“บ้านสันคะยอม” ปลื้มงานวิจัยกู้วิกฤติท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2009 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.-- ผู้นำชุมชนบ้านสันคะยอมปลื้ม งานวิจัยโครงการฐานข้อมูลหมู่บ้านโดยใช้โปรแกรมท้องทุ่งไทย ช่วยกู้วิกฤติชาวนา ทำให้มีข้อมูลเป็นเครื่องมือต่อรองภาครัฐ-องค์กรอื่นๆ รุกขยายผลสู่ทุกหมู่บ้านในตำบล นายอุทิตย์ พิงคะสัน รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน ในฐานะผู้นำชุมชนบ้านสันคะยอม กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ และการเกิดของนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ จ.ลำพูน ทำให้วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิม ของคนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปแทบสิ้นเชิง โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมถูกละเลยจากคนรุ่นหลัง หันหน้าเข้าหาโรงงานอุตสาหกรรมแทน ผืนนาจำนวนมากถูกเปลี่ยนมือ กลายเป็นร้านค้า และหอพัก ผุดขึ้นมารองรับผู้คน ซึ่งหลั่งไหลเข้ามาทำงานในนิคม แต่ที่บ้านสันคะยอม ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน ชาวยองส่วนหนึ่ง ยังคงยึดอาชีพทำนาอย่างเหนียวแน่น เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน และขายส่วนที่เหลือสู่ท้องตลาด หากปัญหาที่พบคือยิ่งทำยิ่งขาดทุน ราคาข้าวตกต่ำ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นเรื่อยๆ บั่นทอนกำลังใจของชาวนา จนส่วนหนึ่งยอมให้ลูกหลานออกจากบ้านไปรับจ้างตามโรงงาน หรือต่างถิ่น “ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และไร้ทางออก แม้ชาวบ้านจะรวมตัวกันทั้งจังหวัดเพื่อประท้วงรัฐบาล มีการปิดถนนกดดันหลายหน แต่ท้ายที่สุดปัญหาก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา กระทั่งทางนักวิชาการ และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อชุมชน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เข้ามาร่วมมือกับคนในชุมชน สนับสนุนโครงการฐานข้อมูลหมู่บ้านโดยใช้โปรแกรมท้องทุ่งไทย ใน ต.ป่าสัก โดยให้หมู่บ้านสันคะยอม หมู่ 1 เป็นหมู่บ้านนำร่อง” รองประธานสภา อบต.ป่าสัก กล่าว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากงานวิจัย คือ ผู้นำชุมชน เยาวชน อบต, ได้เรียนรู้ระบบฐานข้อมูลท้องทุ่งไทยร่วมกัน และหยิบข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เช่น ติดต่อขอน้ำจากชลประทาน ก็สามารถระบุได้ว่าทั้งหมู่บ้านมีที่นากี่ไร่ หรือหน่วยงานอื่นๆ ขอข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ก็พร้อมให้ได้ทันที เพราะข้อมูลในโปรแกรมท้องทุ่งไทยจะมีความละเอียดครอบคลุมทุกด้าน ทั้งประชากร อาชีพ รายได้ หนี้สิน สัตว์เลี้ยง ไร่นา พื้นที่ใช้สอย พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ “ตอนนี้ เราไม่ต้องประท้วงปิดถนน ไม่ต้องเสียเวลาเดินขบวนอีกแล้ว เพราะกระบวนการวิจัยทำให้เราได้ผลผลิตค่อนข้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังมีข้อมูลเป็นเครื่องมือที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานสนใจเข้ามาดูเป็นต้นแบบ เช่น เมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ทาง จ.กาฬสินธุ์ ได้ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาอย่างละเอียด เพื่อไปปรับใช้ในพื้นที่แบบบูรณาการ ตามนโยบายของจังหวัด ที่ต้องการให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักรวบรวมข้อมูลท้องถิ่น และใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม” รองประธานสภา อบต.ป่าสัก กล่าว ด้าน ดร.สมคิด แก้วทิพย์ หัวหน้าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เปิดเผยว่า การประยุกต์ใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจตามโปรแกรมท้องทุ่งไทย สามารถใช้เป็นต้นแบบและตัวอย่างของการประยุกต์ใช้และทดสอบการสร้างความ สามารถในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น หรือประกอบการตัดสินใจ และดำเนินการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้ ถึงขณะนี้ งานวิจัยจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านสันคะยอมให้การยอมรับ และพยายามขยายผลไปสู่อีก 17 หมู่บ้านที่เหลือ เพื่อพัฒนากระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฐานข้อมูล ให้ครอบคลุมทั้งตำบล “เดิมเมื่อเกิดปัญหา ทางออกของชาวบ้านคือการประท้วง หรือออกมาเรียกร้อง แต่มักจะถูกหน่วยงานรัฐถามกลับ จนต้องล่าถอยออกมาเพราะไร้ข้อมูลที่จะใช้เป็นคำตอบ เช่น ผลผลิตลำไยราคาตกต่ำ รัฐมักจะถามว่ามีพื้นที่ปลูกเท่าไหร่ จำนวนกี่ต้น ได้ผลผลิต/ต้นแค่ไหน ผลผลิตรวมเท่าไหร่ ต้นทุนการผลิตมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากไม่มีการสำรวจและจัดทำข้อมูลไว้ล่วงหน้า การต่อสู้เรียกร้องที่กำลังดำเนินอยู่ก็จะสะดุดลงทันที ความช่วยเหลือต่างๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร ดังนั้นงานวิจัยจึงเป็นเครื่องมือ ที่ส่องทางสว่างให้กับคนในท้องถิ่น ทำให้มั่นใจในการประกอบกิจการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่” หัวหน้า สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวในตอนท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ saichol เบอร์โทรศัพท์ : 0820870028

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ