นักวิจัย ม.อ. เดินหน้ากวาดรางวัลวันนักประดิษฐ์ ชู 2 ผลงาน ‘ตรวจสภาพอากาศราคาประหยัด-ลดโรคระบาดเลี้ยงกุ้ง’

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2009 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ นักวิจัย มอ. สร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์และวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยผลงาน “เครื่องมือตรวจวัดปริมาณสารระเหยในอากาศ” ต้นตอก่อมะเร็ง ในราคาประหยัด จากคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลชมเชย เช่นเดียวกับบทวิจัย “การศึกษาสมบัติทางชีวภาพของฟอติลินจากกุ้งกุลาดำ” ลดโรคระบาดไวรัสในกุ้งเพาะเลี้ยง เตรียมเข้ารับรางวัลวันที่ 2 ก.พ.นี้ ส่วนแผนการตลาดไตปลาแห้ง จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร คว้ารองชนะเลิศจากโครงการกล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กำหนดให้เป็นวันมอบรางวัลวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2552 นั้น ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเข้ารับรางวัลชมเชยถึง 2 โครงการด้วยกัน ได้แก่ โครงการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศแบบพาสซีพ ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจวัดปริมาณสารระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาสมบัติทางชีวภาพของฟอติลินจากกุ้งกุลาดำ” เพื่อลดปัญหาการระบาดของโรคไวรัสในกุ้งเพาะเลี้ยง “นอกจากผลงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของสถาบันแล้ว นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการวิจัยอีกมากมายหลายโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเพิ่มคุณภาพด้านงานวิจัย เพื่อให้คณาจารย์ได้มีโอกาสคิดค้นและศึกษาข้อมูลในเชิงลึก” รศ.ดร.บุญสมกล่าว ด้าน รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา ภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ดูแลโครงการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศแบบพาสซีพ ที่คว้ารางวัลชมเชยด้านกลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข (สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช) เปิดเผยว่า จากปัญหาในเรื่องการเก็บตัวอย่างและติดตามตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ระเหยในสิ่งแวดล้อมในอากาศ ที่มีค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งค่อนข้างสูง จึงเป็นจุดริเริ่มในการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศแบบพาสซีพที่มีราคาประหยัด ทำได้ง่าย ผลิตได้เองในประเทศ เพื่อทดแทนอุปกรณ์เก็บตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งได้พัฒนาอุปกรณ์คายการดูดซับด้วยความร้อนอย่างง่าย แต่มีประสิทธิภาพขึ้นมาใช้ในห้องปฏิบัติการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์สำเร็จรูป ทำให้สามารถเก็บตัวอย่างได้หลายจุดในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองแรงงาน ตลอดจนลดความเสี่ยงของผู้เก็บตัวอย่างในการต้องสูดดมสารพิษ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 บาทต่อการเก็บตัวอย่างหนึ่งครั้ง เทียบกับที่มีจำหน่ายในราคา 185 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 5 ชิ้น หรือชิ้นละ 1,200 บาท “ประโยชน์ที่ได้รับของเครื่องมือนี้ ก็คือ ทำให้สามารถติดตามตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสถานที่ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์เก็บตัวอย่างแบบพาสซีพและอุปกรณ์ในการคายการดูดซับสารระเหยอินทรีย์เพื่อการวิเคราะห์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ในการแก้ไข และป้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีมาบตาพุด เป็นต้น” รศ.ดร.เพริศพิชญ์กล่าว ขณะที่ รศ.ดร.อมรรัตน์ พงศ์ดารา หัวหน้าโครงการผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาสมบัติทางชีวภาพของฟอติลินจากกุ้งกุลาดำ” ซึ่งสามารถลดปัญหาการระบาดของโรคไวรัสในกุ้งเพาะเลี้ยงที่เป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด โดยได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับชมเชยกลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา กล่าวว่า คณะผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.วิไลวรรณ โชติเกียรติ จากคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.กิจการ ศุภมาตย์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกได้เริ่มงาน โดยโคลนยีนจากดีเอ็นเอของกุ้งกุลาดำที่ติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว ทำให้ได้พบกลุ่มยีนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ “ยีนฟอติลิน” ที่อาจทำหน้าที่ในการป้องกันการเกิดตายในกุ้ง และยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส “การค้นพบครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ต้องปวดหัวกับปัญหาไวรัสในกุ้งมาอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กุ้งเพาะเลี้ยงตาย และเกษตรกรผู้เลี้ยงต่างต้องประสบกับการขาดทุน ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ” รศ.ดร.อมรรัตน์กล่าว ขณะเดียวกันคณะอุตสาหกรรมเกษตร ก็สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศจากจากการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจโครงการไตปลาแห้งของกลุ่มแม่บ้านชุมชนทุ่งรี ต.คอหงส์ จ.สงขลา ในโครงการกล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จาก 336 ทีมของ 108 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) น.ส.วัชราภรณ์ ถาวรพันธ์ น.ส.ราชาวดี วงศ์ศรีชัย และนายอาร์ซู บุงวัง นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร ในนามกลุ่มบลูเวฟ (Blue Wave) โดยการสนับสนุนของ ผศ.น้อย จันทร์อำไพ ภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ และดร.กิตติ เจิดรังสี คณะอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวว่า ทีมงานได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจ และสามารถรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อผลิตแกงไตปลาแห้ง และได้พัฒนาสูตรการทำแกงไตปลาแห้ง ให้มีรสชาติถูกใจผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในรูปของแกงไตปลาแห้งกระปุกและถุงพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งสามารถเก็บถนอมอาหารได้นานถึง 3 เดือน โดยสามารถขอมาตรฐาน อ.ย. และจดทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อป ได้ภายในเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการขอมาตรฐานฮาลาล และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ