In Focus:สหรัฐสะท้าน AIIB เปิดยุคจีนแผ่อิทธิพลการเงิน ขณะไทยยิ้มรับอานิสงส์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 25, 2015 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันการเงินระดับโลกแห่งใหม่ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมาก คือ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) โดยธนาคารแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร และจะกระทบต่อดุลอำนาจทางการเงินของยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอย่างไร รวมทั้งไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากธนาคารแห่งนี้ คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest ขอทำหน้าที่รายงานต่อผู้อ่านทุกท่านดังนี้

AIIB เป็นสถาบันการเงินน้องใหม่ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลจีน ภายใต้เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในเอเชีย โดย 21 ประเทศแรกที่ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ จีน ไทย เมียนมาร์ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล มองโกเลีย คูเวต โอมาน กาตาร์ คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งบรรดารัฐมนตรีคลังของประเทศเหล่านี้ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) อย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้มีอีกหลายประเทศแสดงความสนใจขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งของ AIIB โดยล่าสุด ณ วันที่ 24 มีนาคม 2558 มีอีก 13 ประเทศที่แสดงความจำนงขอเข้าร่วม AIIB ซึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย ทาจิกิสถาน ฮ่องกง และมัลดีฟส์

จีนกำหนดเงื่อนเวลาให้ประเทศต่างๆ ตอบรับเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ขณะที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง AIIB จะจัดการประชุมที่เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถานในวันที่ 29-31 มีนาคม เพื่อหารือถึงเนื้อหาต่างๆในข้อตกลง และคาดว่า AIIB จะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

AIIB ถูกก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดของทางการจีนภายใต้ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ในช่วงปลายปี 2556 ที่ต้องการเสนอความช่วยเหลือด้านการเงินและแหล่งเงินทุนทางเลือกให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือทางการเงินในระดับพหุภาคี สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันในภูมิภาค โดยเน้นหนักการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน การสื่อสาร อุตสาหกรรม การเกษตร การพัฒนาชุมชนเมือง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน จีนต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการคลังระหว่างประเทศและการเมืองที่จะไม่ถูกชาติตะวันตกเข้ามาครอบงำเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนั้นจีนยังอ่อนแอ ยากจน แต่ตอนนี้จีนเป็นชาติมหาอำนาจอันดับสองของโลก ซึ่งมีทั้งเงินและอำนาจ

ในเบื้องลึกนั้น การเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง AIIB ของจีน แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของจีนต่อความล่าช้าในการปฏิรูปในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งถูกควบคุมโดยชาติตะวันตก และไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น จึงทำให้จีนมีความต้องการที่จะเพิ่มบทบาทในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังต้องการถือโอกาสนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จำนวนมหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการลงทุนและการเมืองระหว่างประเทศ โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เงินทุนสำรองส่วนใหญ่ กลับถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเพียง 2-3% ต่อปี เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่จีนถือครองอยู่กว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ทางการจีนมองหาช่องทางในการใช้ทุนสำรองผ่านการลงทุนรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร เช่น การจัดตั้งธนาคารหรือการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรสหรัฐจำนวนมากแล้ว ยังเปิดโอกาสให้จีนผลักดันเงินหยวนไปสู่การเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกด้วย

ที่ผ่านมา จีนได้ค่อยๆ นำเงินหยวนไปสู่ความเป็นสกุลเงินการค้าและธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ทำสัญญาธุรกรรมเงินหยวนกับบาท โดยต่างมีสำนักงานตัวแทนแลกเปลี่ยนกัน

ในกลุ่มประเทศ BRICS อันมี บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่างก็ยอมรับหยวนเป็นเงินตราสกุลการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับตะวันออกกลางนั้น หยวนไม่มีปัญหา เนื่องจากในช่วงที่ชาติตะวันตกพากันบอยคอตอิหร่านกรณีทดลองอาวุธนิวเคลียร์นั้น จีนไม่ร่วมบอยคอตและยังซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านอย่างต่อเนื่อง ทำให้อิหร่านยอมรับจีน โดยให้จ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินหยวน

ส่วนกลุ่มโอเปกก็ยอมรับหยวน เพราะไม่พอใจต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์

และการที่ AIIB จะใช้นครเซี่ยงไฮ้เป็นที่ตั้งสำนักงานด้วยแล้ว ยิ่งเป็นนัยว่าหยวนจะเป็นสกุลเงินกลางสำหรับการทำธุรกรรมการเงินของธนาคารใหม่แห่งนี้

นอกจากนี้ จีนยังจะได้รับผลพลอยได้จากการผลักดันวิสาหกิจจีนออกไปสู่ตลาดของประเทศสมาชิกที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก AIIB โดยคาดว่าจีนจะยื่นข้อเสนอแก่ประเทศสมาชิก ให้มีการทำข้อตกลงว่าจ้างวิสาหกิจจีนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง พร้อมทั้งใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันในรูปเงินหยวน ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางให้บรรดาบริษัทเอกชนของจีนได้รับงานโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศสมาชิก และยังเพิ่มโอกาสให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย

ตามกรอบแผนการดำเนินงานเบื้องต้นนั้น AIIB มีเงินทุนพื้นฐานตั้งต้นอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในระยะถัดไป โดยทางการจีนจะเป็นผู้ออกเงินก้อนแรกให้ถึง 50% ของเงินทุนตั้งต้น หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้นจะรวบรวมเงินส่วนที่เหลือจากชาติสมาชิกตามสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยนั้น คาดว่าจะสามารถร่วมสนับสนุนเงินลงทุนได้ราว 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.6 แสนล้านบาท โดยในเบื้องต้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่าจะใช้เวลาในการระดมทุนประมาณ 5-7 ปีผ่านการออกพันธบัตรระดมทุน และทยอยชำระเป็นงวดๆ

แม้วงเงินลงทุนในระยะเริ่มต้นของ AIIB จะอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับของธนาคารโลก ที่ระดับ 2.20 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ระดับ 1.75 แสนล้านดอลลาร์ แต่ AIIB ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในแง่ของสถาบันการเงินที่เป็นทางเลือก เนื่องจากธนาคารโลกและ ADB มีขีดความสามารถในการให้เงินกู้ลดน้อยลงไปมาก จากการที่เศรษฐกิจทั่วไปตกต่ำ ทำให้เงินทุนลดน้อยลง นอกจากนี้ องค์กรทั้ง 2 มักเน้นการปล่อยกู้เชิงสังคมในการลดความยากจน และมีระเบียบข้อบังคับมากมายในการพิจารณาให้เงินกู้ พร้อมกับมีมาตรการเกี่ยวกับการตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การอนุมัติเงินกู้แต่ละโครงการมักต้องใช้เวลานาน

สถานการณ์เช่นนี้ เปิดโอกาสให้จีนซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ได้มีโอกาสเข้ามาเสนอจัดตั้ง AIIB ซึ่งคาดว่าจะมีข้อกำหนดที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวกว่าธนาคารโลกและ ADB ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างของเอเชีย ซึ่งในกรณีของไทยถือว่ามีความสำคัญมากเพราะกำลังต้องการลงทุนในโครงการสาธารณุปโภคขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

การตั้ง AIIB ขึ้นมา จะช่วยให้จีนสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง ซึ่งต้องใช้เงินทุนถึงปีละ 8 แสนล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาระบบถนน ทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ซึ่งเกือบทุกประเทศต่างก็ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน

แต่มีการมองกันว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังที่ผลักดันให้จีนตั้ง AIIB ขึ้นมา ก็เพื่อคานอำนาจกับชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยในเมื่อสหรัฐมีธนาคารโลกเป็นเครื่องมือ สหภาพยุโรปมีธนาคารกลางยุโรปและ IMF ญี่ปุ่นมี ADB แล้วทำไมจีนจะมี AIIB ไม่ได้

เป็นที่ชัดเจนว่า การจัดตั้ง AIIB ของจีนในครั้งนี้ ถึงกับทำให้สหรัฐนั่งไม่ติด และพยายามอย่างยิ่งในการกดดันไม่ให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับธนาคารแห่งใหม่นี้ โดยกลัวว่า AIIB จะเข้ามากลบรัศมีที่มีมาเกือบ 50 ปีของธนาคารโลก และ ADB ที่ให้เงินทุนแก่โครงการขนาดใหญ่ทั่วโลก

จึงไม่แปลกที่สหรัฐถึงกับออกอาการเมื่อเห็นว่าพันธมิตรใกล้ชิดหลายประเทศต่างก็แสดงความสนใจเข้าสมัครเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB โดยไม่สนใจเสียงท้วงติง และนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของจีนในเวทีภูมิ-เศรษฐศาสตร์โลก ขณะที่สะท้อนถึงความล้มเหลวทางการทูตของสหรัฐ เมื่อยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของยุโรปคือ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ต่างประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB โดยคาดว่าประเทศเหล่านี้คงมองเห็นถึงผลประโยชน์จากการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเอเชียที่มีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าที่จะอยู่นิ่งเฉยได้

การตัดสินใจของพันธมิตรยุโรปเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

สหรัฐแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการมี AIIB โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปล็อบบี้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียไม่ให้เข้าร่วมกับจีนในการตั้ง AIIB โดยอ้างว่า สหรัฐยังไม่มั่นใจต่อความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลของ AIIB และเตือนว่า สถาบันทางการเงินแห่งนี้อาจบ่อนทำลายธนาคารโลก

นายแจ็ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า ความกังวลหลักๆ ของสหรัฐคือ ธนาคารแห่งนี้จะ “ยึดมั่นต่อมาตรฐานขั้นสูงที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศริเริ่มไว้หรือไม่"

“สถาบันแห่งนี้จะปกป้องสิทธิของแรงงานและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างเหมาะสมหรือไม่" เขาตั้งข้อสงสัย

อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีคลังเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ระบุว่า กลุ่มประเทศดังกล่าวตัดสินใจเข้าร่วม AIIB ก็เพื่อที่จะสร้างหลักประกันว่า AIIB ปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในด้านธรรมาภิบาล การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับหนี้และการจัดซื้อ

ด้านผู้ใกล้ชิดของนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ก็ได้ให้เหตุผลที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB ว่า เพื่อผลักดันให้ธนาคารดังกล่าวดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามของอังกฤษเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากจีน เพื่อรักษาสถานะศูนย์กลางการเงินโลกของกรุงลอนดอน

เซอร์ริชาร์ด ออตตาเวย์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษชี้ว่า ความเห็นที่สวนทางกันของสหรัฐกับอังกฤษต่อกรณี AIIB สะท้อนว่าสหราชอาณาจักรตลอดจนยุโรปมองจีนในมุมมองที่ต่างจากสหรัฐ โดยสหรัฐมองจีนในฐานะมหาอำนาจทางทะเลแห่งแปซิฟิก ขณะที่ยุโรปมองจีนในแง่หุ้นส่วนทางการค้า

ทางด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนระบุว่า สหรัฐ "เจ้าอารมณ์และชอบดูถูกชาติอื่น" และว่า การตัดสินใจของชาติยุโรปเป็น "การเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมและกล้าหาญ" และขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสาส์นถึงวอชิงตันว่า กลยุทธ์องุ่นเปรี้ยวรังแต่จะทำให้สหรัฐถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

ด้านไชน่า เดลี่ สื่อของทางการจีน ก็ระบุเช่นเดียวกัน โดยยืนกรานว่า แม้ AIIB เป็นแนวคิดของจีนและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารแห่งนี้เป็นของจีนหรือเป็นเครื่องมือทางอำนาจของจีน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียได้หันมาพุ่งเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจีนได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างรถไฟความเร็วสูง จนประสบความสำเร็จด้านการคมนาคม และได้กลายเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงของสปป.ลาว และรถไฟรางคู่ของไทย

สิ่งนี้ทำให้ AIIB จะกลายเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากและยากต่อการะดมทุนจากในประเทศเพียงอย่างเดียว และหากมองในระยะยาวสำหรับภูมิภาคเอเชียแล้ว แหล่งเงินทุนจาก ADB เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถรองรับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ ขณะที่มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2563 การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การจัดตั้ง AIIB เป็นความร่วมมือของกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และกระทรวงการคลังของไทยได้ร่วมลงนาม MOU ในการเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 20 ประเทศ และขั้นตอนต่อไป คือ การร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นในการจัดทำร่างข้อตกลงก่อตั้ง AIIB

"ธปท.เห็นด้วยและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB เพราะจะเอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยด้วย ในขณะที่แหล่งเงินทุนในปัจจุบัน เช่น ADB หรือ ธนาคารโลก ต่างก็เปลี่ยนนโยบายไปสนับสนุนการพัฒนาเชิงโครงสร้างสังคมมากกว่า" โฆษก ธปท.กล่าว

ด้านรศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า การที่ไทยเข้าเป็นภาคี AIIB จะทำให้ไทยมีตัวเลือกในการกู้เงินมาใช้เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะถูกกว่า ซึ่งจะต้องไปดูในรายละเอียดและเงื่อนไข

ในปี 2558-2565 ไทยจะมีความต้องการเงินลงทุนอย่างมากตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางถนนกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาท่าเรือและการขนส่งทางน้ำ การเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านล้านบาท หรือราว 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์

โครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงก้าวแรกของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในไทยเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้ทัดเทียมกับระดับการขนส่งมาตรฐานเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สาธารณูปโภคที่จำเป็น การพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีความต้องการเงินลงทุนสูงถึงกว่า 5 ล้านล้านบาทตามการประเมินของ ADB

ดังนั้น AIIB จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ไทยอาจได้รับสิทธิพิเศษทางด้านดอกเบี้ย และเงื่อนไขพิเศษทางการเงินอื่นๆ ที่คาดว่าทางการจีนจะเสนอให้ เนื่องจากจีนจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในไทย และการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ขณะเดียวกัน การที่ไทยเข้าร่วมจัดตั้ง AIIB ต้องถือว่าเรื่องนี้มีนัยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

ในแง่ของทางเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่าไทยจะมีทางเลือกในการกู้เงินที่มีต้นทุนต่ำเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมที่ต้องกู้จากธนาคารโลก และ ADB แต่ไม่ได้ต้นทุนต่ำเหมือนที่ผ่านมา เพราะทั้งสององค์กรไม่ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศยากจนที่ต้องช่วยเหลืออีกต่อไป

การที่ไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนของกระทรวงคมนาคมในอีก 5-6 ปีข้างหน้า วงเงินไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท AIIB จึงเป็นตัวช่วยสำคัญของไทย ในการเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ มีโครงการหลายโครงการที่จีนต้องการเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งรถไฟรางคู่ รถเมล์เอ็นจีวี การที่ไทยยอมเข้าร่วมตั้ง AIIB น่าจะทำให้จีนยื่นข้อเสนอในโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับไทยมากขึ้น

และการที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันไฟเขียวให้ไทยร่วมตั้ง AIIB ก็อาจจะตีความได้ว่าเป็นการปลดแอกเศรษฐกิจไทยจากสหรัฐและยุโรป โดยเฉพาะด้านการเงินที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินจากธนาคารโลกเพียงอย่างเดียว

ส่วนในแง่การเมืองนั้น การเข้าร่วมจัดตั้ง AIIB ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่สหรัฐและยุโรปดูจะไม่ปลื้ม โดยอ้างว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ไทยต้องหันมาร่วมมือกับจีนมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตก

นอกจากนี้ การที่ AIIB จะเริ่มเปิดดำเนินการในปลายปีนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงเวลาของการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนการเข้าร่วมก่อตั้ง AIIB ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจกับอาเซียนมากขึ้น

จากนี้ไป เราคงต้องจับตาความคืบหน้าของการจัดตั้ง AIIB อย่างไม่กะพริบตา เพราะจะส่งผลต่อไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ AIIB จะกลายเป็นสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลต่อโลก เหมือนกับ IMF ธนาคารโลก และ ADB หรือไม่นั้น เวลาเท่านั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ