สหมงคลฟิล์มภูมิใจเสนอ ภาพยนตร์เรื่อง เสือร้องไห้

ข่าวทั่วไป Thursday July 21, 2005 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สหมงคลฟิล์ม
เสือร้องไห้
กำหนดเข้าฉาย 21 กรกฎาคม 2548
แนวภาพยนตร์ REALITY FILM
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, ยุทธนา บุญอ้อม, พงศ์นรินทร์ อุลิศ
กำกับภาพยนตร์ สันติ แต้พานิช
นำเรื่องโดย พรศักดิ์ ส่องแสง, เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก,
แมนหัวปลา, เนตรอินทรีเหล็ก,พี่อ้อยสิงห์นักขับ
"เสือร้องไห้”
โดย “สันติ แต้พานิช”
ความหมายของ “เสือร้องไห้” คืออะไร
1. การหลั่งของเหลวคล้ายน้ำ ออกมาทางดวงตา เพื่อแสดงความดีใจและเสียใจของสัตว์บกชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์เรียกมันว่า เจ้าแห่งป่า
2. เนื้อย่างไฟจากเตาถ่าน ร้อนร้อน หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วคลุกคล้าในหม้อกับเครื่องปรุงรสจัดจ้าน มะนาวสวนเปรี้ยว พริกขี้หนูเผ็ดป่น ข้าวคั่วหอมหอม ต้นหอมสดสด น้ำปลาแท้ น้ำตาลทรายแดง โรยเติมด้วยงาขาวกับยอดใบยี่หรา เสริฟกับข้าวเหนียวร้อนร้อน มีขายตามปั้มน้ำมันทั่วไป
3. เรื่องราวชีวิตจริงของคนไทยใจสู้
กรรมวิธีในการทำ “เสือร้องไห้” ทีมงานออกค้นหา ชาวอีสานที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพ ตามสถานที่ต่างๆ กว่าร้อยอาชีพคัดเลือกอาชีพ ที่ทีมงานคิดว่าน่าสนใจ เพื่อสอบถาม พูดคุยหาข้อมูลลึกที่ลงไปในแต่ละคน ถึงเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเฝ้าติดตามเพื่อถ่ายทำการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นในเมืองหลวง การทำงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวด ของเขาที่เราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา …หรือชีวิตของทีมงานคัดย่อเรื่องราวที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ม้วนเทปทั้งหมดกว่า 300 ม้วนให้เหลือเพียงสิ่งที่น่าสนใจแค่เพียง 2 ชั่วโมง
รู้จักมั๊ย สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนอีสาน”
คนอีสาน ผู้ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไม่ติดทะเล แต่ก็ออกเรือตังเกหาปลาได้
คนอีสาน กินแจ่วปลาร้า แต่ทำให้ซูชิ ให้แขกในร้านญี่ปุ่นกินได้
คนอีสาน ที่คุ้นเคยกับลำเพลิน ลำซิ่ง แต่ก็สามารถเป็นพระเอกงิ้ว
ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ชาวอีสานทำไว้ ที่เรายังไม่ได้พูดถึงเพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศแล้วพวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัวที่เป็นเลิศที่สุด
เสือร้องไห้เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้นำเสนอในรูปแบบ REALITY FILM ความยาวเท่ากับภาพยนตร์ปกติที่ฉายตามโรงโดยใช้วิธีการเข้าไปคลุกคลี เก็บเรื่องราว เก็บภาพชีวิต ความสุข ความเศร้าของ
คนจริงๆ ตัวเป็นๆ ไม่ใช่นักแสดงถ่ายทำ ที่อาศัยระยะเวลาการเก็บภาพถึง 1 ปี บันทึกเทปไปมากกว่า 300 ม้วน
ไม่เสียดายเวลา ไม่เสียดายฟุตเตจ เพื่อให้ได้ภาพยนตร์ “REALITY FILM” ที่น่าสนใจที่สุด
เรื่องที่คุณจะได้พบ อาจเป็นชีวิตของชายคนหนึ่งจากที่ราบสูง ที่ทิ้งบ้าน ทิ้งความหลังมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองกรุง เพราะใฝ่ฝันที่จะเป็น “หม่ำ จ๊กมก” คนที่สองหรือจะเป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ต้องยอมเจ็บตัว เสียเลือด วันเล่า คืนเล่า เพื่อที่วันหนึ่งจะได้เป็นอย่าง “จา พนม ยีรัมย์” โดยมีภาพชีวิตหลังบรรลุฝันสู่จุดสูงสุงในชีวิตของ “พรศักดิ์ ส่องแสง” ราชาหมอลำอีกหนึ่ง “เสือร้องไห้” ในอีกหลายมุมที่ไม่มีใครรู้หนทางชีวิตของเขาจะราบรื่น สนุกสนาน หรือรันทดอย่างไรจะถูกเก็บมาให้เห็น โดยฝีมือการกำกับของ สันติ แต้พานิช
ตำนานเสือ
ครั้งแรกของเมืองไทยที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ REALITY FILM เรื่องแรกที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ครั้งแรกของคนอีสานธรรมดาที่ชีวิตพวกเขาจะต้องถูกจดจำ
เสือร้องไห้” reality film เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ จากผลงานการกำกับของคนตัวเล็ก สันติ แต้พานิช แห่งวงการหนังสั้นผู้ฝากผลงานที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ที่อยู่ในเขตของความคิดสร้างสรรค์มาแล้วอย่างมากมาย บุกตะลุยมาทั่วกรุงเทพและแถบอีสานเพื่อค้นหารูปแบบชีวิตที่น่าสนใจและเฝ้าติดตามดูความเคลื่อนไหว ที่ถูกจำเพาะเจาะจงไปที่ “คนอีสาน” เท่านั้น
คนอีสานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนกลุ่มนึงที่ถูกคัดเลือกออกมาจากทุกสายอาชีพที่คนอีสานสามารถทำได้ในประเทศไทย กว่าร้อยอาชีพ กว่าร้อยหนทางการดำเนินชีวิต กว่า 1 ปีของการถ่ายทำ ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหนก็ตามเพื่อให้ได้มาแค่เพียงคนหลับ 1 shot หรือแม้แต่ใครคนใดคนหนึ่งร้องไห้อยู่ไม่ว่าจะไกลแค่ไหนก็ต้องไปหา ก่อนที่น้ำตาของเขาจะเหือดแห้ง แค่ 2 ชั่วโมงกับ 5 ชีวิตบนแผ่นฟิล์มนั่นคือเพียงเศษเสี้ยวของการบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดกว่า 300 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สันติ แต้พานิชคิดและทำมันขึ้นมา
ทุกชีวิตที่ถูกเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วประเทศไม่มีการเตรียมการท่องบท จัดแสง จัดฉากหรือกำกับการแสดงแต่อย่างใด ทุกวินานทีของ เสือร้องไห้ เป็นเรื่องจริงล้วนๆ ที่แม้แต่ผู้กำกับเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในวันนี้และวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาทั้ง 5 รวมถึงชีวิตของทีมงาน ภาพที่ได้มาคือการเฝ้าและรอคอยปล่อยให้ทุกชีวิตโลดแล้นไปเรื่อยๆ ตามวิถีของตนเอง
นับจากนี้คนอีสานคือ ตำนาน ... คือคนที่จะอยู่ในใจทุกครั้งเมื่อเราเริ่มรู้สึก “คิดถึงบ้าน”
5 ชีวิตยิ่งใหญ่บนแผ่นฟิล์ม
พรศักดิ์ ส่องแสง
“ผมก็ว่าผมสุดแล้ว ดังก็ดังแล้ว ทรุดก็ทรุดแล้ว”
“ไม่อยากจะคิดสงสาร ไม่อยากจะคิดสงสาร เมื่อเห็นสาวจันทร์นั่งซึม” บทเพลงเพียงท่อนแรกที่ฟังแล้วท่อนต่อไปจะผุดเข้ามาในหัวอย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเพราะเพลงนี้ “สาวจันทร์กั้งโกบ” ดังมาแล้วทั่วโลก
พรศักดิ์ ส่องแสงตัวแทนคนอีสานที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างใหญ่หลวง นักร้องหมอลำคนแรกของเมืองไทยที่ไปตระเวนเล่นคอนเสริต์มาแล้วทั่วโลก บุคคลธรรมดาจากบ้านไร่ท้องนาที่ดิ้นรนจนได้เป็นตำนานของวงการเพลงในเมืองไทย ไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้พรศักดิ์อยู่ไหนทำอะไร คนรวยขนาดเขาใช้ชีวิตอยู่ยังไงในสังคม
“จริง ๆ แล้วทีแรกเลือกไว้หลายคนมาก แต่สรุปว่าเขาไม่สะดวกให้ถ่าย จนมาเจอพี่พรศักดิ์ ซึ่งไม่ต้องเอ่ยถึงความดังในสมัยก่อนเลย เพราะว่าเทียบเท่าเบิร์ดเลยนะตอนนั้น ก็เลยไปขอภาพฟุตเตจของคอนสิร์ตที่เล่นกับเบิร์ด คนดูเยอะมาก
พอไปถ่ายเขาเริ่มรู้จักเขาก็รู้เลยว่า เขาเคยอยู่ในจุดที่สูงสุดมากมาแล้ว ไปมาแล้วเกือบรอบโลก รวยมาก แต่ตอนนี้ไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการแค่อยู่บ้านกับครอบครัว ไปร้องเพลงตามที่คนเชิญ ชีวิตมีความสุข เป็นคนที่มีสีสันมาก ชีวิตผ่านอะไรมาเยอะ ผมว่าผมโชคดีที่ได้เจอเขา”
เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก
“ตอนที่ผมยังไม่ใช่เหลือเฟือ อดอยากคืออะไรผมรู้จักดี”
เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก นักแสดงตลกคาเฟ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย การเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรกไม่ได้มีนามสกุล ม๊กจ๊ก ติดตัวมาด้วย แต่เป็นแค่คนอีสานธรรมดาคนนึงที่เคยล้มลุกคลุกคลานอยู่ในเมืองหลายต่อหลายครั้ง อาจไม่มีใครที่เคยเจอเหลือเฟือ ม๊กจ๊ก เมื่อแรกเดินทางเข้ามาจำเขาได้ แต่ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่ตลกคนนี้จะลืมก้าวแรกในชีวิตที่ย่ำเท้าเข้ามาในแผ่นดินที่ชื่อว่ากรุงเทพฯ เลย ชีวิตตลกที่ไม่ตลก ชีวิตหลังจากที่มีชื่อเสียงก็ยังเป็นชีวิตที่สามารถยกมือปาดน้ำตาได้ทุกครั้งที่หวนระลึกถึง
“พี่เหลือถือว่าเป็นคนนึงหละที่เหมือนเป็นตัวแทนคนอีสานที่ประสบความสำเร็จ เป็นอาชีพที่คนอีสานจะนึกถึงแรกๆ ที่คิดจะเข้ามาอยู่กรุงเทพ พอดีว่าตอนนั้นผมถามแมนหัวปลาว่าอยากจะทำอะไร เขาบอกว่าอยากมาเป็นตลกคาเฟ่คณะพี่เหลือเฟือ ผมก็เลยได้มีโอกาสติดตามพี่เหลือ ได้เห็นการทำงานของเขา ได้เห็นชีวิตเขามันเป็นความโชคดีของผม”
แมนหัวปลา
“ถ้ามีมนต์วิเศษก็อยากให้ชีวิตเราราบรื่น”
สิ่งที่คนเราไม่อยากเผชิญหน้าด้วยมากที่สุดคือความยากลำบาก แต่ใช่ว่าทุกคนเลือกได้ ชีวิตที่เหลืออยู่จึงอยู่บนความจำเป็นที่ต้องค้นหาอะไรก็ตามที่ทำให้ความยากลำบากเหือดแห้งหายไป แล้วทำชีวิตให้เอ่อล้นชุ่มฉ่ำด้วยความสุขแทน แต่กว่าจะได้มันมาต้องต่อสู้และผ่านอะไรกันบ้างไม่มีใครสามารถเดารูปแบบชีวิตของวันพรุ่งนี้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับหนึ่งหนุ่มคนนี้ที่เป็นตัวแทนของชาวอีสานมาเปิดเผยชีวิตของตนให้กับผู้กำกับ สันติ แต้พานิช นำเรื่องราวชีวิตของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะชนให้ได้เห็นกันในโรงภาพยนตร์
แมนอดีตพนักงานในที่จอดรถของร้านอาหารปอกุ้งเผา หน้าที่ใส่หัวปลาแต่งตัวประหลาดยืนโบกรถร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ หน้าร้านอาหารเพื่อเชิญชวนลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารภายใน ทุกอย่างที่ทิ้งบ้านนามามีจุดมุ่งหมายเดียวคือเพื่อแม่ เมื่อหัวปลาและการเต้นไปมาไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แมนจึงคิดหันมาหาหนทางอื่น สิ่งที่คิดได้ถัดมาคือ อาชีพตลก นั่นคือความหวังครั้งใหญ่ที่คาดว่ามันคงเป็นสิ่งที่จะนำพาตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายได้เร็วขึ้น และนั่นคือการเริ่มต้นรูปแบบชีวิตใหม่ที่แมนต้องดิ้นรนหาหนทางเพียงลำพังต่อไป
“เห็นครั้งแรกก็สะดุดตามาก ๆ เพราะดูแล้วรู้สึกว่าเป็น “คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” จะมีคนอย่างนี้อยู่ในทุกอาชีพ เขาก็เป็นอย่างนั้น คนอื่นอาจจะโบกเฉย ๆ แต่คนนี้ไม่ พอไปรู้ว่าเขาอยากเป็นตลกคณะเหลือเฝือมากก ก็ตามถ่ายเขาว่าเขาจะได้เป็นอย่างนั้นจริงไหม”
เนตรอินทรีเหล็ก
“ผมไม่ได้เป็นดารา เล่นทุกครั้งก็ได้เลือดกลับไปทุกครั้ง”
ดารา อาชีพยอดนิยมสำหรับคนทั่วไปที่ติด 1 ใน 5 ทุกครั้งที่ทำโพล ทั้งในแง่ความเด่นดัง เงินทอง ความสามารถและรูปลักษณ์ภายนอกของทุกคนแตกต่างกัน จาพนม หรือหม่ำจ๊กม๊ก คือต้นแบบที่คนอีสานหลายคนอยากเป็น ความพยายามจึงต้องเกิดขึ้นแม้ต้องแลกกับเลือดก็ตาม
เนตรผู้หลงทางเข้ามาสู่เมืองมายาเพื่อฝึกฝนร่างกายให้เก่งเพราะหวังว่าจะได้เป็นฮีโร่นักบู๊อย่าง จาพนมคนต่อไป ทางจะทำให้เนตรเก่งเท่าพระเอกต้องเริ่มจากเป็นตัวแทนพระเอก ไม่ว่าเบื้องหน้าพระเอกจะต้องกระโดดตึก โดนเตะ คางแตก ไฟลวก แต่เนตรในฐานะอาชีพ สตั้นแมน ในเมืองมายา เนตรต้องเล่นเสี่ยงอันตรายทุกอย่างแทนทั้งหมดแลกกับเงินไม่ถึง 1 % ของค่าตัวพระเอกด้วยซ้ำ ความเจ็บปวดของบาดแผลมันลึกเข้าไปสู่หัวใจไหลออกมาจากดวงตาของชายผู้มีร่างกายแข็งแกร่งและมีศิลปะการต่อสู้รอบด้าน
“นำเสนอโดยการเลือกพรีเซนต์โลกของสตั้นท์แมนว่าจริงๆ มันเป็นอย่างไร มันไม่ได้น่าดูเหมือนกับโชว์ คนไม่ได้เก่งทุกคน แต่ทุกคนต้องมาเสี่ยง บางทีก็แค่เงิน จะมีภาพให้เห็นว่า คนที่เป็นสตั้นท์ก่อนขึ้นเวที อาจจะต้องไหว้พระ สวดมนต์ เพราะจริง ๆ แล้วไม่ได้กล้าบ้าบิ่น ขนาดนั้น
เลือกเขาเพราะว่าพูดคุยแล้วดูแล้วว่าเขาเป็นคนจิตใจดี เป็นคนที่มีความฝันที่บริสุทธิ์มาก พยายามเลียนแบบจา พนม จะซื้อวีซีดีทั้งของ พันนา,เฉินหลง,จา พนม มาดูตลอด เรียนรู้แบบถูก ๆ ผิด ๆ ปัจจุบันตัวเองอยู่ที่ทีมสตั้นท์ ไม่ได้มีงานมีเงิน แต่ฝันอยู่ตลอดเวลา”
พี่อ้อยสิงห์นักขับ
“พี่อ้อยอยากกลับไปหาพ่อ พี่อ้อยคิดถึงพ่อ”
หญิงแกร่งคนเดียวในเรื่องที่พาความสุขเดินทางไปบนถนนที่แสนกว้างใหญ่ของมหานครเพียงลำพังมีเพียงผู้โดยสารกับเสียงวิทยุเท่านั้นที่เป็นเพื่อนร่วมทางอยู่บนถนนที่คดเคี้ยววกวน ถึงแม้ว่าจะขับรถไปกลับจากถนนนี้สู่อีกถนนนึงเป็นประจำแต่สิ่งที่ยังทำไม่ได้อย่างสม่ำเสมอเท่า ดูเหมือนจะเป็นการกลับไปสู่บ้านเกิดที่พ่อแม่ต่างรอคอยอยู่
หนทางกลับบ้านของพี่อ้อยดูเหมือนจะยาวไกลกว่าบ้านใครหลายๆ คน พี่อ้อยขับรถทุกวันตามความฝันของตนเองโดยไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดที่ถนนสายไหน หรือเมื่อไหร่จะสุดทาง ตราบใดที่พี่อ้อยห่างออกจากพวงมาลัยหน้ารถ นั่นเท่ากับว่าพี่อ้อยห่างบ้านออกไปทุกที
“เราหามาหลายคนนะก็ลองนั่งรถไปเรื่อยๆ แต่มาสะดุดใจคนนี้แหละเขาจะกวนๆ ชีวิตเขาคือสีสันของเรื่อง มันจะได้ยิ้มกันก็ตรงนี้แหละ พี่เต็ดจะชอบชีวิตคนนี้มาก พี่อ้อยอารมณ์ดีพูดจาไพเราะ จริงๆ แล้วก็ทุกคนในเรื่องจะเป็นคนที่พูดจาดี”
ชีวิตทุกชีวิตที่กล่าวถึงจะไม่มีความหมายกับใครเลย
ถ้าวันนี้ไม่เจอกับ สันติ แต้พานิช หรือไม่มีกำเนิดของเสือร้องไห้
DIRECTOR NOTE
ขอให้เจริญอาหารนะครับ
ขอบคุณครับ
สันติ แต้พานิช
PRODUCERS NOTE
เสือร้องไห้” เป็นภาพยนตร์ที่เรียกความสนใจจากพวกเราได้ตั้งแต่ฟังชื่อเรื่อง
แล้วยิ่งพอรู้ถึงวิธีการที่ สันติ ตั้งใจทำขึ้นมา ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นเป็นอันมาก เพราะมันเป็นหนังสด ไม่มีบท ไม่มีใครจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว “เขา” จะพาเราไปไหน
เขา — ที่ว่านี้ ก็คือ ตัวละครที่คุณที่จะได้เห็นในเสือร้องไห้ ซึ่งมันคงแตกต่างจากหนังเกือบทุกเรื่องที่ได้ดูกันมา ก็เพราะเขาเหล่านี้ มีชีวิต มีความรู้สึก มีตัวตนจริงๆ ไม่มีสลิง ไม่มีตัวแสดงแทน
สันติ ใช้ความพยายามอย่างมากในการควานหาเสือ มาเล่าให้เราฟังถึงแหล่งที่อยู่ของเสือ จำแนกสายอาชีพ ลองสุ่มเข้าไปพูดคุย สัมภาษณ์ ลองถ่ายเก็บไปเรื่อย จนได้เรื่องราวชีวิตของเสือที่น่าสนใจ เสือที่ดิ้นรน เสือที่กำลังสู้ยิบตา เสือที่เริ่มสะอื้น ..
จากเป็นสิบๆชีวิต คัดด้วยความเข้มข้น ตามถ่ายเก็บภาพ พร้อมด้วยตากล้องคู่ใจ .. เป็นปีฟังดูแค่นี้ ก็ลำบากเอามากๆแล้ว แต่ทำจริงๆ ลำบากกว่าเยอะแต่ก็อย่างว่าล่ะ หนังจากเรื่องจริงของคนไทยใจสู้ คนทำก็ต้องสู้ด้วยใช่ไหมครับ
ยุทธนา บุญอ้อม /พงศ์นรินทร์ อุลิศ
เมนูเสือร้องไห้
เนื้อย่างรสเด็ด หรือ เสือร้องไห้ เป็นอาหารที่ใช้จิ้มกับน้ำจิ้มรสเด็ดของแจ่วฮ้อนได้โดยตรง เนื้อส่วนที่จะนำมาย่างนั้นจะเป็นเนื้อส่วนอกของวัวที่อ่อนนุ่มมีมันปนเล็กน้อย
วิธีทำ
นำเนื้อส่วนอกมาแล่ชิ้นหนาตามยาว หมักด้วยซอสปรุงรส ทิ้งไว้สัก 15 นาที ย่างด้วยไฟอ่อนๆ จนน้ำเนื้อหยดลงบนไฟดังฉ่าๆ (นี่แหละน้ำตก) อย่าให้สุกมากนักเดี๋ยวจะเหนียว นำมาหั่นตามขวางขนาดพอดีคำ จิ้มด้วยน้ำจิ้มรสเด็ดดังกล่าว แซบอีกแล้วครับท่าน สุดจะบรรยาย (น้ำลายไหลจริงๆ)
เกร็ดชื่ออาหาร
ทำไมจึงเรียกว่า เสือร้องไห้ ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า ในอดีตกาลครั้งเสือเป็นเจ้าป่าเมื่อล่าวัวได้ เนื้อส่วนที่เสือจะกัดกินเป็นอันดับแรกคือเนื้อส่วนอกของวัวที่หวานนุ่ม เมื่อคราวมนุษย์ล่าเนื้อบ้างก็กระทำเช่นเดียวกับเสือ ทำให้เสือเมื่อมาเห็นซากวัวที่โดนมนุษย์แล่เอาเนื้อส่วนอกไปกินแล้ว จึงร้องไห้โฮด้วยความเสียดาย การย่างเนื้อส่วนนี้จึงเรียกว่า เนื้อย่างเสือร้องไห้ ด้วยประการฉะนี้แล
ที่นี่ถูกเรียกว่า “อีสาน”
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น มีความหลากหลายทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ด้วยขนาดของภูมิภาคที่กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของพื้นแผ่นดินไทย จึงทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศและมีความหลากหลายของเชื้อชาติประชากรอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นของประชากรเพื่อหางานทำ ปัจจุบันปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว ทำให้ภาคอีสานทุกวันนี้มีความเจริญเท่าเทียมกับภาคอื่นๆ
ประชากรในภาคอีสานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยสำเนียงอีสานซึ่งมีความแตกต่างกันด้านสำเนียงในแต่ละท้องที่ แต่ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในปัจจุบันสามารถพูดสำเนียงไทยภาคกลางได้เป็นอย่างดี ประชากรในภาคอีสานมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง แต่สามารถหาชมการแต่งกายแบบดั้งเดิมได้ตามหมู่บ้านในชนบท
อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ เพราะดินของภาคอีสานเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำและการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ จึงทำให้ประชาชนอพยพไปหางานทำต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ฤดูแล้งจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนอีสานยากจน
ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทำให้เกิดโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงนั่นคือโครงการอีสานเขียว ความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภาคอีสานให้ดีขึ้น โดยการหาและสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพ ปรับปรุงด้าน
สุขภาพอนามัย สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาคือพื้นที่ของภาคอีสานหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว แต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยการปลูกหญ้าให้เป็นอาหารสัตว์นั้นยังทำกันไม่ค่อยแพร่หลาย การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ค่อยได้ผล สำหรับงานฝีมือ เช่น การทอผ้าไหมและการจักสานในภาคนี้ทำกันได้ดีมีฝีมือประณีต
เนื่องจากความขัดสนในพื้นที่ผู้คนในภาคนี้จึงได้ดิ้นรนไปหางานทำกันในภาคอื่น ส่วนมากไปในลักษณะการบุกเบิกหาที่ทำกินใหม่ เรียกว่า " หานาดี " ในภายหลังการหานาดีก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่จะให้บุกเบิกใหม่ ส่วนใหญ่จึงไปทำงานรับจ้างในที่ต่าง ๆ และไปกันถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ บรูไน และในประเทศเขตทะเลทรายตะวันออกกลาง ปัญหาของภูมิภาคนี้คือการหาหนทางปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาค สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เข้ากับสภาพทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์และตั้งโรงงานที่รองรับผลิตผล เหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มาก
ในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ขยับขยายไปตั้งยังภาคอีสานมากขึ้น ซึ่งแหล่งซื้อแรงงานจากชาวอีสานแหล่งใหญ่ ทำให้ชาวอีสานไม่ต้องจากถิ่นฐานไปหางานทำต่างถิ่นเหมือนอย่างเคย แต่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกับการก่อปัญหาต่างๆมากมายต่อชุมชน ทั้งปัญหามลพิษ ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป และได้ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมๆของชาวอีสานไปอย่างสิ้นเชิง
โครงการต่างๆที่รัฐพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชาวอีสาน เช่น โครงการ1ตำบล1ผลิตภัณฑ์ สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้บ้าง แต่มักจะแก้ไม่ได้มากนักทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วโครงการต่างๆเหล่านี้จะขาดการช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากส่วนราชการ เรียกว่าเป็นการดำเนินโครงการตามกระแสมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินการอย่างยั่งยืน แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งได้พลิกพื้นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการให้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้
เพลงประกอบภาพยนตร์เสือร้องไห้
สาวจันทร์กั้งโกบ พรศักดิ์ ส่องแสง
ลอยแพ พรศักดิ์ ส่องแสง
เสียความรู้สึก สายัณ สัญญา
พี่เมาวันเขาหมั้น แมน มณีวรรณ
หนูจำได้ครูสอน ป.1 พิมพา พรสิริ
คิดถึงพี่ไหม วันชนะ เกิดดี
(ฉบับเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์)
บทเพลงที่นำมาดัดแปลงใหม่ และแต่งขึ้นใหม่
คิดถึงพี่ไหม โดย siamese twin (แนวลูกทุ่งเพราะๆ)
สาวจันทร์กั้งโกบ โดย oscillator two (แนว อิเล็กโทรนิค เหมือน fatboy slim)
เสือร้องไห้ โดย อพาร์ทเม้นท์คุณป้า (แนวร๊อค โซว์ฟังก์)
เสือร้องไห้
เรื่องและเกร็ดภาพยนตร์
ภาพยนตร์แนว REALITY FILM
เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ จากผลงานการกำกับของ สันติ แต้พานิช ผู้กำกับที่มีผลงานมามากมายจากวงการทำหนังสั้นอย่างเรื่อง กท. 2541 ,ONE WAY TICKET, ร ฟ ท บ ข ส และสารคดีเบื้องหลัง หนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับไม่เป็นทางการ และล่าสุดเรื่องเสือร้องไห้ ภายใต้การโปรดิวซ์ของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ร่วมด้วย ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม, พงศ์นรินทร์ อุลิศ
เสือร้องไห้” เรื่องราวของการติดตามบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของคนอีสานกลุ่มนึงที่ต้องเข้ามาอาศัยและมีอาชีพต่างๆ อยู่ในกรุงเทพ ที่ต่างทั้งความฝันและจุดมุ่งหมาย ทีมงานใช้เวลาในการถ่ายทำร่วม 1 ปีเต็มใช้เทปบันทึกภาพไปกว่า 300 ม้วน แต่ต้องตัดออกมาให้ได้เท่ากับภาพยนตร์ที่จะฉายเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งทุกภาพบนแผ่นฟิล์มคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแม้แต่คนที่ปรากฏอยู่ในหนังหรือแม้แต่ทีมงานก็ตาม ไม่มีบท ไม่มีการคัตหรือเทคใหม่ ทุกชีวิตโลดแล้นไปโดยไร้การกำกับ เสียงหัวเราะหรือน้ำตาคือสิ่งหนึ่งที่ทีมงานพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว
โดยเรื่องนี้ได้ทำการติดตามบุคคลที่น่าสนใจจากภาคอีสานทั้งหมด 5 คน พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก บุคคลที่เคยอยู่บนที่สูงสุดของอาชีพและต่ำสุดแต่ไม่มีใครได้ล่วงรู้ เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก ดาราและนักแสดงตลกที่มากฝีไม้ลายมือ แรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเอง อาชีพตลกที่ไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะเสมอไป, แมนหัวปลา อดีตพนักงานโบกรถทีใส่ชุดสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหารปอกุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไป “ตลกคาเฟ่”, เนตรอินทรีเหล็ก สตั้นแมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ จาพนม หมายเลข 2 , พี่อ้อยสิงห์นักขับ taxi อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอ เส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ