มาทำความรู้จักไวรัสตับอักเสบบีกันดีกว่า

ข่าวทั่วไป Thursday January 17, 2013 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง มาทำความรู้จักไวรัสตับอักเสบบีกันดีกว่า คุณรู้จักไวรัสตับอักเสบบีดีหรือยัง? หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี แต่มักไม่ทราบว่าจริงๆแล้วไวรัสตับอักเสบบีมีความสำคัญอย่างไรและก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ไวรัสตับอักเสบบีเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคตับอักเสบและตับแข็ง แม้แต่ในผู้ที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งตับ การแสดงอาการของไวรัสตับอักเสบบีมีหลายระยะ ทั้งที่เป็นพาหะซึ่งไม่แสดงอาการใดๆ เลย (มีเชื้อไวรัสแต่ตับไม่อักเสบ) เป็นตับอักเสบระยะเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย และท้ายที่สุดคือเป็นมะเร็งตับ โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทุกรายแม้ในระยะที่เป็นพาหะก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไป จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี? ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมักไม่มีอาการ หรืออาจมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เมื่อโรคตับเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด เราจะทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่โดยการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น ดังนั้นปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งจึงบรรจุการตรวจการทำงานของตับหรือตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไว้ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพด้วย ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อกันได้อย่างไร ปกติไวรัสตับอักเสบบีติดต่อกันได้ 3 ทาง คือ ติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากการสัมผัสเลือดและผลิตพันธ์ของเลือด เช่น น้ำเหลือง และ เกร็ดเลือด เป็นต้น ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็กโดยได้รับมาจากมารดาที่เป็นพาหะ การติดเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็กขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์เต็มที่จะทำให้เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง และมักไม่แสดงอาการ การติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ มักเป็นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และ ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามทำลายเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ของผู้ที่ติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ร่างกายมักสามารถจำกัดเชื้อไปได้เอง ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ที่ควรได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้แก่ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น มีสามีหรือภรรยาหรือญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบี หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีผลเลือดเป็นตับอักเสบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ และ ผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง อุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดที่สงสัยว่าเกิดจากโรคตับแข็ง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบบีสูง แนะนำว่าควรตรวจหาการติดเชื้อทุกคนแม้ว่าจะไม่มีอาการ เพราะการตรวจเลือดเพียงครั้งเดียว สามารถบอกได้ว่าติดเชื้อไวรัสนี้หรือไม่ (ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป) ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในอดีตไวรัสตับอักเสบบีไม่มียารักษาที่ได้ผลดี แต่ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการคิดค้นและพัฒนายาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าท่านควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือไม่ สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะพาหะอาจยังไม่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส ทั้งนี้ไม่ว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือไม่ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งตับระยะเริ่มต้นด้วยการตรวจเลือดและทำอัลตร้าซาวน์ตับเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน มีวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ ไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 และ เข็มที่ 3 ห่างจากการฉีดเข็มแรก 1 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง สายด่วนสุขภาพ 02-743-9999

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ