สถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ชี้ 7 ปัจจัยทำซีเอสอาร์ในภาวะวิกฤติ แนะใช้ กรอบแนวทางความยั่งยืน 10 หมวด ขับเคลื่อนซีเอสอาร์

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2009 11:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่ นายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ (เอสบีดีไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาในการทำซีเอสอาร์ กล่าวถึงภาพรวมและสถานการณ์การทำซีเอสอาร์ในประเทศไทยในช่วงสามปีที่ผ่านมาว่า เป็นช่วงแห่งการบ่มเพาะ ลองผิดลองถูก ทำให้การดำเนินงานซีเอสอาร์ขององค์กรส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรม ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป จะมีปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และบริบทจากภายนอกประเทศ คือมาตรฐานและข้อปฏิบัติต่างๆ ทำให้ทุกองค์กรจะต้องมีการทบทวนและ พัฒนาการทำซีเอสอาร์อย่างมีทิศทางมากขึ้น มีการบูรณาการแนวคิดเข้าสู่องค์กร มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ใช้ความรู้และกรอบการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานมากขึ้น ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ หนุนให้ซีเอสอาร์ยิ่งทวีความสำคัญและมีความเข้มข้นขึ้น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน กล่าวว่ายิ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ซีเอสอาร์ ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญ โดยเป้าหมายในการทำซีเอสอาร์จะมุ่งเน้นไปที่ Performance มากขึ้น เพื่อให้การทำซีเอสอาร์นั้นเกิดคุณค่ากับองค์กร มากที่สุด คือยังสร้างผลกำไรให้กับองค์กร แต่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมน้อยที่สุด หรือไม่สร้างผลกระทบใดๆ เลย ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้นั้นองค์กรจะต้องมีแนวปฏิบัติ มีการพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน และมีการกำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ก้าวข้ามจุดอ่อน สู่การพัฒนา การใช้แนวทางความยั่งยืน 10 หมวด ขับเคลื่อนซีเอสอาร์ นายอนันตชัย กล่าวว่าด้วยเรื่องซีเอสอาร์เป็นเรื่องใหม่ และส่วนใหญ่เติบโตจากการทำกิจกรรม ทำให้ การทำซีเอสอาร์ ขาดทิศทาง ซึ่งจุดอ่อนของการทำซีเอสอาร์ปัจจุบันคือ ขาดกรอบ และแนวทางปฏิบัติ ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนา โดยเฉพาะการตอบโจทย์ของมาตรฐานและแนวปฏิบัติจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังจะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ออกมามากกว่า 300 มาตรฐาน ซึ่งองค์กรจะต้องเลือกและตัดสินใจว่าเป้าหมายในการทำซีเอสอาร์ขององค์กรนั้น จะใช้มาตรฐานไหนบ้าง ทั้งนี้จากการศึกษาและพัฒนา กรอบโครงสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ได้ทำการศึกษาวิจัยในปี 2550 และนำไปสู่การกำหนดลักษณะสำคัญของแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ค่านิยม และแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 10 หมวด นั้น เห็นว่า สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในองค์กรได้จริง โดยเป็นทั้งกรอบและเครื่องมือ ที่นอกจากจากจะทำให้องค์กรสามารถประเมินตนเอง ทราบระดับการทำงาน เพื่อกำหนดเป้าหมาย ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนางานด้านซีเอสอาร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในข้อกำหนด 10 หมวดนั้น ยังสามารถเชื่อมต่อและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติต่างๆจากต่างประเทศ อาทิ ISO 26000, UN Global Compact, GRI, SRI และเข็มทิศธุรกิจด้วย แนวทางการปรับแผนการทำซีเอสอาร์ เพื่อสร้างคุณค่าให้องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด นายอนันตชัย กล่าวว่าสิ่งที่องค์กรต้องทำลำดับแรกเลย คือกลับมาเริ่มต้นทบทวนความคิดของตัวเองใหม่ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นใช่หรือไม่ ตอบโจทย์บริบทภายในภายนอกได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ควรจะปรับปรุงไปในทิศทางใด ซึ่งถ้าเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำซีเอสอาร์ ด้วยภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ไม่ควรลองผิดลองถูกแล้ว ควรต้องหาความรู้ก่อน คือต้องเริ่มที่ Knowledge ที่ถูกต้องเพื่อวางกรอบแนวทางที่นำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้จริงๆ สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่ถูกทิศทาง จะต้องเป็นซีเอสอาร์ที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหรือกิจการของตัวเอง เป็นซีเอสอาร์ที่ช่วยทำให้องค์กรมีความยั่งยืน เป็นซีเอสอาร์ที่ยังมุ่งตรงไปสู่การสร้างผลกำไรสูงสุด ทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ สร้างเศรษฐกิจให้มั่นคง แต่สร้างความเสียหายให้สังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน สำหรับกรอบการดำเนินซีเอสอาร์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรนั้น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แนวทางในการพัฒนา 2 รูปแบบดังนี้ รูปแบบที่ 1 พัฒนาจากกิจกรรมสู่การวางกรอบความยั่งยืน ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรที่มีการบ่มเพาะแนวคิดซีเอสอาร์จากการทำกิจกรรมสังคมที่หลากหลาย โดยสามารถเริ่มได้จากการทบทวน ประเมินตนเอง วางกรอบยุทธศาสตร์ สร้างการเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ นโยบาย เป้าหมายการดำเนินกิจการ กับ กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทกิจกรรมหลัก เพื่อสร้างความชัดเจนให้กิจกรรมย่อย อันสามารถพิสูจน์ให้ผู้มีส่วนได้เสียเห็นถึงคุณค่าที่องค์กรทำได้ รูปแบบที่ 2 วางกรอบความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้น คือเริ่มจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร นำสู่นโยบาย กลยุทธ์ และการปฏิบัติทั้งหมดขององค์กร ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทด้านซีเอสอาร์ขององค์กรและแผนปฏิบัติการ เพื่อนำสู่การพัฒนาทั้งองค์กร ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรที่จะเริ่มต้นทำซีเอสอาร์ โดยภายใต้รูปแบบนี้ จะต้องมีการเริ่มต้นพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน จากการประเมินตนเอง สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกส่วนงาน ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำซีเอสอาร์ ในภาวะวิกฤติ หัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการทำซีเอสอาร์ ในภาวะวิกฤติ นายอนันตชัย กล่าวว่า คือ เลือกทำซีเอสอาร์อย่างถูกทาง ใช้ความรู้ เลิกลองผิดลองถูก ซึ่ง มี 7 ปัจจัยหลักที่องค์กรจะต้องนำไปพิจารณาทบทวนคือ 1. Leadership ผู้นำองค์กรจะต้องมีความเข้าใจ ต้องเห็นด้วย ต้องให้ความสำคัญ และต้องทำในสิ่งที่ถูกด้วย หากผู้นำเข้าใจว่าเป็นเพียงงานพีอาร์ก็จบ ดังนั้นผู้นำจะมีบทบาทมากในการนำและสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดซีเอสอาร์สู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง 2. CSR หรือ SD Committee เพราะซีเอสอาร์ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายพีอาร์ แต่เป็นหน้าที่ที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องทำ จึงต้องมีคณะทำงาน ที่ต้องมีผู้นำที่เป็นระดับบริหารขององค์กร ที่สามารถขับเคลื่อน ผลักดัน ประสานงานกับทุกภาคส่วนได้ โดยคณะทำงานนี้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่จะสามารถให้คำแนะนำกับฝ่ายอื่นๆ 3. Understand External and Internal Contexts จะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจบริบทภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งบริบทที่เกี่ยวข้องกับซีเอสอาร์ มาตรฐานและแนวปฏิบัติต่างๆนั้นมีจำนวนมาก องค์กรจะต้องเลือกและหาทางเชื่อมโยงให้เข้าองค์กรมากที่สุด จะได้ไม่เสียเวลาทำแล้วทำอีก หรือใช้เวลานานไปกับการลองผิดลองถูก 4. Stakeholder collaborations จะต้องมีการกำหนดผู้มีส่วนได้เสียให้ชัดเจน มีการวางกรอบความเชื่อมโยง และแผนการสื่อสารอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียให้เกิดขึ้นกับองค์กรให้ได้อย่างแท้จริง 5. CSR Framework &Tools จะต้องมีกรอบแนวทางการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน และมีเครื่องมือในการขับเคลื่อน ด้วยว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องใหม่ มีการพัฒนาองค์ความรู้อยู่ตลอด การทำซีเอสอาร์อย่างไม่มีเครื่องมือ ทำให้ผลที่ออกมาเป็นเพียงกิจกรรม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นปัญหาเดิมๆ ซีเอสอาร์ก็จะวนอยู่ ณ จุดเดิม ทำกันเป็นครั้งๆ ต้องใช้เงิน 6. Communication Design คือการออกแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการขับเคลื่อนภายใน ซึ่งจะไม่ใช่เพียงการทำ Mass Communication แต่จะต้องทำ Stakeholder Communication ด้วย ในที่นี้คือต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนภายใน ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนภายนอก ก่อให้เกิดการยอมรับ และเกิดการสนับสนุน 7. Knowledge management การจัดการความรู้จากกระบวนการทำซีเอสอาร์ และกระจายความรู้สู่ส่วนงานต่างๆ รวมถึงสามารถพิสูจน์ให้ผู้มีส่วนได้เสียเห็นได้ทุกเมื่อ สำหรับสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งพิมพร ศิริวรรณ ผู้จัดการทั่วไป เปิดเผยว่า สถาบันก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างนายอนันตชัยยูรประถม ซึ่งจุดมุ่งหมายของสถาบัน คือให้บริการให้คำปรึกษา อบรม ตลอดจน ศึกษา วิจัย และพัฒนากรอบเครื่องมือ และออกแบบแผนแม่บท เพื่อสนับสนุนการทำงานซีเอสเอสอาร์ขององค์กรต่างๆ มายแบรนด์ เอเจนซี่ เบอร์โทรศัพท์ : 028643900

แท็ก ซีเอสอาร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ