นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ของขวัญปีใหม่สำหรับเด็กไทยทุกคน

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2010 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--พีอาร์ แอสโซสิเอท การศึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆตลอดชีวิต เมื่อคนในชาติมีการพัฒนาก็ทำให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ ได้ทุ่มเทการลงทุนพัฒนาคนในชาติก่อนหน้าที่ประเทศจะเริ่มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศเหล่านี้ได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทรัพยากรมนุษย์ของตน โดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมประเทศเหล่านี้จึงมีประชากรที่ได้รับการศึกษาในอัตราที่สูง ระบบการศึกษาของไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นจะอาศัย “วัด” เป็นสถานที่อบรมสั่งสอน ให้อ่านออกเขียนได้ ผู้ชายไทยทุกคนเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จะต้องเข้าสู่เพศบรรพชิต ในขณะที่บวชเรียนอยู่ที่วัดก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนมากขึ้นในด้านการเขียน การอ่านและวิชาช่างต่างๆ ส่วนสตรีไทยก็จะเน้นการอบรมเกี่ยวกับกิริยามารยาท การเย็บปักถักร้อยและงานประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับดอกไม้จากครอบครัวของตน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนในมณฑลต่างๆ โดยมีฆราวาสเป็นครูสอน การศึกษาก็กระจายออกไปสู่ประชาชนทั่วไป จนมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นอันดับต้นๆ เพื่อหวังให้การปฏิรูประบบการศึกษาบังเกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เมื่อได้จัดตั้งรัฐบาลจึงชูเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 ได้กล่าวถึงการศึกษาว่าเป็นสิทธิของคนไทยที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะต้องดำเนินตามนโยบายแห่งรัฐ และใจความนี้ก็ยังคงปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันได้นำ นโยบายการเรียนฟรี “อย่างมีคุณภาพ” เป็นเวลาถึง 15 ปี โดยรัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่าย 5 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำหรับเด็กไทยทุกคน ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับในด้านบวก ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจ“ประเมินผลงาน 1 ปี รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์" เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 11 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,660 คน เมื่อวันที่ 11-14 ธันวาคม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ให้คะแนนความพึงพอใจผลงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อทำงานครบ 1 ปี ได้คะแนนเฉลี่ย 3.87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยมีผลงานหรือโครงการของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดอันดับแรก คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ที่สำรวจากความคิดเห็นของประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศรวม 7,987 คน ระหว่างวันที่ 10-26 ธันวาคม 2552 สรุปว่า โครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นผลงานยอดเยี่ยมของรัฐบาลไทยในรอบ 1 ปีเช่นเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนงานรายละเอียดโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพในขั้นที่ 2 แล้ว การที่รัฐบาลทุ่มงบก้อนใหญ่สำหรับโครงการฯในขั้นที่ 2นี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่าไม่ใช่เพียงงบประมาณก้อนใหญ่ที่รัฐบาลได้ลงทุนไป แต่ยังเป็นการปฏิรูปแนวคิดให้เกิดขึ้นพร้อมกับโครงการเรียนฟรีนี้ด้วย แต่เดิมมาทุกรัฐบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้กับโรงเรียนของรัฐบาลอยู่แล้ว แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยรัฐบาลก็มีงบประมาณสนับสนุน แต่แนวคิดของโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพต่างไปจากเดิม ตรงที่เดิมรัฐบาลมอบเงินให้โรงเรียนไปจัดหาสิ่งต่างๆ แต่การให้งบแบบนี้ยังไม่ถึงตัวเด็ก ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กไม่มาเข้าเรียนได้ เพราะยากจนและขาดเงินที่จะไปซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์การศึกษา ดังนั้นนโยบายใหม่นี้รัฐบาลมอบเงินผ่านโรงเรียนตรงมาถึงมือของผู้ปกครองนำไปจับจ่ายเป็นค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่ผู้ปกครองเคยต้องจ่าย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะเมื่อผู้ปกครองมีเงินจ่ายค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์ก็ส่งลูกมาเรียนโรงเรียนได้ ส่วนเงินค่ากิจกรรมพิเศษรัฐบาลก็มอบให้โรงเรียนนำไปจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้แต่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี สรุปก็คือความหมายของคำว่าเรียนฟรี ทีผ่านมา คือรัฐบาลให้จัดงบสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับในการเรียนในแต่ละระดับชั้น ให้แก่ผู้ปกครอง และหากแต่ละโรงเรียนมีกิจกรรมเพิ่มเติมนอกเหนือจากเกณฑ์ปกติเช่นกิจกรรมทัศนศึกษา ทางโรงเรียนจะแจ้งค่าใช้จ่ายให้ทราบ และผู้ปกครองสามารถเลือกรับบริการได้ตามความสมัครใจ หลากหลายทัศนคติของผู้ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับของโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ อาจารย์ วรรณพงค์ ขันติสิทธิ์ กรรมการบริหาร และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน จักรคำคณาทร จ. ลำพูน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขนาดใหญ่ มีนักเรียน 3,290 เป็นผู้รับผิดชอบด้านแผนงานงบประมาณของโรงเรียน ให้ความเห็นว่า การให้ของรัฐบาลครั้งนี้เป็นการให้ที่ “ครบหมด” และสามารถจัดงบลงสู่นักเรียนได้เลย ไม่มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ และในภาพรวมสามารถทุ่นค่าใช้จ่ายผู้ปกครองได้เบ็ดเสร็จ อาจารย์วรรณพงค์ให้ความเห็นว่าโครงการนี้ได้สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อรัฐบาลมอบเงินสนับสนุนด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนซึ่งหมายถึงการพาไปทัศนศึกษา การจัดกิจกรรมพิเศษ เมื่อรัฐสนับสนุนเด็กนักเรียนทุกคนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ในขณะที่แต่เดิมโรงเรียนต้องเก็บเงินจากผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนที่ผู้ปกครองไม่มีเงินไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ ในความเห็นของอาจารย์วรรณพงค์ การทำกิจกรรมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักเรียน เพราะได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และโรงเรียนมีความพร้อมมากขึ้นอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่ต้องเคยขอบริจาคจากผู้ปกครองเดี๋ยวนี้ก็มีใช้มากขึ้น ส่วนเรื่องการบริหารงบประมาณ ก็มีการควบคุมที่ดี เพราะอยู่ในความดูแลของภาคี 4 ฝ่ายคือตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน ตัวแทนครู และตัวแทนนักเรียน เมื่อจะมีการใช้งบประมาณด้านไหนก็มีการประชุมกัน ซึ่งทุกฝ่ายต้องเห็นชอบด้วยจึงจะทำได้ อาจารย์รุจิรดา วรรณศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองแหนวิทยา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบลขนาดเล็ก มีนักเรียนประมาณ 300 กว่าคน เล่าว่าโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ของรัฐบาลให้ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัดคือ ตั้งแต่มีนโยบายนี้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น อัตราการเรียนต่อเพิ่มขึ้นเช่นห้องเรียนหนึ่งห้องที่เคยมีนักเรียนเหลืออยู่ 30 คนเมื่อจะขึ้นชั้นใหม่ก็จะกลายเป็น 35 คน เป็นต้น “เมื่อก่อนนี้นักเรียนยังเรียนไม่จบ อายุยังไม่ครบ 15 พ่อแม่มาพาตัวหนีไปประกอบอาชีพ ทั้งๆที่เขายังไม่ถึงวัยประกอบอาชีพ แต่เดี๋ยวนี้ต้นปีมีเด็กกี่คน ปลายปีก็เหลือเท่าเดิม” ที่สำคัญทั้งครูและนักเรียนต่างมีความสุขกันดี อาจารย์รุจิรดาในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหายเหนื่อยไปมาก เพราะไม่ต้องคอยหาสิ่งที่นักเรียนขาดแคลนมาให้ “เมื่อก่อนนี้ดิฉันและครูคนอื่นๆด้วย ต้องออกเยี่ยมบ้านนักเรียนบ่อย พบว่าขาดแคลนก็ต้องจัดหามาให้ อย่างเราเคยต้องจัดผ้าป่าหาเงินมาช่วยเหลือนักเรียน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องวิ่งทอดผ้าป่าอีกแล้ว” อาจารย์รุจิรดากล่าวว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนการสร้างพื้นฐานที่ดี และทำให้ต่อยอดด้านอื่นได้ เมื่อเด็กๆไม่มีห่วงกังวลก็ตั้งใจเรียน สำหรับครูเมื่อลดภาระไม่ต้องวิ่งเต้นหาเงินมาช่วยเด็กก็ตั้งใจสอน ทุกคนมีความสุข การอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น “เมื่อเด็กมีโอกาสเล่าเรียนมากเขาก็จะช่วยกันพัฒนาประเทศได้ทุกภาคส่วน รู้สึกขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยให้เด็กกลับมาเรียนมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้นและมีความสุขขึ้น อาจารย์รุจิรดายังเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า โรงเรียนหนองแหนวิทยาแห่งนี้ยังเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานปี 2549 และมีนักเรียนทุนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฏราชกุมาร หนึ่งในสองของทั้งจังหวัด ในด้านความเห็นของผู้ปกครองต่อโครงการเรียนฟรี 15 ปีฯ นี้ เสียงสะท้อนของผู้ปกครองส่วนใหญ่แล้วพอใจ ส่วนภาระเรื่องค่าใช้จ่ายของบุตรหลานที่จะต้องจ่ายเพิ่มเติมเช่นการจ่ายเพิ่มเติมเพื่อจ้างครูต่างประเทศ ผู้ปกครองทุกคนมองตรงกันว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและยินดีที่จะสนับสนุนเพื่อให้ลูกๆ ประสบความสำเร็จในเรื่องการของศึกษา นางศรินทร ชื่นมนุษย์ หนึ่งในผู้ปกครองในกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องที่ดี เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐควรให้กับประชาชน เพราะเท่าที่ทราบในหลายประเทศเขาก็มีโครงการเรียนฟรีให้กับประชาชนของเขาอยู่แล้ว และทำกันอย่างจริงจัง อยากให้รัฐบาลขยายผลของโครงการให้ได้ต่อเนื่อง เพราะจะเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง และเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองได้บ้างถึงแม้ว่าจะไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดก็ตาม แต่เมื่อมีการเริ่มต้นที่ดี และจริงจังก็น่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน” นางศรินทรเล่าเพิ่มเติมว่า “ลูก 2 คน ปัจจุบันนี้กำลังเรียนอยู่ในระดับม.1 และ ม.4 ได้รับเงินสนับสนุนตามโครงการนี้เป็นค่าเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุดต่อปี ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งก็ยังไม่รวมค่ารองเท้า ถุงเท้า เข็มขัด ว่าต้องมีเครื่องแบบนักเรียนเพิ่มมาอีก 2 ชุดสำหรับค่าอุปกรณ์การเรียนก็อีกเช่นกัน ในความเป็นจริงเงินจำนวนเท่านี้ไม่พอค่าอุปกรณ์การเรียนแน่นอนทั้ง สมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด และยังไม่รวมถึงว่านักเรียนชั้นมัธยมต้องทำรายงานส่งอาจารย์ประจำวิชาบ่อยๆ ทั้งค่าปกทำรายงาน เย็บเข้าเล่ม และยังมีอุปกรณ์ที่ต้องซื้อประกอบการเรียนในวิชาต่างๆ อีกซึ่งโดยส่วนตัวถือว่าไม่ได้เป็นภาระอะไรมากมาย ยินดีที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เด็กเป็นผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากโครงการนี้ ความคิดเห็นของเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม เสียงของเด็กจะเป็นพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้ก้าวต่อไป เด็กหญิงนุดี บัวศรี นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนสามเสน เล่าว่า “ปีที่แล้วหนูกับผู้ปกครแงได้รับเงินช่วยปีละ 600 บาท เป็นค่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน โดยเอาใบเสร็จมาเบิก แต่ปีที่แล้วยังต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษาเทอมละ สองพันสองร้อยบาท โรงเรียนได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบว่าเพื่อจ้างครูภาษาอังกฤษมาสอนสัปดาห์ละครั้ง เมื่อปีที่แล้วได้จ่ายค่ากิจกรรมพิเศษ แต่ได้รับแจ้งว่าปีต่อไปจะได้ไปทัศนศึกษาฟรี หนูรู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่มองเห็นความสำคัญและอาจจะเป็นเงินที่ไม่มากสำหรับบางคน แต่ก็ยังช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้บ้าง” ส่วนเด็กชายไพบูลย์ แสนแป้ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนเอกชนเล่าว่า ปีที่แล้วได้รับเงินค่าหนังสือ 1,000 บาท และจ่ายค่าหนังสือและค่าเทอมบางส่วน รวมทั้งค่ากิจกรรมพิเศษด้วย อย่างไรก็ดีก็ดีใจมากที่ได้รับแจ้งว่าในปีการศึกษาหน้า นอกจากจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเครื่องแต่งกายและค่าหนังสืออุปกรณ์เรียนแล้ว จะได้ทำกิจกรรมนอกสถานที่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวม 2 ครั้ง ผลสำรวจและความคิดเห็นในมิติต่างๆ น่าจะสะท้อนได้ว่าหลายครอบครัวไทย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างครู นักเรียน น่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการได้พัฒนาคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับการบรรเทาภาระค่าครองชีพ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างตั้งหน้าตั้งตาคอยที่จะรับ ของขวัญปีใหม่ชิ้นนี้อย่างใจจดจ่อ และต้องการให้รัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงดำเนินตามนโยบายนี้ต่อไปในปี 2553 โดยนโยบายนี้จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการที่จะยกระดับการศึกษาให้กับเด็กไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ขอเพียงแต่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6518989

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ