โรงเรียนธุรกิจ IMD เผยรายงานการจัดอันดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศทั่วโลกประจำปี 2557

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 22, 2014 08:44 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

โลซาน, สวิตเซอร์แลนด์--22 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำ ขณะที่ยุโรปกำลังฟื้นตัว ส่วนตลาดเกิดใหม่สำคัญๆ กำลังดิ้นรนอย่างหนัก IMD โรงเรียนธุรกิจชั้นนำของโลกซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศทั่วโลกประจำปี 2557 โดย IMD World Competitiveness Center ซึ่งนอกเหนือจากการจัดอันดับประเทศต่างๆ 60 ประเทศแล้ว ยังได้มีการสรุปมุมมองของแต่ละประเทศในฐานะแหล่งลงทุนทางธุรกิจด้วย (โลโก้: http://photos.prnewswire.com/prnh/20140522/687031-a ) (รูปภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20140522/687031-b ) (รูปภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20140522/687031-c ) “ภาพรวมของศักยภาพทางการแข่งขันในปี 2557 คือ สหรัฐอเมริกายังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยุโรปฟื้นตัวบางส่วน และตลาดเกิดใหม่หลายประเทศกำลังดิ้นรนอย่างหนัก” ศาสตราจารย์อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center กล่าว “ไม่มีสูตรสำเร็จใดที่ทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งไต่อันดับในตารางนี้ได้ เพราะอันดับขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของประเทศนั้นๆ มากกว่า” ประเด็นเด่นในการจัดอันดับประจำปี 2557 สหรัฐอเมริกายังคงครองอันดับ 1 ในปี 2557 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตัวเลขจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับอันดับอื่นๆในท็อปเทนก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างสวิตเซอร์แลนด์ (2) สิงคโปร์ (3) และฮ่องกง (4) ยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันสูง โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออก ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และนวัตกรรมที่ทันสมัย ด้านยุโรปปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเดนมาร์ก (9) ขึ้นมาติดอันดับท็อปเทนร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสวีเดน (5) เยอรมนี (6) และนอร์เวย์ (10) ส่วนประเทศรอบนอกยุโรปอย่างไอร์แลนด์ (15) สเปน (39) และโปรตุเกส (43) ต่างไต่อันดับขึ้น ขณะที่อิตาลี (46) และกรีซ (57) อันดับต่ำลง ญี่ปุ่น (21) ยังคงไต่อันดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในต่างประเทศ ส่วนประเทศอื่นในเอเชียอย่างมาเลเซีย (12) และอินโดนีเซีย (37) มีอันดับสูงขึ้น ขณะที่ประเทศไทย (29) อันดับร่วงลงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อันดับของตลาดเกิดใหม่ใหญ่ๆส่วนมากร่วงลง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว ท่ามกลางโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคงไม่เพียงพอ โดยอันดับของจีน (23) ปรับตัวลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ขณะที่อินเดีย (44) และบราซิล (54) ประสบปัญหาตลาดแรงงานที่ขาดสมรรถภาพและการจัดการธุรกิจอย่างไร้ประสิทธิภาพ ส่วนตุรกี (40) เม็กซิโก (41) ฟิลิปปินส์ (42) และเปรู (50) ล้วนมีอันดับลดลงทั้งสิ้น มุมมอง: ภาพลักษณ์ของประเทศต่างๆในเวทีสากล IMD ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารที่ประจำอยู่ในประเทศที่ติดอันดับท็อปเทน ซึ่งผลปรากฎว่า 7 ใน 10 ประเทศที่ติดอันดับท็อปเทน ยังอยู่ในกลุ่มประเทศท็อปเทนที่มีภาพลักษณ์สากลที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้วย ทั้งนี้ โดยทั่วไปอันดับรวมของประเทศหนึ่งๆ จะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับภาพลักษณ์ของประเทศนั้นๆในฐานะแหล่งลงทุนทำธุรกิจ (ดูตาราง) บรรดาผู้บริหารในสิงคโปร์มีมุมมองที่ดีมากต่อภาพลักษณ์ของประเทศตนเองในสายตาชาวโลก ขณะที่ไอร์แลนด์ ชิลี กาตาร์ และเกาหลีใต้ ก็มีอันดับนี้สูงกว่าอันดับรวมอย่างมาก ในทางกลับกัน ผู้บริหารในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไต้หวัน และโปแลนด์ มีทัศนคติเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศตนเองที่แย่กว่ามาก โดยผลสำรวจของสหรัฐอเมริกาสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศและภาวะชะงักงันทางการเมืองในประเทศ ขณะที่มุมมองเกี่ยวกับฝรั่งเศสยังคงเป็นเรื่องของการปฏิรูปที่เชื่องช้าและทัศนคติด้านลบของประเทศต่อโลกาภิวัฒน์ “การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี แต่มุมมองต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า และมุมมองเหล่านี้ยังสามารถนำพาประเทศไปสู่วงจรแห่งความรุ่งเรืองทั้งในด้านภาพลักษณ์และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น” บริสกล่าว “ดังนั้นความรู้สึกที่ผู้บริหารมีต่อภาพลักษณ์ของประเทศตนเองจึงเป็นแนวทางที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันในอนาคต” ผลการจัดอันดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศทั่วโลก (IMD World Competitiveness Yearbook) ใช้เกณฑ์การตัดสินมากกว่า 300 เกณฑ์ ซึ่งอ้างอิงกับตัวบ่งชี้ทางสถิติและผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 4,300 รายทั่วโลกซึ่งจัดทำโดย IMD รายงานนี้เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2532 และได้รับการยอมรับในฐานะรายงานประจำปีชั้นนำด้านการจัดอันดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศทั่วโลก ติดต่อ แมทธิว มอร์เทลลาโร โทร. +41-21-618-0352 อีเมล: matthew.mortellaro@imd.org แหล่งข่าว: IMD International

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ