สามล้อถีบพิษณุโลก...ฤาจะกลายเป็นเพียงเอกลักษณ์ในตำนาน?

ข่าวทั่วไป Wednesday September 20, 2017 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่ก่อนเมื่อกลับจากกรุงเทพฯ พอลงรถทัวร์เป็นต้องมองหารถสามล้อถีบ นั่งสามล้อชมเมืองแบบเพลินเพลินระหว่างกลับบ้านแบบไม่เร่งรีบ เจอสะพานหรือเนินสูงก็ต้องลงไปช่วยเข็นกลายเป็นความสนุกสนาน เป็นสีสัน และเสน่ห์คู่เมืองพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันสามล้อถีบลดจำนวนลง จนเหลือน้อยมาก สามล้อถีบหายไปไหน และคนถีบสามล้อไปทำอาชีพอะไร จากคำถามดังกล่าว กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้ดำเนินการงานวิจัย "พลวัตของคนประกอบอาชีพสามล้อถีบเมืองพิษณุโลก" ขึ้น "เมื่อสังคมเมืองพิษณุโลกก้าวเข้าสู่การพัฒนาและขยายตัวของชุมชนเมืองในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนถีบสามล้อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองพิษณุโลก แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน รถสามล้อถีบเมืองพิษณุโลกได้ถูกพัฒนาเป็นสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่วิถีชีวิตของคนถีบสามล้อกลับโรยราและเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนขาดผู้เชื่อมต่อจากรุ่นสู่รุ่น เหลือเพียงวิถีชีวิตของผู้เฒ่าและกลุ่มคนที่มองว่าเป็นเพียงชายขอบของสังคม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย นายอภิสิทธิ์ ปานอิน ผู้ลงมือศึกษาวิจัยได้เริ่มสืบค้นตั้งแต่กำเนิดของสามล้อในเมืองไทย พบว่า เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ กรุงเทพมหานคร โดยเลื่อน พงษ์โสภณเป็นผู้สร้างขึ้น และค่อย ๆ ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นธุรกิจสามล้อถีบที่เฟื่องฟู จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกสามล้อในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ "เมื่อในกรุงเทพฯ ยกเลิก สามล้อจึงกระจายออกสู่ต่างจังหวัด รวมทั้งพิษณุโลก จังหวะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงมีการบูรณะเมือง สามล้อถีบจึงเป็นสิ่งใหม่ที่คนพิษณุโลกให้ความสนใจได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการพัฒนาเมือง เกิดโรงแรม ร้านค้า และธุรกิจใหม่มากมาย มีกิจการอู่เช่าสามล้อถีบหลายสิบอู่ กลายเป็นอาชีพ เป็นเส้นทางทำมาหากินที่สำคัญ" กระทั่งช่วงปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา สามล้อถีบเริ่มลดความนิยม และน้อยลงเรื่อย ๆ เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ ปานอิน ให้เหตุผลว่า "จากการศึกษาพบว่า เกิดจากนโยบายการพัฒนาประเทศในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การคมนาคม อุตสาหกรรม ต่อเนื่องมาถึงยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ สำหรับจังหวัดพิษณุโลกเองเริ่มมีรถจักรยานยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ มีรถเมล์บ้านเรา รถตุ๊กตุ๊ก และวินมอเตอร์ไซต์" นี่ยังไม่นับรวมรถแท็กซี่ที่เกิดขึ้นในภายหลัง สามล้อถีบจำนวนหลายพันคัน เหลือเพียงหลักร้อย และมีทีท่าว่าจะลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้สามล้อถีบที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สามล้อดั้งเดิมและสามล้อเพื่อการท่องเที่ยว "สามล้อดั้งเดิมแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอายุ ๕๐ – ๖๐ ปี รับจ้างปั่นแบบไม่เร่งรีบ เนื่องจากมีลูกหลานเลี้ยงดูอยู่แล้ว กลุ่มที่ ๒ คือ กลุ่มดั้งเดิมที่ปรับตัวเข้ากับสังคมเมือง คือ ปั่นสามล้อแบบหารายได้จากทั้งรับบริการทั่วไปกับให้บริการนักท่องเที่ยว มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนกลุ่มที่ ๓ คือกลุ่มสามล้อเพื่อการเอาชีวิตรอด ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ปั่นสามล้อเพื่อเลี้ยงชีพ" "สามล้ออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังคือ สามล้อเพื่อการท่องเที่ยว ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นสีสันและวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลก นับตั้งแต่ยุคของนายไพฑูรย์ สุนทรวิภาคเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมอาชีพสามล้อถีบ โดยต้องการให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวยามค่ำคืน เราจึงมักเห็นนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสนุกสนานกับการนั่งสามล้อทัวร์ชมเมืองพิษณุโลกชมแสง สี เป็นส่วนใหญ่" จากผลการวิจัย นายอภิสิทธิ์ ปานอิน ตั้งข้อสันนิษฐานว่า กาลข้างหน้ากลุ่มสามล้อดั้งเดิมคงจะหายไป เนื่องจากคนปั่นอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสามล้อทัวร์เพื่อการท่องเที่ยวก็จะลดความนิยมลง จนกระทั่งหายไปในที่สุด "คนมองว่าเอกลักษณ์ของเมืองพิษณุโลกคือตัวรถสามล้อ แต่ไม่เคยมองที่คนปั่น ดังนั้น ทัวร์สามล้อจึงมีรถสามล้อเป็นเอกลักษณ์ คนปั่นสามล้อไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่ยังคงอยู่คือรถสามล้อ ในขณะที่คนปั่นเริ่มหายไป คนนั่งสามล้อก็ลดลง จึงอาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดจากคนมากกว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงก้ำกึ่งอาจยังมองไม่เห็น นึกภาพไม่ออก แต่เชื่อว่าอีก ๑๐ – ๒๐ ปีข้างหน้า สามล้อทัวร์จะไม่มีแล้ว" อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานวิจัยเรื่อง พลวัตของคนประกอบอาชีพสามล้อถีบเมืองพิษณุโลก อาจไม่ใช่บทสรุปของอาชีพสามล้อถีบของจังหวัดพิษณุโลก ในอนาคตสามล้อถีบอาจกลายเป็นจดหมายเหตุ ความทรงจำของชาวพิษณุโลก หรือไม่แน่ว่าอาจได้รับการพลิกฟื้นให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งก็เป็นได้
แท็ก ตำนาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ