สสส. พัฒนา “วัยซน” สู่ “พยาบาลน้อยจิตอาสา” ปลูกจิตสำนึกร่วมสร้างเสริมสุขภาวะผู้ป่วยในชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี สังคมชนบทในปัจจุบันมีผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับแพทย์และพยาบาลมีภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก จึงไม่สามารถติดตามผลการรักษาลงไปได้ในระดับครัวเรือน ผู้ป่วยหลายรายจึงมีปัญหาสุขภาพสะสมและมีอาการรุนแรงขึ้น กลายเป็นภาระและเป็นที่รังเกียจของชุมชน ทางออกของปัญหาดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของคนชุมชนที่ต้องร่วมใจกันดูแลผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนของตนเอง โรงพยาบาลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จึงได้ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงม่วน เครือข่ายบริการสุขภาพปฐมภูมิอำเภอเชียงม่วน สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบลสระ จัดทำ “โครงการพัฒนาแกนนำเยาวชนจิตอาสา พยาบาลชุมชนนอกระบบ” ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีจิตอาสามีส่วนรวมในการดูแลและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นตามศักยภาพของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นาวสาวสุจิรัชยา ทองทา พยาบาลวิชาชีพกลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเชียงม่วน หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ต้นเหตุของโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเกิดจากคนในชุมชนอยากมีฐานะร่ำรวย จากที่เคยทำมาหากินแบบพอเพียงปลูกเพื่อกินเหลือจึงขาย กลายเป็นเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ที่ต้องพึ่งพาสารเคมี มีการดื่มสุราใช้ยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรคและปัญหา “ปัญหาสุขภาพของประชาชนในเขตอำเภอเชียงม่วน มีทั้งโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคจิตเวช และโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ป่วยดังกล่าวขาดการดูแลและมักจะถูกครอบครัวทอดทิ้งเพราะถูกมองว่าเป็นปัญหา ทำให้ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง และในชุมชนเดียวกันยังมีเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ใช้เวลาว่างอย่างไร้ประโยชน์ บ้างก็มีอาการซึมเศร้า แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เนื่องจากถูกทอดทิ้ง ดังนั้นการสร้างแกนนำเยาวชนจิตอาสา นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มองเห็นคุณค่าของตนเองผ่านการที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนมกราคม 2553 ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 12 -15 ปี เข้าร่วมโครงการฯ รวมกว่า 60 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชนที่มีจิตอาสาและต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นน้องๆ ที่ผู้ปกครองสนับสนุนให้ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อลดปัญหาและกิจกรรมเสี่ยง เช่น การติดเกมส์ ติดโทรศัพท์มือถือ แข่งมอเตอร์ไซค์ รวมถึงการติดเหล้าและบุหรี่ แต่ก่อนที่เด็กๆ จะได้ทำหน้าที่เป็นพยาบาลน้อย ก็จะต้องผ่านด่านการฝึกฝนต่างๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง โดย นางสาวสุจิรัชยา อธิบายว่า “เริ่มแรกพยาบาลพี่เลี้ยงและรุ่นพี่ที่มีจิตอาสา จะพาน้องๆ ไปเข้าค่ายทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งทุกคนจะได้ดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กที่กลับตัวกลับใจหันมาช่วยเหลือสังคมแม้จะเคยกระทำผิดมาก่อน มีการสอดแทรกภาพข่าวทีวี เช่น สกู๊ปชีวิตเพื่อให้เด็กรู้ว่ายังมีผู้ด้อยโอกาสในสังคมอีกมาก และสุดท้ายจะมีรุ่นพี่มาเล่าเรื่องราวความลำบากของผู้ป่วยและด้อยโอกาสที่รอคอยความช่วยเหลือ ทำให้เด็กๆ ถึงกับน้ำตาซึม เพราะพวกเขาไม่เคยรู้ว่าจะมีคนที่ลำบากแสนเข็ญ อยู่ใกล้ๆ รั้วบ้านของเขาเอง” ลำดับต่อมาน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมกันสำรวจชุมชนและจัดทำแผนที่เพื่อเก็บข้อมูลว่าในชุมชนของตนเองนั้นมีผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสอยู่ตรงจุดใดบ้าง จากนั้นจึงกลับไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลเชียงม่วน เพื่อเรียนรู้และฝึกงานด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำความสะอาดร่างกาย และฝึกการดูแลจิตใจผู้ป่วยด้วยการร้องเพลง การอ่านหนังสือให้ฟัง เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะเริ่มออกปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลน้อยได้อย่างเต็มตัว โดยมีพยาบาลตัวจริงคอยเป็นพี่เลี้ยง เด็กชายวีระชร ปิงยศ หรือ “น้องซอน” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเชียงม่วนวิทยา หัวหน้ากลุ่มเยาวชนจิตอาสาฯ เล่าให้ฟังถึงกระบวนทำงานของเหล่าพยาบาลน้อยว่าในการลงพื้นที่เยี่ยมดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาสแต่ละครั้ง โดยจะแบ่งหน้าที่กันออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่งานซักถามประวัติ และงานทำความสะอาด โดยแบ่งตามความถนัดและความสมัครใจของแต่ละคน “เมื่อไปถึงบ้านเราต้องแนะนำตัวกับผู้ป่วยก่อน แล้วกลุ่มที่มีหน้าที่ซักถามประวัติก็จะสอบถามอาการป่วยว่าเป็นอย่างไร ตรวจดูว่าทานยาครบถ้วนตรงตามเวลาหรือไม่ พร้อมแนะนำวิธีทานยา และจดบันทึกประวัติการทานยา เพื่อส่งข้อมูลให้โรงพยาบาล แล้วจึงช่วยเช็ดตัว ตัดเล็บ บีบนวดให้ ส่วนกลุ่มที่งานทำความสะอาด จะต้องจัดเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ และช่วยซักผ้าล้างจานปัดกวาดให้เรียบร้อย แล้วจึงมานั่งรวมกันเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบกับผู้ป่วย ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็จะร้องจ๊อยซอให้ฟัง ช่วยให้เขาอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม มีความสุข เสร็จแล้วเราก็จะกลับ ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมบ้านอื่นต่อ” น้องซอนเล่าขั้นตอนการทำงาน เด็กหญิงอลิษา ฟ้าแลบ หรือ “น้องเจน” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสระ เล่าถึงครั้งแรกที่เข้าร่วมเป็นพยาบาลน้อยก็เพราะเห็นว่าเพื่อนๆ มากันหลายคน แต่เมื่อได้มาช่วยเหลือผู้ป่วยก็ทำให้รู้ว่าตัวเองนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนอื่นๆได้ “หลังจากนั้นก็ไม่เคยปฏิเสธอีกเลย บางครั้งก็หิ้วขนมไปฝากเอง เพราะอยู่ในละแวกเดียวกัน และเมื่อตอนจะกลับผู้ป่วยก็จะอวยพรให้ก็ยิ่งภูมิใจ พอกลับบ้านหนูก็จะทำความสะอาดบ้านเหมือนกับที่ทำให้ผู้ป่วย พ่อกับแม่จะได้สบายใจ ไม่เหนื่อยด้วย” น้องเจนกล่าว เด็กหญิงณัฐฐาพร เลิศมา หรือ “น้องแพม” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสระ เล่าถึงหน้าที่ของตนเองในการออกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยในชุมชนว่าเป็นมือวางอันดับหนึ่งด้านการซักผ้า “เวลาไปเยี่ยมบ้านก็จะต้องรีบซักผ้าให้ผู้ป่วยเป็นอย่างแรก เพราะอยากให้เขาได้ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด พอเพื่อนๆ เห็นหนูหยิบผ้ามาซัก ทุกคนก็จะรีบเข้ามาช่วยกันอย่างไม่รังเกียจ” น้องแพมกล่าว “การสร้างสำนึกจิตอาสาให้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ เป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยประคับประคองผู้ป่วยทั้งกายและใจ ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ และพยาบาลน้อยกลุ่มนี้ยังเป็นสื่อกลางที่กระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดจิตอาสา และมีส่วนร่วมเข้ามาดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยด้วย ถือเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวและชุมชนอย่างแท้จริง” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ