นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กรณี โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2004 13:26 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กรณี โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
1. ความเป็นมา
เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การกระจายรายได้ การเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคล รวมถึงพัฒนาระบบวิธีคิด อันนำไปสู่การอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศให้มั่นคงและเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดให้รัฐดำเนินการตามหมวด 5 “ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ” ดังปรากฏอยู่ในมาตรา 71 ถึงมาตรา 88
โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 มาเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมอย่างประสานสอดคล้อง นั่นหมายถึงว่า นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวกระแสหลัก (ตามกระแสโลก)แล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในกระแสอื่นหรือเศรษฐกิจพอเพียงที่มีพื้นฐานความคิดเชื่อมโยงกับชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย ซึ่งรัฐจะต้องตระหนักและละเลยมิได้
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานความสัมพันธ์กับเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีความเห็นว่า การดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นภาระหน้าที่ของรัฐนั้นควรต้องศึกษาและประเมินว่าสามารถบรรลุเป้าหมายหรือไม่ โดยเลือกติดตาม และประเมินผลเฉพาะกรณีโครงการ “ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ” เนื่องจากเห็นว่าเป็นมาตรการส่งผลต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งต่อวิถีชีวิต ระบบคิด และสภาพสังคมโดยรวมของชุมชน คณะทำงานความสัมพันธ์กับเครือข่ายภาคประชาชน จึงได้ดำเนินการศึกษาและประมวลจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กรณีโครงการ ”หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ปรัชญาโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อต่อสู้กับความยากจน เมื่อพ.ศ. 2544 โดยมีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมประเพณี และการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อก่อให้เกิดรายได้ของชุมชน ดังนี้
1. นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นสินค้าหรือบริการอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนเป็นที่ยอมรับของสากล
2. เป็นการนำศักยภาพของท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ หรือความชำนาญที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นสินค้า หรือการบริการด้วยความคิดอย่างสร้างสรรค์ และนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง
3. เป็นการกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นสร้างรายได้ด้วยตนเอง
2. วัตถุประสงค์
เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล ในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กรณีโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมบรรลุตามเป้าหมายและปรัชญา
3. การดำเนินงาน
3.1 ศึกษาจากเอกสาร รายงาน บทความทางวิชาการ ข้อมูลจากอินเตอร์เนต และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ทั้งข้อมูลจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และจากองค์กรพัฒนาเอกชน
3.2 จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
- การสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจชุมชนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้ง 4 ภาค รวม 4 ครั้ง คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในปี 2547 ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะจากคนในชุมชน
- การสัมมนาเชิงปฏิบติการเรื่อง แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานรัฐ เมื่อวันที่ 24 — 25 กรกฎาคม 2547 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
3.3 การศึกษา โดย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน สถาบันราชภัฏพระนคร ร่วมกับมูลนิธิสายใยชุมชนรับผิดชอบดำเนินการศึกษาโครงการสังเคราะห์สภาพเศรษฐกิจชุมชนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
3.4 การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการส่งออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตลอดจนเครือข่ายกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น
3.5 ศึกษาดูงานในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครพนม
3.6 ความเห็นและข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจจากการประชุมระดับประเทศ “ 3 ปีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : สะท้อนเสียงจากประชา ... ให้คำปรึกษาสู่รัฐ ” เมื่อวันที่ 4 — 5 กันยายน 2547 ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี
3.7 สัมภาษณ์เชิงลึกนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีผลงานศึกษาเกี่ยวกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กับงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
4. ผลการดำเนินการศึกษาจากรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าและหลักประกันสังคม ปี 2546 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4.1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบในท้องถิ่น ประสบความสำเร็จร้อยละ 32.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 7,753 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ (ที่สำเร็จ) เป็นการ ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชุมชน มีทั้งความหลากหลายและคุณภาพดีขึ้นกว่าของเดิม แต่ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่น 461 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
4.2 การพัฒนาด้านการตลาด เช่น การเพิ่มยอดขายและแหล่งจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 30.7 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในที่ต่างๆ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ80 พื้นที่การจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และมีแนวโน้มขยายไปนอกภูมิภาคมากขึ้น
4.3 การสร้างเอกลักษณ์ของสินค้ายังไม่ประสบความสำเร็จยังอยู่ในระดับเริ่มต้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ใช้สัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ความโดดเด่นที่เป็นจุดขายของสินค้าขาดหายไป และอาจทำให้ยอดขายลดลงในอนาคต มีเพียงร้อยละ 39.8 เท่านั้นที่ทำได้
4.4 ความเข้มแข็งของชุมชน ชุมชนมีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพและพัฒนาระบบเครือข่ายมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ภายในกลุ่มมีการบริหารจัดการดีขึ้นทั้งด้านระบบบัญชีและการมีส่วนร่วมของสมาชิก แต่การระดมทุนภายในกลุ่มกันเองยังมีค่อนข้างน้อย
4.5 รายได้ของสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนกลุ่มทั้งหมดที่มี โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ
4.6 ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 66 และร้อยละ 60 เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น
4.7 ผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอาหารและยา (อย.) มาตรฐานฮาลาล มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพราะการส่งเสริมการให้มาตรฐานจากภาครัฐนิยมทำจากการผ่านงานแสดงสินค้า หรือการจัดอบรมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น
4.8 ผลทางเศรษฐกิจพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรเป็นผลิภัณฑ์ดีเด่น มีรายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ส่วนผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือกลุ่มคนส่วนใหญ่จะมีหนี้สินต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นหนี้ลูกโซ่
4.9 การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
4.9.1 ตั้งแต่ ปี 2541 กรมส่งเสริมการส่งออกได้นำกลุ่มผู้ส่งออก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และตัวแทนการค้า ไปให้คำแนะนำด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์และความรู้ด้านการตลาดแก่กลุ่มผู้ผลิตในภูมิภาค เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจและรู้จักการวางแผนการขาย
4.9.2 คัดเลือกกลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศของกรมส่งเสริมการส่งออก เช่น งานแสดงสินค้า Made In Thailand เพื่อให้ผู้ผลิตได้ประสบการณ์และรูปแบบการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเข้าร่วมงานจาก 75 จังหวัด รวม 250 กลุ่ม นับตั้งแต่ปี 2542 ถึง 2545
4.9.3 ร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมการค้าของต่างประเทศ อาทิ Jetro และ Asean Promotion Center ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเข้าไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่น
4.9.4 จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงนิทรรศการสินค้า OTOP ในงานระดับนานาชาติของกรมส่งเสริมการส่งออก
4.9.5 จับคู่ทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการ (Trader) กับผู้ผลิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านตลาดต่างประเทศ โดยนำสินค้าไปทดสอบตลาด รวมทั้งเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
4.9.6 การจัดแสดงสินค้า OTOP SHOP ที่อาคาร Thailand Export Mart เพื่อเป็นศูนย์รวมของสินค้า OTOP ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว
รายละเอียดในข้อที่ 4.9 เป็นงานและแผนงานที่กรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์เตรียมการรองรับสินค้าเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจากข้อมูลที่ได้จากเวบไซต์ของกรมส่งเสริมการส่งออก มิได้ระบุว่าผลการดำเนินงานเป็นเช่นไร
5. ผลการศึกษา
5.1 ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ
ผลกระทบเชิงบวก
ในกรณีที่สินค้าได้รับการคัดเลือกว่าเป็นสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่มีศักยภาพพัฒนาได้จะได้รับผลเชิงบวกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
1. ชุมชนมีการคิดอย่างเป็นระบบ โดยได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากทางหน่วยงานที่จัดการฝึกอบรม จัดให้มีการศึกษาดูงาน และส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงความรู้ด้านการบริหารจัดการในลักษณะการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้ง 4 ด้าน คือ
- ด้านการจัดหาและแปรรูปวัตถุดิบ
- ด้านการควบคุมคุณภาพสินค้า และการบรรจุหีบห่อ
- ด้านการจัดการด้านการตลาด
- ด้านการจัดการด้านบัญชี
2. ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในชุมชน เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐส่งเสริมเงินทุนจึงถูกระดมผ่านหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และหน่วยงานในส่วนกลาง
3. คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในภาพรวม เนื่องจากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้บุตรหลานมีโอกาสรับการศึกษาสูงขึ้น อัตราไปทำงานต่างถิ่นลดลง และมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น
ผลกระทบเชิงลบ
1. ผลกระทบด้านสังคม
- ด้านวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีเป้าหมายและมาตรการในการส่งเสริมให้คนเข้าสู่ระบบธุรกิจ คือ การค้าขาย จึงทำให้วิถีชีวิตของคนในชนบทส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ถูกเปลี่ยนไปเป็นวิถีชีวิตแบบเมืองมากขึ้น นั่นคือ แต่เดิมผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ การอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปัน มาเป็นผลิตเพื่อขายแล้วนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยเป็นเหตุให้ผลิตจำนวนมาก
- ทรัพยากรถูกนำมาใช้จำนวนมากจนเกิดการผลิตทดแทนไม่ทัน สูญเสียความสมดุลย์ทางธรรมชาติ และนำไปสูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- ทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากเกิดการลอกเลียนไปผลิตเป็นอุตสาหกรรม การผลิตที่เกิดจากงานภูมิปัญญาจะเป็นการผลิตรายชิ้น ใช้เวลามาก แต่ผลงานจะไม่มีซ้ำแบบกันมีความละเอียดและสร้างสรรค์ในแต่ละชิ้นงาน ต่างจากงานแบบอุตสาหกรรมที่ยึดหลักผลิตจำนวนมากๆ รูปแบบซ้ำๆ และใช้เวลาผลิตในแต่ละชิ้นงานไม่มาก ราคาจึงถูก จึงมาแย่งตลาดของผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่ราคาแพงกว่า ถ้าสินค้าภูมิปัญญาเข้าสู่ตลาดโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่มาลงทุนให้ผู้ผลิตจะได้เพียงค่าแรงเท่านั้น
- ทางด้านครอบครัว เนื่องจากการพึ่งพิงตลาดภายนอก จึงทำให้กลุ่มที่เป็นตัวแทนในการนำสินค้าไปจำหน่ายต่างถิ่นต้องเดินทางลำบากและเป็นเหตุให้กระทบกับความอบอุ่นภายในครอบครัว
- กลุ่มผู้ผลิตไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและนายทุนที่แอบอ้างความเป็นกลุ่ม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาแย่งทรัพยากรและตลาดจากชุมชน
- การสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้น้อยลง และคอยแต่จะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือภาคนอกชุมชนมากขึ้น
2. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
จากการสำรวจข้อมูลของภาครัฐ แม้พบว่าหนี้สินของครัวเรือนลดลง แต่จากการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ร่วมโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทั้ง 4 ภาคและสืบค้นจากงานวิจัยของนักวิชาการพบว่า การชำระหนี้เป็นการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อไปชำระหนี้อีกแหล่งหนึ่งเป็นทอดๆ ที่เรียกว่า หนี้ลูกโซ่ และยังมีการนำเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกจากใช้เพื่อการผลิตและพัฒนาสินค้า
3. ผลกระทบด้านสุขภาพ
- การผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย นำไปสู่การเจ็บป่วย เช่น กลุ่มทอผ้า มีอาการปวดเมื่อยตามตัว แขนขาชา คอแห้ง แสบตา เป็นอาการที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ย้อมผ้า
- เกิดความเครียดจากความวิตกกังวล ที่ต้องเร่งการผลิตให้ทันตามกำหนดเวลาที่ ผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางกำหนดมา ถ้าผลิตไม่ทันหรือช้ากว่ากำหนดสินค้าจะถูกลอกเลียนแบบโดยกลุ่มอื่น
4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากการที่ต้องเร่งสร้างทรัพยากรขึ้นมาทดแทนทรัพยากรที่ถูกใช้ในระบบการผลิตจำนวนมากๆ เพื่อการขาย จึงต้องพึ่งสารเคมีมาใช้ในการปลูกทดแทนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ในกลุ่มที่ทำการทอผ้าและใช้สีย้อมเป็นสารเคมี ทั้งสองตัวอย่างก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำและดิน
5.2 ปัญหาในการดำเนินงานของกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพในการพัฒนา
1. ปัญหาเครือข่ายของกลุ่มผู้ผลิตและชุมชน ไม่มีขีดความสามารถและศักยภาพในเชิงธุรกิจ เนื่องจาก
- ขาดข้อมูลข่าวสาร และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และนโยบายของรัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพราะการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐน้อย นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลที่ช่วยในการผลิต เช่น ข้อมูลวัตถุดิบ ความรู้และเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า รวมทั้งความรู้ในด้านการบริหารจัดการ การตลาด ยังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเพียงพอ
- ขาดการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ทำให้เกิดการผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในหลายพื้นที่ เช่น งานทอผ้าที่มีลวดลายและสีเหมือนกันในหลายหมู่บ้านของภาคอีสาน ทำให้เกิดการแข่งขันด้านการตลาด
ชุมชนขาดความสามารถในการจัดการเงินทุนที่มีอยู่หลายกองทุนในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น กองทุนออมทรัพย์ชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
2. ปัญหาของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
- การแปลงนโยบายของรัฐในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐยังขาดการประสานงานที่ดีพอ ทำให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ
- การกำหนดนโยบายในการส่งเสริมโครงการของภาครัฐ เป็นการกำหนดจากศูนย์กลาง ( Top — Down Policy ) ขาดการศึกษาข้อมูลของชุมชน ทำให้กิจกรรมต่างๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นจริงของชุมชน และภาครัฐไม่แยกกลุ่มประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมออกจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชนอย่างชัดเจน มีผลให้การสนับสนุนไม่ถึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในชุมชนโดยตรง เป็นเหตุให้ผู้ผลิตสินค้าในชุมชนขาดโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร
- การสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชน และการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบชุมชนมีส่วนร่วมยังมีน้อย ทำให้การกำหนดนโยบายขาดมุมมองจากภาคประชาชน
- ปัญหาด้านความรู้ ความสามารถ และทัศนคติของบุคลากร ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานภาครัฐ เช่น ทักษะในการเป็นวิทยากรกระบวนการยังไม่ดีพอ และทัศนคติต่อชุมชนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐแต่ละหน่วยงานยังมีความแตกต่างกัน
- การสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคม เช่น ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนเอกชน และนักวิชาการเข้ามาร่วมในการพัฒนายังมีน้อย
6. ข้อเสนอแนะ
การนำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมาย เพื่อการมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง การสร้างงาน สร้างรายได้ ที่มาจากการนำภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาพัฒนาและประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ไปสู่เป้าหมายการเพิ่มรายได้ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกด้านนั้น ขอเริ่มต้นด้วยการกำหนดหลักการพื้นฐาน จากนั้นจึงนำเสนอยุทธศาสตร์
6.1 หลักการพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาคุณภาพ
หลักการพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มิได้มุ่งที่การผลิตสินค้าโดยมุ่งหวังกำไรสูงสุดเฉกเช่นเดียวกับระบบอุตสาหกรรม จนนำไปสู่การทำลายคุณภาพชีวิต ทำลายระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการผลิตจำนวนมาก จนเกิดการแก่งแย่งแข่งขันด้านการตลาดไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการอยู่กันอย่างเกื้อกูล พึ่งพากัน อันเป็นการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
6.1.1 ชุมชนต้องมีแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ยอมรับภูมิปัญญาและศักยภาพของตนเองและของชุมชน สามารถสร้างฐานความรู้ที่เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมของชุมชน
6.1.2 สร้างการยอมรับภายในชุมชนว่า การแลกเปลี่ยนสินค้าภายในชุมชนเป็นการช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชิตดีขึ้น ทำให้ชุมชนมีเงินหมุนเวียนอย่างทั่วถึง
6.1.3 ให้ชุมชนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นรากฐานในการดำรงชีวิต มีความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่รอให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ แต่สามารถหาความช่วยเหลือจากเครือข่ายต่างๆ ได้ เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างสมศักดิ์ศรี
6.2 ข้อเสนอยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมและการพัฒนา ต้องยึดหลักชุมชนเป็นศูนย์กลางและการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกกระบวนการ
1. นโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ต้องใช้ฐานของชุมชนเป็นหลัก เช่น ฐานองค์ความรู้ (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) ฐานวัฒนธรรมของชุมชน (วิถีชีวิต) ฐานทรัพยากร ท้องถิ่นและฐานอาชีพของชุมชน
2. ส่งเสริมให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อให้เกิดผลิตภาพภายในชุมชน ก่อให้เกิดการบริโภคภายในชุมชน และในที่สุดทำให้ชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์
3. ทุกกระบวนการต้องให้คนทุกภาคส่วนในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดในทุกขั้นตอน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
1. กระตุ้นให้ท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความสำคัญและเรียนรู้โดยการสัมผัสจริง
2. โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยภาครัฐทำการประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลายทั้งภายในและนอกประเทศ
3. รัฐต้องสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตในแต่ละชุมชน
4. ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชมจนเกิดการแสวงหามาบริโภค
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนสู่ตลาดสากลแบ่งคำนิยามของกลุ่มผู้ผลิตออกเป็น 4 ประเภท
1. กลุ่มสินค้าที่เน้นการรักษาเอกลักษณ์ของไทย และผลิตด้วยมือ พร้อมกับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น
2. กลุ่มสินค้าที่สามารถส่งออกได้ ซึ่งรัฐช่วยหาตลาดต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม
3. รัฐต้องสร้างกลไกต่าง ๆ ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม จัดให้เป็นสินค้าส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีภาคเอกชนมาสนับสนุน
4. รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริม สนับสนุน การส่งออกสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของชุมชน
1. ส่งเสริมให้มีหลักสูตรชุมชนในระบบโรงเรียนและสอน โดยคนในชุมชนเองเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาไปสู่คนรุ่นหลัง และเป็นการสืบทอดไม่ให้สูญหาย รวมทั้งการพัฒนาความรู้เหล่านั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปรัชญาโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
2. ส่งเสริมให้เด็ก ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการ และนักพัฒนาองค์กรเอกชน ร่วมสร้างฐานข้อมูล และรวบรวมองค์ความรู้ภายในชุมชน
3. ฝึกฝน อบรมจนคนในชุมชนสามารถทำวิจัย เก็บข้อมูลต่างๆ ของชุมชนได้ด้วยตัวเอง เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมด้านการบริหารจัดการ
1. รัฐต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการที่ดี รู้จักใช้ระบบฐานข้อมูลเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
2. ดำเนินการให้ชุมชนสามารถนำกองทุนต่างๆ มาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการรู้จักระดมทุนจากชุมชนจนเกิดการพึ่งพาตนเองของชุมชนสร้างเครือข่ายเพื่อการพึ่งพาซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินระหว่างเครือข่าย
3. ต้องเรียนรู้จัดการการตลาดและประชาสัมพันธ์ เรียนรู้ที่จะทำงานภาคธุรกิจ เอกชนอย่างเท่าเทียมกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การรักษาดุลยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. รัฐต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแล บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ นโยบายใดๆ ของรัฐที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
2. นโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของรัฐต้องสร้างระบบที่เอื้อให้ชุมชนร่วมกันกำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรของชุมชน เพื่อการดำรงชีวิตมิใช่เพื่อการค้า
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ