บทความ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 11:49 น.

จริยธรรมสื่อมวลชนในยุค AI: ความจริง ความเร็ว และความรับผิดชอบ

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการสื่อสารมวลชน ทั้งในด้านการผลิตและการเผยแพร่ข่าวสาร ประเด็นด้านจริยธรรมของ AI และผลกระทบต่อ “ความจริง” จึงกลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างกว้างขวาง

จากเวทีเสวนา “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025”  จัดขึ้นโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพความท้าทายที่สื่อมวลชนทั่วโลกต้องเผชิญ เพื่อธำรงรักษาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร ท่ามกลางการใช้ AI ที่แพร่หลายและเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนื้อหาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จริยธรรมของ AI จึงมิใช่เพียงเรื่องทางเทคนิคหรือนวัตกรรม แต่เป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารที่มีคุณภาพและรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

บทบาทของ AI ในสื่อและการควบคุมโดยมนุษย์

ปัจจุบัน AI ไม่เพียงแต่เข้ามามีบทบาทในการผลิตข่าวเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงงานโปรดักชั่น ทั้งภาพและเสียง การควบคุมและตรวจสอบจากมนุษย์จึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

แนวคิด “Human in the loop” ที่เสนอโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงถือเป็นหลักการสำคัญที่ต้องรักษาไว้ นั่นคือมนุษย์ต้องเป็นผู้ควบคุม AI เพื่อให้ AI ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน คุณชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เปิดเผยว่า สำนักข่าว ThaiPBS ได้นำ AI มาเสริมในการผลิตสื่อ อาทิ การปรับภาพข่าวจากแนวนอนให้เป็นแนวตั้งสำหรับมือถือ  การสร้างผู้ประกาศเสมือนที่สามารถพูดได้หลายภาษา รวมถึงใช้ในการสร้างสตอรี่บอร์ดเพื่อนำเอาความคิดเห็นต่างๆ มาช่วยเสริมในสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ 

“เรานำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการทำข่าว แต่ไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในห้องข่าว ขณะเดียวกัน ทักษะของนักข่าวยังคงต้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย” คุณชุตินธรา กล่าวเสริม

รศ. ดร. อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีต นักข่าวต้องอาศัย “ชุดความจริง” ที่ได้จากการสัมภาษณ์ การสืบค้น และการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนเผยแพร่ แต่เมื่อ AI สามารถสรุปข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้ในพริบตา จึงเกิดคำถามสำคัญว่า ข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่ และใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูล

สื่อยุค AI: ความเร็วต้องมาพร้อมความรับผิดชอบและจริยธรรม

AI ทำให้การผลิตข่าวรวดเร็วขึ้นอย่างมหาศาล แต่หากขาดการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน รอบด้าน อาจส่งผลให้เกิดข่าวฉาบฉวย ขาดความแม่นยำ และลดทอนคุณภาพของเนื้อหา โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันเกิดขึ้นทุกวินาที การให้ความสำคัญกับความรวดเร็วอาจส่งผลต่อการนำเสนอข้อเท็จจริง

คุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน AI ทำให้สามารถผลิตข่าวได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการกลั่นกรองหรือตรวจสอบให้รอบครอบ จะทำให้ขาดความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหา ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพอย่างมาก 

สื่อมวลชนในยุค AI จึงควรยึดถือจริยธรรมสื่อเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันควรเรียนรู้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ  รู้เท่าทันข้อจำกัดและข้อควรระวังในการใช้งานทั้งด้านหลักจริยธรรมและหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ต่างๆ เพื่อยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ได้

คุณจีรพงษ์ ได้แนะนำถึงการทำหน้าที่เป็น Gatekeeper ของผู้ผลิตข่าว ที่คัดกรอง ตรวจสอบ และรับผิดชอบต่อข้อมูลที่เผยแพร่ “ต้องรักษาบทบาท Gatekeeper และยึดวิถีความเป็นนักข่าวของตัวเองให้ได้ โดยทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง รักษามาตรฐานความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะการโทรตรวจสอบข้อมูล หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ทางการ แทนการเน้นความเร็วามกระแส”

ความร่วมมือเพื่อจริยธรรม AI

การสร้างจริยธรรม AI ในวงการสื่อ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อ, รัฐบาล, และแพลตฟอร์ม AI ต่างๆ ในการเสวนาได้กล่าวถึง “ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะในประเด็นเรื่องสื่อและจริยธรรม AI” โดยเสนอให้

  1. รัฐบาล: ควรออกนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นอันดับแรก เพื่อส่งเสริมเนื้อหาและแหล่งข้อมูลที่เป็นต้นฉบับ (Original Source / Content)
  2. Global Platform และผู้สนับสนุนรายได้ (ทั้งค่าย AI และ Social Media รวมถึงเอเจนซีโฆษณา): ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มีคุณภาพและแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ มากกว่าการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม (Engagement)
  3. องค์กรสื่อมวลชน: ควรสร้างแนวปฏิบัติด้านการใช้ AI ภายในองค์กร รวมถึงอบรมสื่อมวลชนในเรื่องความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) และนโยบายจริยธรรม AI (AI Ethics Policy)
  4. ผู้บริโภคสื่อ / ภาควิชาการ: ควรเสริมสร้างทักษะความรู้เท่าทัน AI ให้แก่สาธารณะ และประชาชนควรสามารถร้องเรียนหรือรายงานเนื้อหา AI ที่ผิดจริยธรรมได้

แม้ AI จะเป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลัง แต่เป็นเสมือนดาบสองคมสำหรับวงการสื่อมวลชน การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ถือเป็นโอกาสสำคัญในการร่วมกันกำหนดกรอบการทำงาน เพื่อให้ AI เป็นเครื่องมือที่สนับสนุน “ความจริง” และรักษาจริยธรรมสื่อในยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ