Bond Market Update

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 19, 2017 13:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารฯ และตลาดตราสารหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยน่าจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะยังเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันการออกหุ้นกู้ ผู้ออกตราสารฯ ต้องการล๊อคอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำโดยการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางรายได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนบางส่วนในตราสารที่มีอันดับเครดิตระดับ “BBB-” หรือต่ำกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารฯ บางรายที่มีอันดับเครดิตไม่สูง โดยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงความต้องการของนักลงทุนที่กำหนดอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้น ความต้องการที่ลดลงสำหรับตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตระดับไม่สูงจึงนำไปสู่ความเสี่ยงในการต่ออายุตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดเพิ่มสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ความต้องการตราสารหนี้ที่ได้รับอันดับเครดิตสูงได้เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ Credit Spread ของตราสารที่มีอันดับเครดิตในระดับ “A” หรือสูงกว่านั้นแคบลงซึ่งแสดงให้เห็นถึงการหันกลับไปหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยของนักลงทุน ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมมูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2560 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับในปี 2559 โดยอยู่ที่ระดับ 750,000 – 800,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงเชิงลบด้านเครดิตที่สำคัญในปีนี้คือกรณีที่มีการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วที่จะกดดันสภาวะตลาดโดยรวม

• มูลค่าการออกหุ้นกู้คาดว่าจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

มูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2559 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 772,300 ล้านบาท โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 มูลค่าการออกหุ้นกู้ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 454,759 ล้านบาท โดยเติบโต 18% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ในขณะที่ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนมีจำนวนมาก ตลาดตราสารหนี้จึงยังเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าหุ้นกู้ที่จะเข้ามาในตลาดจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ซึ่งน่าจะต่ำกว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2560 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับในปี 2559 ที่ระดับ 750,000 – 800,000 ล้านบาท (ภาพที่ 2)

ทริสเรทติ้งคาดว่าการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้แทนการกู้ยืมจากธนาคารนั้นจะชะลอตัวลงในปี 2560 มูลค่าการออกหุ้นกู้เติบโตอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลานานประกอบกับหุ้นกู้เป็นที่ต้องการของนักลงทุน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้สัดส่วนการก่อหนี้โดยการออกหุ้นกู้ต่อการก่อหนี้รวมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณที่ 12% ในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 16% ในปี 2559 (ภาพที่ 3) อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าถึงแม้ตลาดตราสารหนี้จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปในระยะยาว อัตราการขยายตัวจะไม่สูงเท่ากับในช่วงปี 2557 - 2559

• อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำเหมาะกับการกู้ยืมระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 2.70% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.18% (ภาพที่ 4) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นยังค่อนข้างคงที่ โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.51% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 จากระดับเฉลี่ยที่ 1.46% ในปี 2559

ทริสเรทติ้งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้จะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อผู้ออกตราสารฯ การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและส่วนต่างของ Credit Spread ที่ขยายกว้างขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 (ภาพที่ 5) ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารฯ เพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่มีลักษณะรุนแรง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของหุ้นกู้อายุ 3 ปีที่ได้อันดับเครดิตระดับ “A” เพิ่มขึ้นเป็น 2.67% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จาก 2.30% ในปี 2559 อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ยังคงต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจากธนาคารอย่างมาก (ภาพที่ 6)

• ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) จะเพิ่มมากขึ้นสำหรับหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับ “BBB”

โดยทั่วไป Credit Spread ของหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับสูงและหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับต่ำจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันแม้ว่าระดับการเปลี่ยนแปลงจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ Credit Spread ของอันดับเครดิตหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะลดลงเล็กน้อยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ยกเว้นหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” (ภาพที่ 7) โดย Credit Spread เฉลี่ยของหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” ขยายกว้างขึ้นเล็กน้อยเป็น 229 bps (Basis Points – bps) ในเดือนสิงหาคม 2560 จาก 218 bps ในเดือนมีนาคม 2560 จากเสียงสะท้อนต่อการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้เมื่อไม่นานมานี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า Credit Spread ของหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” น่าจะกว้างขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี 2560 เพราะภาวะตลาดที่อ่อนไหวจากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารฯ ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกลงทุนโดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับต่ำ นักลงทุนจะหันมาลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ Credit Spread ของหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “A” หรือสูงกว่านั้นลดลงได้อีก

• ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการต่ออายุตราสารฯ ยังคงเป็นประเด็นน่ากังวลสำหรับผู้ออกตราสารฯ บางราย

อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการมองหาอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นของนักลงทุน ทำให้บริษัทที่มีอันดับเครดิตไม่สูงเข้ามาระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อที่จะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง ผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตต่ำบางรายมีข้อจำกัดในการหาแหล่งเงินทุนสำรองมาชำระคืนหนี้เดิมซึ่งไม่สามารถต่ออายุได้ จึงทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทุนมาจ่ายคืนตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดชำระยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลตราบเท่าที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่กลับมา ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ยังมีอยู่มาก ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงที่ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้จะค่อย ๆ ออกไปจากตลาดตราสารหนี้ แต่ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ตราสารฯ ที่จะครบกำหนดยังมีความเป็นไปได้อยู่ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าตลาดตราสารหนี้จะยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตลาดที่ผันผวนได้ ผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงอาจเผชิญความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุน ต้นทุนทางการเงินอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือผู้ออกตราสารฯ ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนใหม่มาเพื่อชำระคืนหนี้เดิมได้

ความปั่นป่วนในตลาดตั๋ว B/E ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการมีวงเงินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรองสำหรับบริษัทที่ต้องการได้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำในตลาดตั๋ว B/E โดยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ออกตั๋ว B/E ต้องพบกับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริหารสภาพคล่องอย่างรอบคอบนั้น ผู้ออกตั๋ว B/E ควรที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนสำรองต่อภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการของผู้ออกตราสารฯ บางรายที่ใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นในตลาดตั๋ว B/E มาลงทุนในสินทรัพย์ถาวรหรือลงทุนในระยะยาว ซึ่งการบริหารทางการเงินลักษณะนี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริษัทเหล่านี้ได้ประเมินความเสี่ยงที่ตราสารหนี้จะไม่ได้รับการต่ออายุต่ำเกินไป

• สัดส่วนของการออกตราสารฯ ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตลดลง

ความต้องการสำหรับหุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับเครดิตได้ลดลงในปีนี้ นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้นทำให้มูลค่าการออกหุ้นกู้ของผู้ออกตราสารฯ ที่ไม่มีอันดับเครดิตลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 3.24% ของมูลค่าการออกหุ้นกู้ทั้งหมดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 จาก 7.08% ในปี 2559 และ 4.61% ในปี 2558 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าตลาดได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทำให้การเพิ่มขึ้นของผู้ออกหุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับเครดิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้สิ้นสุดลง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดตั๋วแลกเงินหรือ B/E ทำให้เห็นความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารฯ ที่ไม่มีอันดับเครดิตได้อย่างชัดเจน

Credit Spread ของหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” ได้ลดลงในช่วงต้นปี 2560 ทำให้มีการออกหุ้นกู้ใหม่จำนวนมากในอันดับเครดิตระดับนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยการออกหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” เพิ่มขึ้นเป็น 107,102 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับปี 2559 ทั้งปีอยู่ที่ 133,480 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มของช่วงที่เหลือของปี 2560 จะไม่เป็นไปตามครึ่งปีแรก ความต้องการของนักลงทุนจะลดลงและ Credit Spread ของหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “BBB” จะขยายกว้างขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากความหวั่นไหวของนักลงทุนในตลาดตั๋ว B/E นำไปสู่ความหวั่นไหวในตลาดหุ้นกู้ ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มใหญ่ที่สุดยังคงเป็นผู้ออกหุ้นกู้อันดับเครดิตระดับ “A” คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการออกหุ้นกู้ทั้งหมด (ภาพที่ 8)

เมื่อแยกตามอุตสาหกรรมแล้ว กลุ่มผู้ออกตราสารฯ 5 อันดับแรกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ยังคงคล้ายคลึงกับในปี 2559 เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสารมีการออกหุ้นกู้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 มากกว่าการออกหุ้นกู้ทั้งหมดของปี 2559 (ภาพที่ 9)

• การออกหุ้นกู้ใหม่อายุ 2-3 ปียังมีความต้องการสูง

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นลง เพราะไม่ต้องการที่จะล๊อคอัตราผลตอบแทนต่ำ โดยหุ้นกู้ที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี คิดเป็น 41% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2559 และ 50% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 (ภาพที่ 10)

ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2560 มูลค่าหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอายุไถ่ถอนจะเพิ่มเป็น 425,207 ล้านบาทในปี 2561 และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 484,918 ล้านบาทในปี 2562 (ภาพที่ 11) อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตและการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2560 จะอยู่ในวงจำกัดเพราะอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของบริษัท อายุของหุ้นกู้ว่าเป็นแบบระยะสั้นหรือระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือแบบลอยตัว โดย ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2560 มูลค่าหุ้นกู้คงค้างในประเทศเกือบทั้งหมด (99.87%) เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตสูงจะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตไม่สูง ในช่วงปี 2558 - 2560 ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตสูงสามารถออกตราสารฯ ที่มีอายุยาวได้ ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ถูกในระยะยาว (ตารางที่ 1, ตารางที่ 2, ตารางที่ 3) อัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ออกตราสารฯ ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงมากกว่า ขณะที่ผู้ออกตราสารฯ ที่อันดับเครดิตต่ำจะต้องออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ออกตราสารฯ ส่วนใหญ่สามารถออกหุ้นกู้ระยะสั้นได้เท่านั้น

• “A-” เป็นอันดับเครดิตระดับกลางของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง
ผู้ออกตราสารฯ ที่เข้ามาจัดอันดับเครดิตใหม่กับทริสเรทติ้งได้รับอันดับเครดิตในระดับต่ำลงมากขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นเพราะความปั่นป่วนในตลาดตั๋วแลกเงินหรือ B/E ทำให้ผู้ออกตราสารฯ ที่ไม่มีอันดับเครดิตเข้าหาแหล่งเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ได้ยากขึ้น เป็นผลทำให้ผู้ออกตราสารฯ จำเป็นต้องเข้ามาจัดทำอันดับเครดิตเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอันดับเครดิตในระดับที่ไม่สูง โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับ Investment Grade (ระดับต่ำกว่า BBB-) เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% จาก 5.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตระดับกลางของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งยังอยู่ที่ระดับ “A-” (ภาพที่ 12)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ