ดร.วรพล จี้รัฐปรับยุทธศาสตร์ฟื้น ศก. ก่อนตกขบวน เร่งดันไทยเป็นเกตเวย์ของภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเติบโตที่สุดในโลก รับกระแสมุ่งตะวันออก

ข่าวทั่วไป Thursday February 11, 2010 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ “ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์” ชี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ต้องรอการเมืองนิ่ง เผยเศรษฐกิจโลกยังไม่พ้นวิกฤติ จี้รัฐเร่งปรับนโยบายการคลังก่อนหนี้สาธารณะทะลุเพดาน เลือกโครงการที่ทำให้เงินหมุนหลายรอบ หนุนเอกชนและรัฐวิสาหกิจเป็นพระเอกแทนภาครัฐ แนะชิงโอกาสวางยุทธศาสตร์ดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่อนำไทยไปสู่ศูนย์กลางภูมิภาค (เกตเวย์) ที่มีเศรษฐกิจเติบโตที่สุดในโลก สู่ประชากรกว่า 3 พันล้านคน รองรับทิศทางมุ่งตะวันออก (Go East) หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกต่ำ ชูลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับทุกธุรกิจ แล้วทยอยลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI ซึ่งจะมีข้อ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในภาวะการเมืองอึมครึมว่า ถึงแม้ปัจจัยการเมืองจะมีส่วนชี้ชะตาเศรษฐกิจ เพราะมีผลต่อการกำหนดและผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่การจะรอให้การเมืองนิ่งก่อนแล้วจึงจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นย่อมไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ทุกคนอยากให้การเมืองนิ่ง แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของประเทศขณะนี้ก็คือ ปัญหาทางด้านการคลัง ซึ่งมีผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐต้องกู้เงินจำนวนมากมาลงทุน และการตั้งงบประมาณปี 2554 ที่ขาดดุลงบประมาณถึง 4.2 แสนล้านบาท จะทำให้ภาระหนี้สาธารณะขยับขึ้นแตะ 60% ของจีดีพี อันจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวตามคาด ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ต้องลงทุนให้คุ้มค่า สอดคล้องตามยุทธศาตร์ และต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม และจะต้องคุมรายจ่ายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการต่างๆ และนโยบายประชานิยม นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องลดบทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหันมาขับเคลื่อนผ่านภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจให้มากขึ้น “การควบคุมรายจ่ายทางหนึ่งที่จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็คือ การปรับโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนของงบรายจ่ายประจำสูงถึง 78.7% (ประมาณ 1.63 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นจำนวนเท่ากับรายรับที่คาดว่าจะเก็บได้ทั้งปีงบประมาณ และเป็นงบลงทุนเพียง 16.4% ทั้งนี้ ควรจะปรับลดรายจ่ายประจำลงปีละ 2% และจัดสัดส่วนของงบลงทุนให้ได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 25% นอกจากนี้ กรณีปัญหามาบตาพุด ก็ต้องทำให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่มาลงทุน อีกทั้งควรเร่งปรับปรุงและสร้างความชัดเจนของกฎหมายเพื่อหนุนการลงทุนภาคเอกชน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น” ดร.วรพลกล่าว ทั้งนี้ หากมองดูในระดับโลก จะเห็นว่ายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมั่งคงเพียงพอ โดยเฉพาะความวิตกกังวลล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยุโรป ที่หลายประเทศได้ใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น จนอาจจะทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ โดยต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดและจับตาดูสัญญาณจากบริษัทจัดอันดับเครดิต (เครดิตเรตติ้ง เอเจนซี่) ว่าจะปรับลดความน่าเชื่อถือประเทศใดอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็เป็นโอกาสของประเทศในแถบเอเชีย ดังนั้น รัฐบาลจึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของเอเชีย ที่มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกหรือกว่า 3 พันล้านคน ในจีน 1.4 พันล้านคน อินเดีย 1.1 พันล้านคนและเอเชียอาคเนย์ที่เหลือ ไทยจึงควรวางยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค (เกตเวย์) เพื่อให้ไทยเป็นประตูสู่ประชากรกลุ่มนี้ เช่น ยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค หรือ International Logistics Hub , ศูนย์กลางท่องเที่ยวเดินทางของภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตและฐานส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียมากขึ้น “การจะเป็นศูนย์กลางหรือเกตเวย์ได้ จะต้องเร่งลงทุนพัฒนาเครือข่ายด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้กับผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคนี้ เป็นการรองรับกระแสมุ่งตะวันออก (Go East) ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ตกต่ำลง ด้วยการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม แทนที่จะส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะมีข้อจำกัดในอนาคต ด้วยข้อตกลงทางการค้า และขอฝากว่าหากเราวางยุทธศาสตร์ของประเทศไม่เหมาะสมในช่วงนี้ เราก็จะสูญเสียโอกาสนี้ไปเลย” ดร.วรพลกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ยังกล่าวอีกว่า นับจากนี้ไป การใช้จ่ายเงินของรัฐจะต้องให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รั่วไหล และต้องเป็นการลงทุนที่มียุทธศาสตร์ จึงจะยกระดับความสามารถของประเทศขึ้นได้ ดังนั้น การเลือกโครงการลงทุนจะมีความสำคัญมาก โดยต้องก่อให้เกิดการหมุนของเงินได้หลายรอบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย และมีขีดความสามารถมากขึ้นในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งหากมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง จะเกิดการนำเงินมาลงทุนต่อเนื่อง การจ้างงานพัฒนาทักษะและความสามารถของประชาชนไทย และสร้างรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น อีกทั้งดึงเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ภาษีที่จะเก็บเข้ารัฐโดยรวมจะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐจะมีรายได้จากภาษีและรายได้ในรูปแบบอื่นมากขึ้น เผยแพร่ข้อมูลโดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 02-2487967-8 ต่อ 118โทรสาร. 02-248-7969, E-mail address : c_mastermind@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ