พม.จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม หนุนเด็ก ๕ จังหวัดชายแดนใต้ เรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน หวังเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตในสังคมท่ามกลางความหลากหลาย

ข่าวทั่วไป Friday April 30, 2010 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--พม. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ก่อให้เกิดความหวาดระแวงจนอาจลุกลามไปสู่ความแตกแยกทางศาสนา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จึงจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เกิดความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความหวงแหนและรักแผ่นดินเกิดของตนเอง รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม นายอิสสระ กล่าวต่อว่า การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ -๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ปิยวรรณรีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับสมัครเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างเด็กในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดในภาคอื่นๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและดำรงชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ เฉกเช่นพันธุ์ไม้ที่หลากสี หลายพันธุ์ ต่างก็มีความงดงามในตนเอง และยังคงอยู่ได้แม้ในสถานการณที่ไม่พึงประสงค์ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน ให้มีการพัฒนาตนเอง ครอบครัว รวมทั้งชุมชนต่อไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย เด็กจากพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) จำนวน ๖๐ คน และครอบครัวรับรองที่สมัครเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน ๖๐ ครอบครัว “ กิจกรรมในโครงการฯ ประกอบไปด้วย ๓ กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน โดยเรียนรู้การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาค ซึ่งจะให้เด็กพักกับครอบครัวรับรองเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน และกิจกรรมสุดท้าย คือ กิจกรรมสรุปบทเรียนและประเมินผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการทั้งหมดที่ผ่านมา ทั้งการแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตของคนในภาคอื่น ซึ่งส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะชีวิต รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าวัฒนธรรมไทยและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ” นายอิสสระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ