสดงออกถึงความรู้สึกพยายามให้เขาเป็นศูนย์กลางเรื่องของการแสดงก่อนแล้วถ้าเรารู้สึกว่ามันมากไปน้อยไป เราค่อยบอกว่ามันควรจะลดนะ มันควรจะเพิ่มอะไรเข้าไป เขาจะเข้าใจ เนื่องจากว่าเขาเป็นเด็กที่ฉลาด เราพูดคุยเราไม่เคยใช้เสียงอะไรแบบนี้เลยเราพูดเหมือนกับผู้ใหญ่คุยกับผู้ใหญ่ ซึ่งเขาก็จะตั้งใจฟังแล้วก็กลับไปทำความเข้าใจ แล้วมันน่าทึ่งคืออย่างการแสดงนี่คือเขาไม่เคยลืมบทเลย พิสูจน์ได้ว่าเขามีความจำค่อนข้างดี แล้วก็มีสมองในการที่จะคิดไตร่ตรองอะไรอยู่แล้ว แล้วเราก็ค่อย ๆ เติมในสิ่งที่เขาขาด สิ่งที่เขาเกินก็แค่นั้นเองครับ การร่วมงานกับน้องพลอย การทำงานร่วมกับน้องพลอยเนี่ย ง่าย ๆ เลยครับ เนื่องจากเค้าเข้าใจภาษาผู้ใหญ่ คือเราจะคุยกันแบบผู้ใหญ่ ไม่ต้องมาทำเสียงแบบเด็ก ๆ บ้องแบ๊วคุยนะครับ (หัวเราะ) คือจะคุยแบบผู้ใหญ่ คุยกันแบบตรง ๆ เลย อย่างเช่นอธิบายว่า วันนี้เรามาโรงเรียน เวลาเราเจอเพื่อนเราจะรู้สึกยังไง มันมีการถามคำถามได้ มีให้เขาคิดว่าทำไม เพราะอะไรได้ ก็คุยแบบผู้ใหญ่กัน หรือตอนนี้เราอยู่ในเหตุการณ์ที่ตาเค้าไม่ค่อยสบายใจนะ แต่เราต้องไม่ให้ตารู้ว่าเรากำลังกลุ้มใจคิดถึงแม่อยู่อะไรอย่างนี้ ซึ่งน้องพลอยเค้าก็จะเข้าใจว่าจะต้องเล่นยังไง แล้วถึงค่อยไปขยายความรู้สึกของเค้าอีกทีว่ามันมากไปนะ มันน้อยไปนะ พี่ยังมองไม่เห็น แววตามันยังไม่ชัดเจน อะไรอย่างนี้ที่จะเป็นเรื่อง Physical เข้ามาเกี่ยว เรื่องการขยับตัว การขยับสีหน้า ซึ่งมันเป็นภาพของเราที่เป็นผู้กำกับแล้ว ส่วนภายในใจของน้องพลอยคือเค้าคิดตามเราไปแล้วแน่นอน เพราะเค้าเป็นเด็กที่ฉลาด เพราะฉะนั้นการทำงานกับน้องพลอยที่เล่นเป็นกะทิในเรื่องเนี่ย จะทำงานด้วยง่ายแล้วก็อดทน คือสามารถตื่นเช้าได้ อยู่ดึกได้ แล้วก็มีสัมมาคารวะ เพราะเค้าอยู่กับคุณอาสะอาด, คุณป้าจารุวรรณ, พี่เชอร์รี่ เข็มอัปสร, พี่น้อย หรือพี่ไมเคิลเองเนี่ยเค้าก็เป็นผู้ใหญ่กันหมด น้องพลอยจะเด็กกว่ามาก ๆ ถ้าเราได้เด็กที่เกเรหน่อยก็คงจะทำให้กองถ่ายไม่สดใส ไม่น่ารัก แต่ว่าน้องพลอยสามารถที่จะช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานด้วยได้ เพราะทุกครั้งเวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้นที่ผมคิดว่าเค้าเริ่มมีสมาธิหลุด เค้าเริ่มคิดถึงเพื่อน ติดเล่นอะไรมากเกินไปตามประสาเด็กนะครับ ก็จะมีการพูดคุยทุกครั้งว่า รู้มั้ย คนที่สร้างบรรยากาศกองถ่ายเนี่ยก็มีเค้ากับผม ซึ่งถ้าเราไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่มีความสุขในการทำงานได้เนี่ย หนังเรื่องนี้มันจะไม่สามารถสื่อสารความสุขของกะทิออกมาได้ เค้าต้องช่วยเซ็ตบรรยากาศนะ มันเป็นภาษายากเหมือนกันนะว่า พลอย...เธอต้องช่วยเซ็ตบรรยากาศร่วมกับพี่นะ ซึ่งเค้าเข้าใจไงว่า อ๋อ ถ้าเค้าตั้งใจดี ทุกคนก็จะตั้งใจตามเค้า แต่ถ้าเค้าเล่นทุกคนก็จะเล่นตามเค้า แต่จะเป็นน้อยครั้งมากที่ผมจะต้องพูดแบบนี้กับเค้า ยอมรับว่าเด็กนะครับ เวลาเค้าถ่ายฉากโรงเรียนทุกวัน ๆ เค้าก็ต้องมีความผูกพันกับเพื่อน แล้ววันสุดท้ายของฉากนั้น ซึ่งเค้าจะไม่เจอพวกเพื่อน ๆ แล้วเนี่ย ไม่ต้องเค้าหรอก ขนาดเราเองยังเศร้าเลยว่าเราจะไม่เจอเด็กพวกนี้แล้วนะ วันนั้นสมาธิเค้าก็จะกระเจิดกระเจิงไปค่อนข้างมาก เราก็เลยต้องกำกับเค้าให้เข้มข้นมากขึ้นในวันที่ฉากนี้เกิดขึ้น แต่จะไม่มีวันที่เค้าจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไม่สบาย เค้าจะมีวินัยมาก จะนอนเร็ว ตื่นตามเวลา แล้วก็ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงดูอบรมน้องพลอยมา นอกจากจะมีพรสวรรค์แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่หล่อหลอมมาเป็นตัวเขาก็คือครอบครัว เขาปลูกฝังมาเป็นอย่างดี เรื่องนี้เค้าเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ถามว่าง่ายมั้ย มันก็ไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนต้องแก้ปัญหาทุกวัน เพียงแต่เรารู้สึกว่า เด็กคนนี้ทำยังไงที่จะทำให้เค้าเข้าใจว่า ตัวเค้าเองต้องพาทุกคนไปสู่เรื่องราวตอนสุดท้ายที่จะทำให้ทุกคนประทับใจในตัวเค้าอะไรอย่างนี้ นี่ก็คือการทำงานร่วมกันกับน้องพลอยนะครับ แล้วภาพที่ออกมาเป็นอย่างที่คิดไว้มั้ย เป็นนะครับ เป็นอย่าง 100 % เลย คือกะทิในหนังสือเนี่ย มันไม่ได้บอกว่าเค้าหน้าตาเป็นยังไง สูงเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ ถ้าบอกแล้วยุ่งเลย เพราะว่าถ้ากะทิต้องเป็นเด็กอายุ 9 ขวบ สูงเท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ น้องพลอยก็จะไม่ใช่เลย เพราะจริง ๆ แล้วพลอยอายุก็ 10 ขวบแล้ว แต่โดยความตั้งใจของเราก็คือ เราอยากได้เด็กที่มีความคิดความอ่านเกินวัยของตัวเอง เพราะกะทิเป็นเด็กที่มีความคิดโตเกินกว่าตัวอยู่แล้ว เราก็จะไม่พยายามหาเด็กที่อายุ 9 ขวบจริง ๆ เพื่อที่จะเทสต์ว่าเค้ามีความฉลาดหรือมีความคิดเกินวัยจริง ๆ หรือเปล่าอะไรอย่างนี้ เราก็เลยคิดว่า น้องพลอยเนี่ยอายุ 10 ขวบก็ต้องมีความคิดเกินเด็ก 9 ขวบแน่นอน เพราะว่าเด็ก 9 ขวบกับ 10 ขวบจะมีความต่างกันมากในเชิงจิตวิทยา เพราะเด็ก 9 ขวบเค้าจะเข้าใจความตายแค่ครึ่งเดียว เรื่องนี้มันเกี่ยวกับความตายของแม่ด้วย ถ้าเอาเด็ก 9 ขวบมาจริง ๆ เนี่ยก็จะไม่เข้าใจความตายเหมือนตัวละครมากเกินไป หมายความว่าเล่นไปโดยที่ไม่เข้าใจต่อให้อธิบายยังไงเค้าก็จะไม่เข้าใจเพราะยังเป็นเด็ก 9 ขวบ แต่ถ้าเลย 9 ขวบขึ้นไปเนี่ยเค้าจะเข้าใจความตายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นน้องพลอยจะเข้าใจว่าความตายคืออะไร แล้วค่อยให้เค้าจับความรู้สึกของเด็ก 9 ขวบว่าไม่เข้าใจ คือนักแสดงไม่ใช่ว่าจะต้องเล่นตาบอดแล้วต้องตาบอดจริง ถูกมั้ย แต่ว่าคือต้องเคยเข้าใจมันแล้ว แล้วก็ย้อนกลับมา น้องพลอยเข้าใจความตาย เพราะฉะนั้นมาเล่นตอนที่กะทิ 9 ขวบเข้าใจความตายนิดหน่อย เด็ก 4 ขวบไม่เข้าใจความตายเลย เด็ก 9 ขวบเข้าใจความตาย แล้วที่สำคัญคือเด็ก 9 ขวบมักจะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวจะเป็นความผิดของตัวเองอะไรอย่างนี้ เด็ก 10 ขวบเค้าจะไม่คิดอย่างนั้นแล้วไง เค้าเลยจุดนั้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะบอกว่า เด็ก 9 ขวบคิดอย่างนี้ ๆ นะพลอย กะทิก็เป็นอย่างนี้ ๆ ๆ แล้วค่อยปรับจูนเข้ามาหาตัวกะทิได้ ซึ่งมันก็จะเป็นการทำงานที่เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นจริง หลายคนมักจะถามว่าน้องพลอยเล่นเป็นตัวเองหรือเปล่า เล่นแบบการแสดงไม่ได้เกิดขึ้นจริงใช่มั้ย ผมเถียงใจขาดเลยว่า จริง ๆ แล้วการแสดงเกิดขึ้นทุกขณะที่น้องพลอยเข้าฉาก เพราะจริง ๆ น้องพลอยจะมีบุคลิกการแสดงออกต่างจากกะทิแทบทุกอย่าง สิ่งที่เหมือนกันก็คือความเป็นเด็ก ความสดใส น่ารัก น่าเอ็นดู มีสัมมาคารวะอะไรอย่างนี้เหมือนกันทุกอย่าง แต่กะทิในหนังสือจะไม่ซนนะ คือตัวน้องพลอยมันจะซนกว่ากะทิในเรื่องมาก เพราะฉะนั้นพอสั่งแอ็คชั่นแล้ว การแสดงก็จะเกิดขึ้นทันที และแน่นอนว่าตัวละครของกะทิกับน้องพลอยในชีวิตจริงมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ยืนยันว่า การแสดงของน้องพลอยในเรื่อง “ความสุขของกะทิ” เนี่ย เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นโดยความสามารถของเค้าร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ พูดถึงทีมงานบ้าง เรื่องนี้ได้ทีมงานเบื้องหลังระดับหัวกะทิมาร่วมงานด้วยทั้งนั้นเลย คือเราทำหนังเรื่องแรกเราก็อยากได้หนังที่ออกมาสมบูรณ์ดีที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือเล็งผลเลิศ เราจะทำยังไงให้คนดูได้อะไรกลับไปมากที่สุดในเรื่องของลักษณะงานสร้างที่ประณีตสมบูรณ์ คนอ่านเข้ามาดูแล้วรู้สึกว่าสวยงามเหมือนอย่างในบทที่ประพันธ์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาคนที่เก่งแต่ละด้านมารวมตัวกัน เพราะว่างานภาพยนตร์มันไม่ใช่กำกับการแสดงอย่างเดียว มันก็ต้องดูแลทุกอย่าง ต้องจับเนื้อผ้า ต้องเข้าไปเรื่องของการดีไซน์ การวางวางกระถางต้นไม้ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เราเหนื่อยน้อยลงก็คือ การเลือกคนที่ดีที่สุดมารับผิดชอบแทนเราด้วยส่วนหนึ่ง เราก็เริ่มจาก “ผู้กำกับภาพ” ก่อน เราก็ได้เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันชื่อ “ธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์” เค้าได้รับทุนอานันทมหิดล เป็นนักเรียนทุนทางภาพยนตร์คนแรกของธรรมศาสตร์และน่าจะเป็นคนเดียวของโลกใบนี้แล้ว เพราะไม่น่าจะมีแล้ว เพราะทุกคนมักจะเห็นว่าภาพยนตร์เป็นเรื่องของความบันเทิงอะไรอย่างนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของศิลปะ เป็นเรื่องของทุก ๆ เรื่องที่อยู่ในหนัง เพราะหนังมันเป็นการจารึกประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทำไมหลายถึงอยากทำหนัง เพราะส่วนหนึ่งมันเป็นตัวแทนความคิดของเราที่มันจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านานกว่าโฆษณา มากกว่าศิลปะอื่น ๆ อีก เพราะว่ามันมีความมหัศจรรย์ที่ทุกคนก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมเราถึงชอบดูหนังอะไรอย่างนี้ คราวนี้คุณนนท์เนี่ยก็ไปเรียนที่ NYU ปริญญาโทด้านภาพยนตร์ที่อเมริกา ต้นตำรับหนังฮอลลีวู้ดนั่นแหละ กลับมาก็มาเป็นตากล้องโฆษณา เป็นผู้กำกับโฆษณาอะไรอย่างนี้ แล้วก็ถ่ายหนังใหญ่ให้กับเพื่อนต่างชาติที่เรียนด้วยกัน ไปถ่ายหนังที่เปรู ที่อาร์เจนติน่า ก็ได้รับการยอมรับจากทุกวงการนะครับ ได้รางวัลหนังสั้นมาเยอะแยะ สุพรรณหงส์ก็ได้ ทุกคนก็ตั้งใจว่าถ้าได้ทำหนังก็จะให้ธนนท์ถ่าย แต่ว่าเราเป็นคนแรก คือเราเป็นเพื่อนกันมา ถ้าเราทำหนังมันก็น่าจะถ่ายให้เรา แล้วยิ่งเคยทำงานกันมา รู้แนวทางกันมาดี หนังไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เขาก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกล้องภาพยนตร์ค่อนข้างดี แล้วก็ในการที่เป็นเพื่อนกันมีการพูดคุยกันในการไปบล็อคช็อต ในการที่เราจะถกเถียงกัน ในการอธิบายความหมายในบางฉากทำให้เข้าใจกันง่ายขึ้น แค่มองตาก็รู้ใจ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้กำกับภาพแล้วก็ผู้กำกับที่ควรจะคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คุยกันรู้เรื่องว่างั้นเถอะ มันก็รู้อยู่แล้วว่า เจนไวยย์คงไม่ได้ทำหนังแบบแอ็คชั่นแน่ หรือหนังผีตลกที่มันถ่ายไม่เป็น คงทำหนังแบบว่ามีเนื้อหาสาระนิดนึง มีความเป็นศิลปะทางภาพยนตร์สูงพอสมควร ก็เลยไม่แปลกใจเมื่อเราจะได้ร่วมงานกัน ถึงแม้เราจะอยู่ในทีมชูใจด้วยกัน แต่เราก็ไปบังคับให้ใครทำอะไรไม่ได้นะ แต่นี่เป็นการยอมโดยเนื้อหาของมันจริง ๆ คือนนท์ก็สนใจที่จะถ่ายหนังสไตล์แบบนี้ อยากจะฝากงานทางด้านภาพ แล้วโดยความเป็นมืออาชีพของธนนท์ ทำให้งานภาพของหนังเรื่องนี้เป็นงานภาพที่สวยงามมาก ละเอียดมากครับ ต่อไปก็ “โปรดักชั่นดีไซเนอร์” เราก็ได้ “คุณเอกรัฐ หอมลออ” ซึ่งจริง ๆ ก็ได้ผ่านงานโปรดักชั่นมาเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานของคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ หรือล่าสุดก็เป็นทำหนังอย่าง “หนึ่งใจเดียวกัน” เขาก็จะถนัดงานแบบชนบท งานแบบไทย ๆ เพราะเขาเป็นคนอยุธยา แม่ก็เป็นอาจารย์ คือด้วยคาแร็คเตอร์เขา ข้าวของที่บ้านเขาก็เต็มไปด้วยตู้โต๊ะตั่งเตียงที่โบราณ บ้านก็เป็นบ้านไทยที่อยู่ริมน้ำด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่าถ้าใครสักคนจะมาจัดบ้านที่อยู่ริมน้ำให้เรา จัดบ้านที่อยุธยา เอาเรือมาให้ ก็น่าจะเป็นคนที่เข้าใจพื้นที่เข้าใจวิถีชีวิตของตัวเอง ก็เลยเป็นคุณเอกรัฐ หอมลออ นี่แหละครับ ผลงานของเขามีคุณภาพ เพราะว่าดูจากงานหลาย ๆ เรื่องคือออกจะเป็นแนวน้อยแต่สวยงามมากนะครับ ต่อมาก็เป็นเรื่องเสื้อผ้า เสื้อผ้าส่วนตัวผมก็เคยได้ยินร้านเสื้อผ้าชื่อกรกนก ซึ่งเจ้าของยี่ห้อกรกนกก็คือ “คุณกรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” คือพี่นกนั่นเอง เราก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว คือว่าชอบ แล้วคิดว่าถ้าได้ทำหนัง คนที่ทำเสื้อผ้าให้ก็ต้องเป็นคนนี้แหละ คุณกรกนกนี่แหละ คือคนนี้จะเป็นคนที่อยู่ในใจเราตลอดเวลา บังเอิญว่ามีโปรดิวเซอร์ คุณนิหน่ารู้จักกันก็เลยทาบทามให้มีการพูดคุยกัน บังเอิญว่าคุณกรกนกอ่านหนังสือมาแล้วก็ชอบหนังสือมากเหมือนกัน ก็เลยตกลงร่วมงานในการออกแบบเสื้อผ้า อยากทำให้เชอร์รี่ดูสวย ทำให้พี่น้อยดูเท่ คุณรัชนกดูเป็นแม่ มันท้าทายในงานออกแบบเสื้อผ้าด้วย เพราะว่ามันมีเสื้อผ้าสำหรับเด็ก จริง ๆ แล้วหนังเด็กบ้านเราการดีไซน์เสื้อผ้าขาดความละเอียดและพิถีพิถัน เนื่องจากว่าเป็นเด็กก็เลยเลือกเอาตามห้างหรือตามตลาด คือดูแล้วมันไม่มีความพิเศษสักเท่าไหร่ แต่ว่าเรื่องนี้พยายามทำให้เสื้อผ้าของน้องกะทิดูโดดเด่น และก็ยังใช้ได้จริง ๆ ด้วย เนื่องจากว่าในไอเดียของเขาคือว่าไม่ได้สวยอย่างเดียว คือมันต้องใช้ได้สมจริงกับสภาพแวดล้อมของประเทศด้วย ซึ่งพอเราคุยกันเรื่องไอเดียที่ตรงกันแล้ว แล้วเท่าที่ออกมาหลายคนก็ชมว่าเสื้อผ้าสวยมาก เสื้อผ้ากะทิแต่ละชุด ถ้าเรียกว่าเป็นเด็กก็เป็นเด็กที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นเด็กที่ดูโอเวอร์จนเกินไปครับ เสื้อผ้ามีการแบ่งโทนสีตามอารมณ์คามสถานที่ในเรื่องด้วยหรือเปล่า ก็มีเหมือนกันครับ เนื่องจากว่าเราคุยกับอาร์ตไดเร็คเตอร์ คุยกับดีไซเนอร์ คุยกับผู้กำกับภาพว่า หนังจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ อยุธยา, หัวหิน, กรุงเทพฯ การถ่ายทำต้องทำให้คนดูรู้สึกถึงความแตกต่างในแต่ละฉาก เพราะฉะนั้นมันก็จะมาจากทิศทางของแสง มาจากความแข็ง-อ่อนของเฟอร์นิเจอร์ แล้วมาจากลักษณะโครงสร้างของสถานที่ ความอ่อนช้อยที่อยู่ที่อยุธยามันก็แตกต่างจากบ้านที่อยู่ที่คอนโดที่ลักษณะแสงอาจจะสาดเข้ามาในลักษณะแบบหนึ่ง ละเอียดมาก เสื้อผ้าก็เลยต้องมาตอบโจทย์แบบนี้เหมือนกัน เนื่องจากว่าภาพที่ผมเห็นในเรื่อง แน่นอนคือเราไม่อยากให้มีสีแดง ส้ม หรือลักษณะโทนแบบนี้ เราอยากได้แบบเป็นพาสเทลบ้าง เป็นสีตุ่นบ้าง ถ้าขาวก็ไม่ได้เป็นขาววอกไปเลย ดำก็อย่าดำสนิท เนื่องจากว่าเราต้องคุมโทนให้มีความรู้สึกเศร้า แต่ก็ไม่ได้เศร้าเกินไป มันก็มีความสุขเพราะฉะนั้นลักษณะของสีคือจะไม่เป็นแม่สี ไม่แดง ไม่น้ำเงินจัด ไม่เหลือง ไม่เขียวจัด แต่ว่าจะมีขาว เทา ดำ ปนผสมเข้าไป แล้วก็อีกอย่างในแนวทางของคุณกรกนกก็จะไม่ให้ออกมาส้มแป๊ด แดงแจ๋อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสีเอิร์ธโทน สีแบบว่าดำ น้ำเงิน เทา แนวยุโรป ๆ หรือบ้านเราที่ดูแล้วสวยงามสบายตา เสื้อผ้าก็ต้องมาดูด้วยว่าสีในหนังจะเป็นยังไง ก็เลยต้องจัดตามในลักษณะโทนของในแต่ละสถานที่ หัวหินก็น่าจะอีกแบบหนึ่ง ที่อยุธยาอีกแบบหนึ่ง ที่กรุงเทพฯ ก็อีกแบบหนึ่งครับ เรื่องของการตัดต่อ เรื่องของคนตัดต่อหรือลำดับภาพ คือผมเป็นผู้กำกับเรื่องแรกก็จริง แต่ก็คลุกคลีทำความเข้าใจกับภาพยนตร์มาตั้งแต่เรียนจบ ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดที่เราเคยรู้สึกที่เคยเรียนแล้วอาจารย์คอยใส่หัวเราตลอดก็คือตำแหน่งของคนตัดต่อ กลายเป็นว่าเรามองว่าสมัยนี้ใคร ๆ ก็มีเครื่องตัดต่อกันแล้ว ซื้อโปรแกรมเถื่อนกันได้ มีคอมพิวเตอร์แล้วก็ตัดต่อทำหนังสั้นกันได้ จนลืมว่าจริง ๆ แล้วตำแหน่งนี้มันสำคัญแค่ไหน ผมได้เคยดูสารคดีของสปีลเบิร์ก ของเควนตินว่า เขาต้องมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับคนที่ต้องทำงานหนักแค่ไหนในการโต้เถียงโต้แย้งกันขนาดไหน แล้วต้องยอมคนตัดต่อยังไง ทั้งที่เขาเป็นผู้กำกับ แต่ว่าคนทำงานตัดต่อมีความสามารถแล้วก็ต้องมีประสิทธิภาพในการทำงาน มีลักษณะของเซ้นต์ที่พิเศษมากกว่า เนื่องจากว่าเรามองว่าบทภาพยนตร์ร่างสุดท้ายก็คือการตัดต่อ ต่อให้เราเขียนบทแบบหนึ่งลักษณะหนึ่ง คนตัดต่อก็จะพาเราไปอีกที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นหลายคนก็มาถามผมว่า คนตัดต่อเขาอาจจะทำหนังอีกอย่างหนึ่ง ไม่กลัวเหรอ ทำไมไม่เอาคนใกล้ชิดตัดจะได้สั่งมันได้ว่าอันนี้ต่อด้วยอันนี้ ผมบอกว่าอันนี้มันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสำหรับผม บางคนอาจจะทำแบบนั้นนะแต่ผมกลับรู้สึกว่าผมพาหนังไปที่หนึ่ง คนตัดต่อก็พาหนังไปอีกที่หนึ่งที่กว้างขึ้นหรือลึกมากขึ้น โดยมีพื้นฐานจากบทภาพยนตร์, บทประพันธ์เดี่ยวกัน มันก็เป็นการทำงานที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เราก็เลยคิดว่าเราอยากได้คนตัดต่อที่เก่งมากซึ่งคนตัดต่อเก่ง ๆ ที่มีประสบการณ์ก็หนีใครไปไม่ได้นอกจาก “ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล” ลูกสาวท่านมุ้ยที่ตัดหนังมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ อยู่ ทุกวันนี้ก็ยังตัดหนังอย่าง “คืนบาปพรหมพิราม” ที่ดูแล้วเนี่ยถ้าตัดต่อไม่เก่งก็คงดูไม่รู้เรื่อง เพราะว่าตัดสลับกันอะไรแบบนี้ หรือหนังของคุณเป็นเอก รัตนเรือง ตอนนั้นผมได้ดู “เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก” ก็พอดูชื่อคนตัดต่อก็ไม่น่าเชื่อว่าพี่หญิงนุ้ยตัดต่อหนังให้คนดูร้องไห้ได้ด้วย เพราะปกติเห็นตัดแต่หนังอาร์ต ตัดแต่หนังสงครามของท่านมุ้ย หรือตัดหนังแนวสืบสวนสอบสวนสลับกันเหมือน “คืนบาปพรหมพิราม” นี่แสดงว่าพี่หญิงนุ้ยตัดได้ทุกแนว แปลว่าพี่หญิงนุ้ยเป็นคนเก่งมาก สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเอาแกนหลักของเรื่องออกมาได้ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน ทำให้เราเห็นว่าแกทำให้หนังทุกอย่างมันดูสนุกได้ มันอยู่ที่อารมณ์ อยู่ที่วิธีการ ก็เลยให้คุณงามพรรณไปทาบทาม เพราะคุณงามพรรณมีเพื่อนรุ่นใกล้เคียงกันแล้วเราก็ค่อยโทรไป ก็แนะนำก่อนว่าเราสนใจอยากให้พี่เป็นเกียรติในการลำดับภาพหนังเรื่องนี้ เพราะเราเป็นเด็กมากเลย รู้สึกว่าการที่เราได้พี่มา มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้น เราก็เลยโทรไปพี่เขาก็น่ารักมาก เขาก็เคยอ่านแล้วเคยได้ยินเรื่องนี้แล้ว โดยบารมีของ “ความสุขของกะทิ” มันแผ่กระจายไปหาหลายคน เพราะทุกคนรู้ว่าถ้าได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่อง “ความสุขของกะทิ” ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากมีการพูดคุยในแนวทางที่น่าจะไปด้วยกันได้ เลยตกปากรับคำกันครับ อีกตำแหน่งอย่างคนทำดนตรีประกอบ มีแต่ทีมงานคุณภาพทั้งนั้น ทุกอย่างมันสำคัญหมดนะภาพยนตร์เนี่ย ทุกส่วนต้องดูในรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นลำดับภาพ คนออกแบบเสื้อผ้า ผู้กำกับภาพ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ มาถึง “เพลงและดนตรีประกอบ” เรารู้สึกว่าก็โนเนมไม่ได้เรารู้สึกว่าไม่ใช่โนเนมไม่ได้อย่างเดียวคือต้องเก่งด้วย เพลงต้องเพราะแล้วใหม่ แล้วรู้สึกว่าคนทำสกอร์เพลงในบ้านเราเนี่ยผมฟังจนคุ้นหูหมดแล้ว เนื่องจากว่าบางครั้งเราก็หยิบยืมมาจากเมืองนอกบ้าง หนังในฮอลลีวู้ดมันมีกระแสในบ้านเรามาก ซาวแทร็คก็ขายกันได้เยอะ เรียกว่าถ้าทำนองไหนมาก็จำได้ว่ามาจากหนังเรื่องไหน เราก็อยากให้คนที่สดมาก ๆ เรียกว่าไม่เคยทำเลยดีกว่า และก็สามารถแต่งเพลงได้เพราะเป็นเพลงที่เรามาใช้ในการโปรโมททางวิทยุได้ ถ่ายเอ็มวีได้ อยากเหมือนวงออกัส เหมือน “รักแห่งสยาม” (หัวเราะ) อันนี้ก็ได้มืออาชีพมาทำให้เลยครับ ก็คือ “พี่นภ พรชำนิ” มาทำเพลงให้ พี่นภนี่เรานึกถึงตอนไหนน้า ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าใครจะมาทำ Score หรือเพลงให้ แต่เราคิดว่า เพลงเรื่องนี้ต้องเพราะสำหรับตัวเรานะ เรานึกถึงพี่บอยด์แน่ ๆ ในบ้านเราไอดอลด้านเพลงสำหรับเราก็ต้องเป็นพี่บอยด์ พี่นภ พรชำนิ เสียงของป้ากมลา เพราะเราทำหนังไทย เราก็ต้องเอาเพลงไทยใช่มั้ย เราก็คงไม่เอาอะไรที่ไม่ชอบมาใส่ในหนัง เราก็นึกถึง พี่นภ พรชำนิ เป็นเบอร์แรก ๆ ไอเดียแรกที่พี่นภบอกก็คือ เค้าจะไม่ได้เป็นคนทำสกอร์ทั้งหมดนะ เค้าจะเป็น Music Director คืออันไหนที่เป็นสกอร์ ถ้าเค้าแต่งได้เค้าจะแต่ง อันไหนแต่งไม่ได้เค้าก็จะให้คนอื่นแต่ง คือดูแลเพลงทั้งหมดของเรื่อง เพลงไหนที่แต่งแล้วดีอยู่แล้ว เค้าก็จะเลือกมาใช้ คือไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเค้าทั้งหมด คือเค้ารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ไม่ควรใส่ความเป็นตัวเองลงไปเยอะมาก ขนาดเสียงร้องพี่เค้าก็ยังบอกว่าจะไม่ร้องเอง ไม่อยากให้คนนึกถึงนภอะไรอย่างนี้ คืออยากให้คนดูอยู่กับหนัง เราก็เลยชอบเค้ามาก และเค้าก็อยากทำสกอร์เพลง อยากทำเพลงประกอบหนังมาตลอด อย่างเค้าชอบหนังพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ แต่พี่เจ้ยไม่เอาเพลง เค้าก็ไม่มีโอกาสได้ทำซักที มันได้จังหวะพอดีเพราะแกก็ชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน ก็แบบไม่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนมานานแล้ว พออ่านเล่มนี้แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ อยากทำเพลงอะไรแบบนี้ แล้วแบบว่ามานั่งคุยกันในเรื่องไอเดีย เอา Reference มาให้ฟัง ถามว่าเราชอบเครื่องดนตรีประเภทไหน เราบอกเราชอบเครื่องสายบ้างนะ เครื่องเป่าน่าจะเป็นอันนี้ กีตาร์ก็น่าจะเป็นกีต้าร์คลาสสิกนะ เสียงกีต้าร์โปร่งเราไม่ชอบ คือเค้าจะฟังจากไอเดียเราก่อน แต่ไอเดียที่ตรงกันก็คือ เพลงจะไม่เยอะมาก แต่เพลงมันจะคลอทั้งเรื่องอยู่แล้ว แต่ที่บอกเพลงไม่เยอะมากคือเครื่องดนตรีจะน้อยชิ้น เริ่มจากหนึ่งชิ้นบ้าง สองชิ้น สามชิ้น คือจะไม่เต็มวงไง มันจะมาเต็มวงจริง ๆ ก็คือตอนท้ายเรื่องตอนเครดิตมา ทุกอย่างมันจะเต็มวง คือมันจะค่อย ๆ ซ่อนมาตลอดเรื่อง ก็เริ่มมีไอเดียกันมากขึ้น เราก็เริ่มเอาฟุตเตจให้เค้าดู หลัง ๆ ก็มองไปถึงเสียงเอฟเฟ็คต์อื่น ๆ ที่จะมาทำเป็นสกอร์ได้ อย่างเช่น จักรยานเอย เรือบ้าง รถบ้าง เพราะกะทิจะมีการเดินทางตลอดเวลา ไอเดียก็จะพรั่งพรูมาเรื่อย ๆ ซึ่งพี่เค้าก็คงจะมองออกว่าอารมณ์ของหนังเป็นยังไง อันนี้ตอนไปติดต่อก็โทรไปเลยอะไรแบบนี้ แล้วก็ขอนัดเจอ พี่เค้าก็น่ารัก มากคุยกับเราอะไรแบบนี้ ซึ่งแน่นอนคุณงามพรรณก็เห็นดีด้วย เพราะจริง ๆ คุณงามพรรณแกก็ชื่นชอบงานของพี่นภอยู่แล้ว ก็คิดว่าน่าจะทำออกมาได้ดีนะครับ นี่ก็คือบุคคลเด่น ๆ ทีมงานหัวกะทิทั้งนั้นเลยครับ โลเกชั่นในเรื่องนี้ หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 แห่ง โลเกชั่นเป็นอะไรที่ยากมากเนื่องจากว่าบ้านริมคลองในกรุงเทพฯ คงไม่มี เราก็อยากจะประหยัดงบประมาณในการถ่ายทำ ทำงานง่าย ตื่นเช้านั่งรถไฟฟ้าไปถ่ายกันซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องมีฉากพายเรือ มีฉากหลวงลุงพายเรือมาบิณฑบาต เพราะฉะนั้นก็ต้องไปอยูที่ต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นจะเป็นจังหวัดไหน จะเป็นอัมพวามันก็จะเป็นคลองอีกแบบหนึ่ง ในเรื่องเกิดที่อยุธยาเราก็วิ่งหาที่อยุธยาเอาเป็นว่า ถ้าใกล้เคียงก็เป็นสุพรรณบุรีเอาละแวกที่ใกล้เคียง ต้องวิ่งหากันเป็น 2 -3 เดือน ก็อยากได้บ้านทรงไทยในที่เราจินตนาการเอาไว้ จินตนาการบ้านทรงไทยของผมจะเป็นตรงกันที่ว่าไม่ใช่บ้านโบราณเกินไปเหมือน “คู่กรรม” เรือนคหบดีเราไม่ได้อยากได้บ้านอย่างนั้น เราอยากได้บ้านที่อยู่ได้จริงสมจริงมีโครงสร้างของบ้านไทยจริง หลังคาไทยเป็นลักษณะกระเบื้องลูกว่าวอยู่ แต่ก็จะมีกระจกเตาแก๊สผสมกับเตาถ่าน เพราะเรารู้สึกว่าคนสมัยนี้ที่จะหุงตั้งเตาถ่านมันไม่มีแล้ว เราปฏิเสธความจริงเหล่านี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราปรึกษากับเจ้าของบทประพันธ์แล้วว่ามันจะเป็นเหมือน “นางทาส” ไม่ได้ เป็นเหมือน “คู่กรรม” ไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น เราสำรวจแล้วว่าคนกรุงเทพฯ ที่เขาย้ายไปอยู่เขาอยู่กันแบบนี้บ้านทรงไทยเนี่ยดูแลยากด้วย ต้นไม้เยอะคนงานก็เยอะ เพราะฉะนั้นคนอย่างตายายจะอยู่บ้านนี้ได้ถูกแล้วที่บ้านมันควรจะเป็นแบบไหน นอกจากการสำรวจและการตีความของบทประพันธ์ แล้วก็ไปเจอบ้านหลังหนึ่งที่อยุธยานี่แหละที่ตรงกับความรู้สึกว่าบ้านนี้ใช่เลย เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกว่าเราต้องได้บ้านหลังนี้ในการถ่ายทำเท่านั้นซึ่งไม่ใช่บ้านหลังอื่นแล้ว จังหวะที่มีพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำก็สามารถที่จะสร้างศาลาได้ มองซ้ายขวาไม่ได้มีสิ่งที่สะดุดตารกหูรกตา เจ้าของบ้านซื้อที่ฝั่งตรงข้ามไว้ด้วยเพื่อไม่ให้ตึกหรือว่าร้านค้ามาปลูกให้เห็น เพราะฉะนั้นถ่ายอะไรออกไปก็จะเห็นพื้นที่ที่อยู่ในธรรมชาติที่สวยงามที่สุด มันก็เลยลงตัว เป็นจังหวะที่โค้งของน้ำด้วย ดูมี Perspective ต่าง ๆ ที่เราใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์สวยงามได้เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว อีกโลเกชั่นคือบ้านกลางกรุง คือตอนเราเขียนบทเรื่องงแรกก็ไม่อยากจะให้เล่าเรื่อง 1, 2, 3, 4, 5, 6-10 อะไรอย่างนี้ เราต้องมีลีลาหน่อย เราน่าจะเปิดเรื่องที่บ้านกลางกรุงก่อน อยากเห็นภาพกะทินั่งชิงช้าก่อนอะไรอย่างนี้ ตอนเริ่มเขียนบทนะครับคุณงามพรรณก็น่ารักมาก เอาก็เอาเห็นด้วย เขาก็ไม่อยากให้กะทิลืมตามาได้ยินเสียงตำน้ำพริกอะไรอย่างนี้ เขารู้สึกว่าเหมือนในหนังสืออะไรอย่างนั้น ก็หนังมันทำอะไรได้มากกว่านั้น มีลำดับภาพ มีตัดภาพ มีสลับ เพราะฉะนั้นการเขียนบทนี้มันก็เหมือนการลำดับเรื่องใหม่ อยากเห็นภาพกะทินั่งชิงช้าที่สระว่ายน้ำเดินเข้าไปที่ห้องคอนโดของแม่อะไรอย่างนี้ พอเขียนไปสักพักพอถึงคอนโดของแม่เราก็เริ่มสะดุดแล้วว่า เออ...เราจะไปหาที่ไหนล่ะ เพราะว่าเราคุยกับคุณงามพรรณว่า คอนโดของแม่มี 2 ชั้นนะ ตั้งแต่เกิดมาผมก็ยังไม่เคยเห็นเลยเคยเห็นแบบว่าจริง ๆ นะ เคยเห็นแต่ในหนัง แต่ว่าก็น้อยเพราะว่าต้องรวยมากเลยในบ้านเราเพราะอย่างตึกแต่ละตึกมันก็ไม่มีเยอะ เพราะว่าเขาก็ต้องทำเป็นชั้นเดียว เพราะว่าจะขายได้มาก ๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีบางทีก็สืบจากอินเตอร์เน็ตบ้าง สืบจากคนรู้จักบ้างว่าเขาเรียกดูเพล็กซ์หรือว่าเพนซ์เฮาส์อย่างนี้ไง เพราะว่าถามพี่งามพรรณจริง ๆ ว่าตอนเขียนคิดยังไง เขาก็บอกว่า เออ...ไม่รู้เหมือนกันจำไม่ได้ ผมก็เลยตีความให้เองเลยว่า ห้องของแม่มันต้องเป็นห้องที่สำคัญและห้องที่เต็มไปด้วยอดีตของแม่ เต็มไปด้วยลิ้นชัก 9 ชั้น 9 แถวมีรูปของแม่ มีอัลบั้มต่าง ๆ อดีตของแม่ต่าง ๆ ที่อยู่ในนั้น มีกระเป๋าเดินทาง มีเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสืออยู่ในห้องนี้ ที่จะใช้กุญแจรูปลายกระต่ายไขเข้าไป เพราะฉะนั้นของสำคัญในทางภาพยนตร์หรือทางภาพนี้มันอยู่กับพื้นไม่ได้เราคิดอย่างนั้นมันต้องลอยอยู่อ่ะ มันต้องอยู่อีกชั้นหนึ่งมันต้องแหงนหน้าขึ้นไป มันต้องผ่านอุปสรรคบันไดวนโดยเรื่องโดยหนังเลยตีความว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนตรงกันโดยบังเอิญที่พี่งามพรรณต้องเขียนว่ามันเป็น 2 ชั้นทำไม แต่เรารู้สึกว่าโดยภาพยนตร์มันต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ห้องที่พิเศษมันต้องอยู่ในที่ ๆ ไม่ธรรมดาแน่ เราต้องอยากได้พื้นที่ ๆ กว้างพอสมควรที่มีบันไดวนขึ้นไปบนหน้าห้องแบบนี้ ในที่สุดก็มาได้ที่ BIO HOUSE อยู่ที่สุขุมวิท 39 เรารู้สึกว่าจะเป็นชั้น 13,14อะไรประมาณนี้ แต่ก็มีความสูงพอที่มองออกไปแล้วพอจะเห็นตึกรามบ้านช่องของกรุงเทพมหานคร ความเป็นเมืองที่เวลาเรามองผ่านสายตาของกะทิแล้วรู้สึกแบบเราคงอยากอยู่อยุธยาอะไรแบบนี้ แล้วกะทิคงรู้สึกคล้าย ๆ สิ่งที่เราพยายามจะบอกว่า เมื่อคุณมองเข้าไปในตึกแล้วเห็นกลุ่มควัน เห็นก้อนเมฆ กะทิไกวชิงช้า แล้วคิดว่าจะส่งจดหมายดีไหม จะกลับไปอยู่กับตายายไหม อยู่กับพ่อไหม มันทำให้ภาพแบบนี้มันสมบูรณ์แบบมากขึ้นในการเลือกในการตัดสินใจของเขาอะไรประมาณนั้นครับ มาถึงบ้านที่หัวหิน เป็นยังไงบ้าง เราพยายามอยากได้หัวหินเพราะว่าเรื่องมันเกิดที่หัวหินรู้สึกอย่างนั้น เพราะพี่งามพรรณก็บอกว่าบ้านของแม่นี่เขาไม่ได้เห็นที่หัวหินหรอกนะ แต่เขาเขียนเรื่องที่หัวหินเนื่องจากว่า มันปฏิเสธไม่ได้เนื่องจากว่ามันมีบทหางนกยูง เพราะว่าคุณงามพรรณเวลาเขาไปหัวหินเขาจะผ่านลอดอุโมงค์แล้วพอผ่านมาก็จะเห็นทิวของต้นหางนกยูงออกสีแดง พูดถึงสวนสนก็หนีไม่ได้ก็ต้องเป็นสวนสนประดิพัทธ์แถวนั้น เพราะฉะนั้นจะมีไหมนะบ้านหัวหินที่อยู่ริมทะเล เป็นบ้านไทยเก่าเหมือนบ้านทรง ร.5 สมัยก่อน แล้วก็ต้องมี 2 หลังด้วย เพราะว่าเราต้องแยกหลังของแม่ไว้หลังหนึ่งเป็นหลังที่พิเศษ แล้วก็เป็นหลังที่เหมือนให้ผู้ใหญ่อยู่กันนั่งกินข้าว สุดท้ายก็ด้วยโชคชะตากองถ่ายเราก็มาได้บ้านอยู่ที่หัวหินซอย 19 ซึ่งเป็นบ้านของตระกูล ณ ระนอง ซึ่งรู้สึกว่าเขาบอกว่าก็ได้รับเสด็จอยู่หลายครั้งเหมือนกัน เพราะว่าบ้านนี้ก็เก่าแล้ว แล้วละครก็เคยไปถ่าย แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ซ้ำอะไรขนาดนั้นที่ทำให้คนดูจำได้ และถ้าจำได้เรารู้สึกว่าเราน่าจะเป็นอะไรที่อีกแบบหนึ่งที่มากกว่าละครที่เดินไปเดินมา พอเราไปดูนี่ก็ใช่เหมือนกัน นี่ก็เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่มีหลังเล็กหลังหนึ่ง หลังใหญ่หลังหนึ่งอยู่ริมหาดมองออกไปเห็นเป็นทะเลแล้วก็เป็นที่ ๆ เงียบอยู่ในซอย เพราะว่ายังไม่มีการปลูกสร้างอะไรที่ทำให้รบกวนเรื่องของการถ่ายทำ แล้วก็มีกองถ่ายไปก็เกือบร้อยคนมันไม่ได้แน่นจนเกินไป และที่สำคัญเจ้าของบ้านยินดีที่ให้ความร่วมมือแล้วก็ดูแลเราตั้งแต่ตลอดการถ่ายทำ เพราะจริง ๆ แล้วเป็นฉากที่ค่อนข้างยากมาก เป็นซีนที่แสดงอารมณ์ระหว่างแม่กับกะทิครั้งแรก เป็นฉากที่แม่ต้องเล่าเรื่องของอดีตว่าทำไมเขาต้องทิ้งกะทิไป เพราะฉะนั้นถ้าสถานที่ไม่ขลังจริง ไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง ฉากพวกนี้ก็คงไม่เกิดความมีพลังเกิดขึ้น แต่เรารู้สึกว่าเราโฟกัสเรื่องนี้ก่อนเลยว่า ถ้าเราไปแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เราจะไม่ถ่ายที่นี่ แต่พอเราไปโดยความที่มันเป็นพื้นที่เก่ามีอดีตที่สั่งสมมานานแล้ว ลักษณะไม้ ลักษณะหน้าต่าง หรือหลังคาไม้บางต้นที่อยู่ในนั้นมันสร้างอารมณ์ของความเหงาเปล่าเปลี่ยว แล้วพูดถึงความสุขที่กะทิควรจะได้สัมผัสในพื้นที่ได้ เราก็เลือกที่นี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ