ในยุคที่กระแสข้อมูลหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งตัวเลขในตาราง รายงานหลายร้อยหน้า หรือกราฟสถิติที่เข้าใจยาก การสื่อสารให้เข้าใจง่ายและน่าจดจำจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะในโลกที่ผู้คนมีเวลาและความสนใจจำกัด การเล่าเรื่องด้วยข้อมูล (Data Storytelling) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนข้อมูลดิบให้กลายเป็นเรื่องราวที่มีพลัง
Data Storytelling คือการสื่อสารที่เป็นศิลปะการผสมผสานระหว่างชุดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง เทคนิคการเล่าเรื่อง และการใช้ภาพประกอบ เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอทั่วไป แต่เป็นการเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนให้กลายเป็นเรื่องราวที่จับใจ ทำให้ผู้ฟัง “เข้าใจ” “เห็นภาพ” “รู้สึก” และ “จดจำ” สิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ดีกว่าการใช้สถิติหรือตัวเลขเพียงอย่างเดียว
องค์ประกอบสำคัญของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล
หัวใจของ Data Storytelling อยู่ที่การเปลี่ยนข้อมูลดิบให้กลายเป็นสารที่ชัดเจน สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมโยงกับผู้รับสาร หรือในบางกรณีก็สามารถชี้นำให้เกิดการตัดสินใจหรือการลงมือทำได้ ดังนั้น การเล่าเรื่องด้วยข้อมูลที่ดีต้องมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์
เริ่มต้นที่ประเด็นหลักต้องชัดเจน การใช้ภาษาควรกระชับ ไม่ซับซ้อน และเสริมด้วยภาพประกอบหรือกราฟที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้เล่าควรกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัดว่าต้องการสื่อสารอะไรกับผู้ฟัง หรืออยากให้ผู้ฟังคิดหรือทำอะไรต่อจากเรื่องราวที่ได้รับ
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เมื่อต้องการแสดงข้อมูลเชิงตัวเลขหรือสถิติ จำเป็นต้องมีข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลจาก Government Data Catalog (GD Catalog) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลที่มีการรวบรวมและบูรณาการโดยภาครัฐ
การวางโครงสร้างเรื่องราวก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรมีลำดับที่เหมาะสม เรียงลำดับการนำเสนอจากสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือเข้าใจง่ายไปสู่สิ่งที่ซับซ้อน ทำให้ผู้ฟังสามารถติดตามและเข้าใจได้อย่างต่อเนื่อง
การใช้เครื่องมือช่วยสร้างเรื่องราว
นักเล่าเรื่องมืออาชีพมักใช้โครงสร้างที่ชัดเจน การใช้ โครงสร้างของการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling ที่จะช่วยให้การสร้างเรื่องราวง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การเริ่มต้น การเปิดเรื่องให้น่าสนใจ เช่น การตั้งคำถาม หรือการยกตัวอย่างชีวิตจริง ทำให้ผู้ฟังสนใจในประเด็นที่จะเกิดขึ้น ตามด้วยการยกปัญหาหรือประเด็นหลัก ที่เกี่ยวข้องกับผู้ฟังที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เมื่อมีการแสดงข้อมูลเชิงตัวเลขหรือสถิติ และจบด้วย ทางออกหรือบทเรียน ที่ผู้ฟังสามารถนำไปใช้ได้จริง
นอกจากนี้ การหา Keyword ของเรื่อง ถือเป็นเทคนิคสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางของเนื้อหาให้ชัดเจน ควบคู่กับ Data Framing ซึ่งเป็นการคัดเลือกและนำเสนอข้อมูลที่ตรงประเด็น หลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือออกนอกกรอบ
สร้างข้อมูลด้วย Storytelling Canvas
Storytelling Canvas เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยออกแบบโครงสร้างการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลให้เป็นระบบ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางสู่ข้อมูลที่ลงตัว ช่วยให้จัดลำดับความคิดและองค์ประกอบของเรื่องราวเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการสร้างอินโฟกราฟิกหรือรายงาน
Canvas นี้จะช่วยให้เห็นภาพรวมทั้งหมดและทุกส่วนของเรื่องราวสอดคล้องกัน ตั้งแต่เป้าหมายของเรื่อง กลุ่มเป้าหมาย ประเด็นหลักและข้อมูลที่ใช้ ไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อ และข้อสรุปที่ต้องการนำไปสู่การปฏิบัติ ช่วยให้การเล่าเรื่องด้วยข้อมูลของเรามีทิศทางที่ชัดเจนและครบถ้วน ไม่หลงประเด็น

ตัวอย่างที่สะท้อนถึงความแตกต่าง
การนำเสนอข้อมูลเดียวกันในรูปแบบที่ต่างกัน ทำให้การรับสารมีความแตกต่างด้านอารมณ์ความรู้สึกและการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้เล่าต้องการสื่อสาร ยกตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย หากใช้การสื่อสารแบบดั้งเดิมคือ “ปี 2024 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 14 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน” ซึ่งเป็นรูปแบบการนำเสนอข้อเท็จจริงทั่วไป
หากเพิ่มวิธีการเล่าเรื่องเข้าไปจะสามารถเล่าได้ว่า “ปีที่แล้ว คุณป้าเจ้าของโฮมสเตย์ในเชียงรายบอกว่าลูกค้าที่เคยมาเต็มทุกห้องตอนหน้าหนาว ปีนี้กลับเงียบเหมือนปิดหมู่บ้าน สถิติบอกว่านักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 14 ล้านคน แต่ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่รวมถึงปัญหาเรื่องปากท้องของผู้คนที่เราไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน”
จะเห็นได้ว่าการนำเสนอแบบเล่าเรื่องราวนี้ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูล แต่ยังทำให้ได้รับอรรถรสของข้อมูล สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึก ความตระหนักของผู้รับสาร รวมถึงการชักจูงให้คล้อยตามมากขึ้น Data Storytelling จึงไม่ใช่แค่การนำเสนอให้คนฟัง แต่คือการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลกับชีวิตจริง ผู้รับสารจะได้รับประเด็นหลักของการสื่อสาร รวมถึงเข้าใจถึงบริบทโดยรวม แลการสื่อความหมายที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ที่นำไปสู่การตัดสินใจหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้น