ปภ. แนะการเตรียมตัวรับมือภาวะน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2009 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ปภ. ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เช่น กระบี่ พังงา ตรัง สตูล ระนอง รวมทั้งภาคเหนือ เช่น น่าน เชียงราย เป็นต้น ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอแนะวิธีการเตรียมสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม และวิธีการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ดังนี้ ก่อนเกิดอุทกภัย ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลุ่มริมแม่น้ำ ทางน้ำไหลผ่าน และที่ลาดเชิงเขา ควรปฏิบัติดังนี้ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รับฟังพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ให้พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ดังนี้ บ้านที่อยู่ในเขตชุมชน ตรวจสอบท่อระบายน้ำไม่ให้มีเศษขยะกีดขวางทางน้ำไหลของน้ำ หากพบว่ามีเศษขยะให้จัดเก็บหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะอาจไปอุดตันท่อระบายน้ำ บ้านที่อยู่ติดริมน้ำ ควรวางกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำรอบบ้าน และหมั่นสังเกตระดับน้ำในแม่น้ำ หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ให้รีบขนย้ายสิ่งของ โดยเฉพาะปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือทางน้ำไหล ควรจัดเวรยามเฝ้าระวัง และติดตามพยากรณ์อากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากสังเกตพบสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ให้รีบอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที อีกทั้ง ควรจัดเตรียมสิ่งของจำเป็น เช่น น้ำดื่ม เครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ยารักษาโรคและอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมใช้งาน ซ่อมแซมอาคาร สิ่งก่อสร้างรวมถึงเล้าสัตว์ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง รวมทั้งเคลื่อนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่สูงเพื่อให้พ้นระดับน้ำ และควรเตรียมเรือไม้ หรือแพไม้ไว้เป็นพาหนะในขณะน้ำท่วม ขณะเกิดอุทกภัย ควรตั้งสติให้มั่นคง อย่าตื่นตระหนก โดยควรปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณที่น้ำท่วม ไม่ขับขี่ยานพาหนะ ไม่เดินลุยน้ำหรือพายเรือเข้าใกล้บริเวณเสาไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด ไม่ลงเล่นน้ำ จับปลาบริเวณทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดไปกระแทกถูกสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุสิ่งของที่ลอยมา พร้อมกับน้ำ จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ รวมทั้ง ระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ ที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้านเรือน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเหยียบวัสดุอันตราย เช่น เศษแก้ว เศษกระเบื้อง ตะปู ที่อยู่ใต้น้ำจนได้รับบาดเจ็บ และถือไม้นำทางตลอดเวลา เพราะอาจพลัดตกหลุมบ่อที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็นได้ หากเหตุการณ์ร้ายแรงจนถึงขั้นต้องอพยพ ให้รีบอพยพไปในที่ปลอดภัยทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าทรัพย์สิน หลังเกิดอุทกภัย เมื่อระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้เก็บกวาด ทำความสะอาดถนนหนทาง บ้านเรือน รวมถึงซ่อมแซมบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว หากเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้รีบรื้อถอน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ รวมถึงแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งจัดเก็บซากสัตว์ที่ตายแล้วด้วยการฝังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอุทกภัย ประชาชนควรเตรียมรับมือด้วยการติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมรับมือภัยน้ำท่วม จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคและสิ่งของจำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ประชาชนควรเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายหรืออุบัติภัยที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ