วว. โชว์เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด ลดปัญหาพังผืดในข้อเข่า เพิ่มพิสัยการเคลื่อนที่ของข้อเข่าหลังการผ่าตัด ทดแทนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์

ข่าวทั่วไป Wednesday May 13, 2009 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--วว. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยพัฒนา “เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด” เครื่องช่วยการเคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่องหลังการผ่าตัด ลดการเกิดพังผืดและการยึดติดบริเวณของข้อเข่า ฟื้นฟูสภาพข้อเข่ากลับสู่ปกติได้เร็ว ลดระยะเวลาพักฟื้น/ทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการทำกายภาพบำบัด เครื่องมีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 50 % นางสาวพิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนา ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด” ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ช่วยการเคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง (continuous passive motion : CPM ) หลังการผ่าตัด ลดการเกิดพังผืดและการยึดติดบริเวณของข้อเข่า ทำให้ฟื้นฟูสภาพข้อเข่ากลับสู่ปกติได้เร็ว ลดระยะเวลาในการพักฟื้นและเวลาการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัด ตัวเครื่องมีราคาถูกกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 50 % “เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด” สามารถนำมาใช้กับคนไข้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บในระหว่างการใช้งาน มีประสิทธิภาพช่วยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าอย่างนุ่มนวลในองศาที่ถูกต้องและเหมาะสม ตัวเครื่องสามารถปรับช่วงการงอของข้อเข่าได้ ตั้งแต่ -10 ถึง 120 องศา และปรับความเร็วในการเคลื่อนไหวได้ 30 องศาต่อนาที ถึง 150 องศาต่อนาที “ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดข้อเข่ามากขึ้น เนื่องจากอุบัติเหตุ โรคเอ็นอักเสบ และข้อเข่าเสื่อมจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเป็นโรคอ้วนทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากกว่าปกติ การเล่นกีฬาหรือทำงานหนักมาก เป็นต้น การรักษาโดยการผ่าตัดข้อเข่าในปัจจุบัน คนไข้ไม่เพียงแต่ต้องการให้หายขาด หากยังคาดหวังให้สามารถหายกลับสู่สภาพปกติโดยเร็วและทำงานได้ดีเหมือนเดิม ด้วยตระหนักถึงปัญหาและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ วว. เคยมีประสบการณ์วิจัยเครื่องมือเพื่อกายภาพบำบัดอยู่แล้ว จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัดขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยมีราคาต่อเครื่องถูกกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 50 % ซึ่งเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาประมาณ 200,000 — 300,000 บาท” นางสาวพิสมัย เจนวนิชปัญจกุล กล่าว ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานของเครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด จะช่วยทำให้เกิดผลดีต่อการบำบัดผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดข้อเข่า หรือเอ็นอักเสบ โดยช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าหลังผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ในองศาที่มากขึ้น เครื่องที่พัฒนาขึ้นสามารถตั้งโปรกรมได้ เช่นตั้งเวลาการบำบัด ตั้งองศาในการเคลื่อนไหว และตั้งความเร็วในการเคลื่อนที่ ได้ อัตโนมัติ มีชุดรีโมทคอนโทรลช่วยควบคุมการทำงาน หลังจากตั้งโปรแกรมการบำบัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถควบคุมเพื่อให้เครื่องหยุดหรื่อทำงานเองได้ระหว่างการบำบัด การใช้เครื่องช่วยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าหลังผ่าตัด ช่วยผ่อนแรงการทำกายภาพด้วยคน และสามารถทำได้สม่ำเสมอกว่าการใช้คแรงงานคนช่วยในการบำบัด ซึ่งการคลื่อนไหวของข้อเข่าหลังผ่าตัด เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื่อและผิวหนังอยู่บ่อยๆ ช่วยลดการยึดติดกันระหว่างกล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัด และทำให้แผลหายเร็ว และการเคลื่อนไหวข้อเข่าสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น “เนื่องจากเครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัดมีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีใช้เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ หรือผู้ป่วยที่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายสูงได้ ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องCPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด สามารถพัฒนาเครื่องให้มีราคาถูกลงและสามารถขยายโอกาสการใช้เครื่องไปสู่โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล ให้ได้ใช้ประโยชน์โดยเทคโนโลยีของคนไทยได้มากขึ้น นอกจากนั้นประสพการณ์จากการพัฒนาเครื่องในครั้งนี้ยังจะเป็นการสร้างฐานเทคโนโลยี ในการพัฒนาเครื่องสำหรับกายภาพบำบัดส่วนอื่นของร่างกายต่อไป เช่น ไหล่ นิ้วมือ และข้อเท้า เป็นต้น” ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “เครื่อง CPM เข่าสำหรับกายภาพบำบัด” ได้ที่ โทร. 0 2579 1121-30 ต่อ 2120 โทรสาร 0 2561 4771 ในวันและเวลาราชการ E-mail : tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ