ทีโอซี ไกลคอล ต้นแบบด้านการจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือลดต้นทุน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 20, 2017 12:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.-- "ทีโอซี ไกลคอล" ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีการจัดการที่มีนโยบายชัดเจน และการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์ฯ ให้สอดคล้องและเหมาะสมจะทำให้สามารถลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า พร้อมเตรียมแผนรับมือและรองรับการแข่งขันในตลาดโลก นายพรศักดิ์ มงคลตรีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด หรือ TOCGC กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต ผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์บริสุทธิ์ (EOP) ผลิตภัณฑ์เอทิลีนไกลคอล (EG) และผลิตภัณฑ์เอทานอลเอมีน (EA)ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยและสิ่งทอ, กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ขวดPET น้ำดื่มและกลุ่มเครื่องดื่ม, กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิลม์พลาสติก PET และกลุ่มผลิตภัณฑ์ครัวเรือนและสุขอนามัย เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯจะจัดส่งวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้งานโดยตรงกับกลุ่มตัวแทนผู้จัดจำหน่าย ซึ่งการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทิลีนไกลคอล(EG) ให้กับลูกค้าในประเทศเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯโดยมีสัดส่วน Market Share มากถึง 85% และยังเป็นตลาดที่มีการขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทฯยังให้ความสำคัญกับกลุ่มของลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ EG และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ EA ที่มีมูลค่าทางตลาดสูง แม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณน้อย แต่ราคาดีมีอัตราการเติบโตสูงสามารถสร้างกำไรและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง "จุดเด่นของบริษัทฯ เราเป็นผู้ผลิต EOP, EG และ EA รายเดียวในประเทศ จึงมีข้อได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับลูกค้าในประเทศ สามารถบริหารจัดการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้าในประเทศ รวมถึงการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และติดตามความพึงพอใจของลูกค้า นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังสามารถผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด ทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขันและรักษาฐานลูกค้าได้มั่นคง พร้อมเพิ่มโอกาสที่จะขยายตลาดในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดในประเทศเทียบกับคู่แข่งบริษัทฯ มีเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ EG และผลิตภัณฑ์ EA โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 80% โดยส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าของลูกค้าในประเทศบางราย เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบสำรอง(Second source of supply) จากผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างประเทศ เช่น Sabicซาอุดิอารเบีย และปิโตนัส(Petronas) สำหรับผลิตภัณฑ์ EOP นั้นไม่มีคู่แข่งในประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ EOP เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดด้านการขนส่ง ซึ่ง TOCGC ได้ขนส่งผลิตภัณฑ์ EOP ทางท่อส่งโดยตรงให้กับ บริษัท ไทยอิทอกซิเลท (TEX) ซึ่งเป็นลูกค้ารายเดียวได้อย่างปลอดภัย" นายพรศักดิ์ กล่าว เลือกใช้ SCOR Framework เครื่องมือชี้วัดโลจิสติกส์ ทิศทางการดำเนินธุรกิจบริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ คือ "To be an excellent ethylene oxide and derivatives provider through integration and diversification" และได้กำหนดพันธกิจที่ตอบสนอง ลูกค้า, ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม, พนักงาน และผู้ถือหุ้น โดยพันธกิจทุกข้อจะถูกกำหนดเป้าหมายความเป็นเลิศ (Goal of Excellence) และตัววัดความสำเร็จ เพื่อใช้ติดตามความสำเร็จในระดับกลยุทธ์ ซึ่งบริษัทฯ มีการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมและแนวโน้มธุรกิจที่เปลี่ยนตลอดเวลา พร้อมด้วยแนวทางที่บุคลากรของบริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติ คือ GCSPIRIT "บริษัทฯ ได้นำ SCOR Framework มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญในการบริหารงานด้านโลจิสติกส์ และสายโซ่อุปทาน โดยประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของบริษัทฯ ทั้งด้านความน่าเชื่อถือ, การตอบสนองตวามต้องการของอุตสาหกรรม, ความคล่องตัว ,ต้นทุน และประโยชน์ของลูกค้า ทั้งนี้เพื่อให้แผนการดำเนินงานทางด้านโลจิสติกส์และสายโซ่อุปทานสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์กำหนดไว้ ตลอดจนตัวชี้วัดที่สำคัญจะมีการติดตามผลแต่ละส่วนงานและหากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายส่วนงานที่รับผิดชอบจะต้องจัดทำแผนรองรับเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแผนสำรอง(Mitigation Plan) หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเสนอขอปรับแก้แผนปฏิบัติการไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อแผนปฏิบัติการและผลการดำเนินงานของบริษัทตัวอย่างกระบวนการการส่งมอบที่พัฒนาร่วมกับผู้ส่งมอบบ คือ TOCGC ได้แจ้งความต้องการวัตถุดิบหลักเอทิลีนให้กับ PTTGC โดยผ่านระบบซัพพลายเชนภายใน ที่เรียกว่า ADM (Advance Data Management) ในระบบ PICASO ทำให้สามารถลดเวลา ขั้นตอนและเอกสาร ส่วนในด้านการขายมีระบบสารสนเทศ Selling Document Approval (SDA) ในการอนุมัติการขาย ตลอดจนการออกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายเพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการอนุมัติเอกสารเช่นกัน ซึ่งการนำระบบ SDA มาใช้สามารถลด Customer Lead Time ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ"นายพรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม Goal of Excellence เพื่อความไว้วางใจจากลูกค้า สำหรับในปี 2560 บริษัทฯได้กำหนด Goal of Excellence ทางด้านโลจิสติกส์และสายโซ่อุปทาน ในการเป็นผู้ส่งมอบผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ด้วยกลยุทธ์ Goal of Excellence ได้แก่ กลยุทธ์ด้านการดำเนินงาน คือการเพิ่มความเชื่อมมั่นของโรงงาน กลยุทธ์ด้านการตลาด คือการกำหนดกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐาน ของแต่ละหน่วยงานที่เป็นจุดเชื่อม กับลูกค้า และมีการสื่อความกับลูกค้าเพื่อสอบถามถึงความคาดหวังและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชน คือการเปลี่ยนตัวเร่งประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้งบริษัทฯ และลูกค้า ก้าวความสำเร็จกับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นปี60 ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2560 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ โดยสำนักโล จิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานได้ จากการได้รับคัดเลือกมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ด้านโลจิสติกส์ในครั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าบริษัทฯ มี 2 จุดเด่นหลัก ได้แก่ 1.การมีระบบการวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ และการติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการทำงานที่ผ่านการบูรณาการงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการติดตามตัวชี้วัดที่สำคัญและผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ CPI และ KM 2.การใช้งานระบบสารสนเทศที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ และเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกันแบบเรียลไทม์และสามารถบูรณาการงานหลักที่เป็นธุรกิจหลักและกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน อาทิเช่น ERP (Enterprise Resource Planning) ครอบคลุมการปฏิบัติงานในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต การขาย การบัญชี และการบริหารงานบุคคล นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โซลูชั่นอื่นๆ มาช่วยในการจัดการข้อมูลด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ให้การทำงานเชื่อมต่อถึงกันและใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อช่วยในการจัดทำ จัดเก็บ ส่งต่อ และการประมวลผลข้อมูล ซึ่งครอบคลุมการบริหารจัดการข้อมูลตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบจากผู้ส่งมอบเข้าสู่กระบวนการผลิต การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า "หลายองค์กรมีการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพด้านต่างๆ รวมถึงด้านโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ซึ่งเราให้ความสำคัญส่วนนี้เพราะมีความเกี่ยวเนื่องทั้งกระบวนการผลิตและส่งสินค้าไปยังลูกค้าไปตรงตามกำหนด จากการได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้ได้คุณภาพยิ่งขึ้น และการที่มีหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรที่ประกันคุณภาพต่างๆ ได้เข้ามาดูแล ตรวจสอบกระบวนการทำงานในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี เสมือนการตรวจสุขภาพประจำปีของร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจุดดีจุดบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไขแล้วทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากและมีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการเป็นวิทยาทานในการประยุกต์ใช้กับองค์กรต่างๆ" นายพรศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ