BANPU พร้อมจ่ายค่าเสียหายคดีหงสาทันที 2.7 พันลบ.แบ่งบันทึกในงบ 3 บริษัท Q1/61,ยันฐานะการเงินยังแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 6, 2018 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมชำระเงินค่าเสียหายในคดีหงสาตามคำสั่งพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ โดยเป็นเงินต้นจำนวน 1,500 ล้านบาท และประเมินดอกเบี้ยอีกประมาณ 1,200 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาส 1/61 แบ่งการบันทึกในงบของ 3 บริษัท ได้แก่ BANPU , บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) และบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เท่าๆ กันบริษัทละประมาณ 900 ล้านบาท

บริษัทมีเงินพร้อมจะชำระค่าเสียหายดังกล่าวได้ทันที โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ราว 32,000 ล้านบาท ซึ่งการชำระค่าเสียหายในคดีครั้งนี้ยืนยันว่าไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัท และไม่กระทบต่อแผนงานของบริษัทที่จะเดินไปข้างหน้า โดยการลงทุนต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่จะช่วยปลดล็อคความกังวลต่อคดีที่มีมายาวนาน 10 ปี 8 เดือนให้จบลงไป เพื่อให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

"เรามีเจตนาที่จะจ่ายชำระเงินให้กับศาลแพ่งโดยทันที ในส่วนจำนวนเงินต้น 1,500 ล้านบาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2550 เป็นเวลาประมาณ 10 ปี 8 เดือน จำนวนเงินคร่าว ๆ 2,700 ล้านบาท ที่เป็นเงินต้น 1,500 ล้านบาท และดอกเบี้ย 1,200 ล้านบาท บริษัทมีความพร้อมที่จะจ่ายโดยทันที และถือว่าเป็นการทำตามคำสั่งศาลฎีกา นับว่าสิ้นสุดกรณีคดีความที่ดำเนินการมานาน 10 ปี 8 เดือน เป็นสิ่งที่บริษัทพร้อมดำเนินการต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ และไม่มีอะไรมาเป็นข้อติดค้าง ก็จะทำให้นักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นมีความสบายใจ"นางสมฤดี กล่าว

อนึ่ง วันนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีความแพ่งที่นายศิวะ งานทวีและพวก เป็นโจทก์ ฟ้องกลุ่ม BANPU และพวก เป็นจำเลยโดยกล่าวอ้างว่าร่วมกันละเมิดและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิด เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินรวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสาใน สปป.ลาว โดยให้กลุ่ม BANPU ชำระการใช้ข้อมูลของฝ่ายโจทก์ เป็นเงิน 1,5000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่เดือนก.ค.50

อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าร่วมทำสัญญาพัฒนาโครงการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่มีเจตนาเข้าทำโครงการจริง ,การยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อให้โครงการล่าช้า อันเป็นเหตุให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ และยุยงรัฐบาลลาว ให้ยกเลิกสัมปทานกับโจทก์นั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีความสุจริตในการเข้าทำสัญญาและมีเจตนาทำโครงการจริง รวมถึงมีความสุจริตทำเพื่อโครงการ และรัฐบาลลาวไม่ได้ใช้เหตุนี้ในการยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ ตลอดจนมีความสุจริต มิได้ยุยง การยกเลิกสัมปทานเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลลาวเอง

นางสมฤดี กล่าวว่า จากคำพิพากษาเห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทมีความบริสุทธิ์ สุจริตและทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่บริษัทมีความภาคภูมิใจ ซึ่งในส่วนการชำระค่าใช้ข้อมูลเป็นจำนวน 1,500 ล้านบาท สำหรับกลุ่มบริษัทในทางปฏิบัติที่ได้เริ่มทำงานกับทางฝ่ายโจทก์มาตั้งแต่ก่อนปี 50 ทำให้มีความเชื่อด้วยความสุจริตใจว่าข้อมูลเรื่องการพัฒนาการทำงานร่วมกันก็สามารถมีสิทธิที่จะใช้ได้โดยสุจริตเช่นเดียวกัน

"เรามั่นใจในความบริสุทธิ์ แต่การทำธุรกิจก็จะมีการเกิดผลกระทบบ้าง เล็กบ้าง การทำธุรกิจเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าถูกต้องมาตลอด เราไม่ได้มีการประมาณการตรงนั้น (ค่าเสียหายทางคดี)...เรามีความเชื่อด้วยความสุจริตใจว่าข้อมูลเรื่องการพัฒนาการทำงานร่วมกันก็สามารถมีสิทธิที่จะใช้ได้โดยสุจริตเช่นเดียวกัน เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าข้อมูลฉบับทั้งหมดที่โจทก์ได้อ้างถึงเป็นข้อมูลที่เรามีสิทธิใช้โดยสุจริต แต่เมื่อโจทก์ตีประเด็นว่าเป็นข้อมูลของโจทก์ และทางศาลฯได้พิพากษาออกมาเราก็ยินดีที่จะจ่ายชำระข้อมูล น้อมรับคำตัดสินตามนั้น"

นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทได้มีการสื่อสารข้อมูลไปยังนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนก็เชื่อมั่นในความสุจริตในการดำเนินโครงการหงสา แต่ทุกฝ่ายก็ดีใจที่คดีจบลงได้ด้วยผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดีสำหรับกลุ่มบริษัท ส่วนนักลงทุนจะหันกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มในหุ้นของบริษัทหรือไม่ เป็นเรื่องของนักลงทุนจะพิจารณาเอง แต่สิ่งที่บอกได้ คือ บริษัทจะมีความเข้มแข็งและมั่นคงที่จะเดินไปข้างหน้า

การที่มีคำสั่งศาลออกมาครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทในอนาคต การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังคงดำเนินการตามปกติ และยังคงมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติม ส่วนการพบปะกับนักลงทุนหลังจากนี้ก็เป็นแผนงานตามปกติของบริษัทที่เดินสายพบนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะนำความคืบหน้าคดีหงสาไปชี้แจงต่อนักลงทุนด้วย และแสดงให้เห็นดึงโอกาสการเติบโตไปข้างหน้า

ด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท ของ BANPU กล่าวว่า สิ้นปีที่ผ่านมามีการปรับตัววิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ เพื่อสะท้อนถึงการดำเนินงานของบริษัท โดยเป็นการมุ่งสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน สร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยความร้บผิดชอบกับสังคม และเพิ่มความแข็งแกร่งแก่วัฒนธรรมองค์กร ความเป็นเลิศในการดำเนินงาน และยึดมั่นในอุดมการณ์ในการเป็นองค์กรที่มีความซื่อสัตย์ และมีธรรมาภิบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ