ผลสำรวจชี้ฉลามเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์โดยปริยายจากแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Thursday July 23, 2020 08:00 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ซีแอตเทิล--23 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ โครงการ Global FinPrint ของมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation เผยว่าความหวังยังมีอยู่ หากมีการใช้มาตรการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ผลการศึกษาครั้งสำคัญของ Global FinPrint ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เผยให้เห็นว่า ฉลามสูญหายไปจากแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าฉลามหายากมากจนขาดบทบาทในระบบนิเวศ ส่งผลให้เข้าสู่ “ภาวะสูญพันธุ์โดยปริยาย” ในที่สุด โดยจากการสำรวจแนวปะการัง 371 แห่ง ใน 58 ประเทศ ปรากฏว่าไม่พบฉลามในพื้นที่สำรวจเกือบ 20% ซึ่งบ่งชี้ถึงการลดจำนวนลงในหลายพื้นที่แต่ไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลมาก่อนจนถึงตอนนี้ ขณะเดียวกัน การสำรวจยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์เพื่อช่วยฟื้นฟูประชากรนักล่าใต้ท้องทะเลเหล่านี้ นักสำรวจไม่พบฉลามในแนวปะการังใดเลยใน 6 ชาติ ได้แก่ สาธารณรัฐโดมินิกัน หมู่เกาะเวสต์อินดีส เคนยา เวียดนาม หมู่เกาะวินด์เวิร์ด และกาตาร์ โดยในจำนวนนี้พบฉลามเพียง 3 ตัวระหว่างการสำรวจนานกว่า 800 ชั่วโมง “ถึงแม้ผลการสำรวจของ Global FinPrint จะแสดงให้เห็นว่าฉลามหายไปจากแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลกอย่างน่าสลดใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณแห่งความหวัง” โจดี อัลเลน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation กล่าว “ข้อมูลจากการสำรวจประชากรฉลามในแนวปะการังทั่วโลกครั้งแรกนี้จะมอบแนวทางที่สำคัญในการวางแผนอนุรักษ์และปกป้องฉลามปะการังที่เหลืออยู่” สถานการณ์ของฉลามปะการังทั่วโลกเป็นสัญญาณเตือนการสูญพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญ จุดดึงดูดการท่องเที่ยว และนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในแนวปะการัง อันเป็นผลมาจากการล่าฉลามมากเกินไป โดยเฉพาะการประมงแบบทำลายล้าง เช่น การใช้เบ็ดราวและอวนลอย “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นผลกระทบเชิงลบจากฝีมือมนุษย์ที่มีต่อประชากรฉลามปะการัง โดยมีความชัดเจนว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาคือความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ การประมงแบบทำลายล้าง และการขาดธรรมาภิบาล” ดร. เดเมียน แชปแมน ผู้นำร่วมของโครงการ Global FinPrint และรองศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Florida International University กล่าว “อย่างไรก็ดี เราพบว่าประชากรฉลามจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ หากมนุษย์มีความตั้งใจ มีมาตรการ และมีแผนอนุรักษ์ฉลามอย่างจริงจัง” ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่ามีหลายประเทศที่อนุรักษ์ฉลามอย่างจริงจังและใช้มาตรการเฉพาะเจาะจงที่มีประสิทธิภาพ โดยประเทศที่อนุรักษ์ฉลามได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคประกอบด้วยออสเตรเลีย บาฮามาส สหพันธรัฐไมโครนีเซีย เฟรนช์พอลินีเชีย มัลดีฟส์ และสหรัฐอเมริกา ชาติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามมีมากกว่าที่อื่น นั่นคือ การบริหารจัดการที่ดี เช่น การห้ามจับฉลามอย่างเด็ดขาด หรือการควบคุมให้จับฉลามได้โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ “ชาติเหล่านี้มีประชากรฉลามมากกว่าที่อื่นเพราะมีธรรมาภิบาลในการแก้ปัญหาดังกล่าว” ดร. อารอน แมคนีล ผู้นำการวิจัยของ Global FinPrint และรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Dalhousie University กล่าว “การกำหนดชนิดของอุปกรณ์จับปลา การจำกัดการจับฉลาม หรือการห้ามจับและค้าฉลามในระดับประเทศ ล้วนเป็นมาตรการชัดเจนที่เราสามารถทำได้เพื่อควบคุมการจับฉลามปะการังในเขตร้อน” ทีมงาน Global FinPrint กำลังต่อสู้กับข้อเท็จจริงที่ว่า มาตรการอนุรักษ์ฉลามเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่นักวิจัยกำลังศึกษาว่าต้องบริหารจัดการระบบนิเวศควบคู่กันด้วยหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีปลาในแนวปะการังมากพอสำหรับเป็นอาหารของนักล่าเหล่านี้ “การสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว แต่เรายังติดตามต่อว่าการที่ฉลามหายไปจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแนวปะการังอย่างไร” ดร. ไมค์ ไฮธอส ผู้นำร่วมของโครงการ Global FinPrint และคณบดีวิทยาลัยศิลปะ วิทยาศาสตร์ และศึกษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Florida International University กล่าว “ในยามที่แนวปะการังอยู่รอดยากขึ้นเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของฉลามปะการังอาจสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบนิเวศแนวปะการังทั้งหมด” โครงการ Global FinPrint ริเริ่มขึ้นในฤดูร้อนปี 2558 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานีบันทึกวิดีโอใต้น้ำระยะไกล (BRUVS) ที่มีการติดตั้งกล้องวิดีโอพร้อมเหยื่อล่อ หรือ “Chum Cam” การสำรวจระบบนิเวศแนวปะการังด้วย BRUVS ดำเนินการใน 4 ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก แปซิฟิก แอตแลนติกตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ตลอดระยะเวลา 4 ปี ทีมงานได้บันทึกและวิเคราะห์วิดีโอความยาวรวมกว่า 15,000 ชั่วโมง ที่ได้มาจากการสำรวจแนวปะการัง 371 แห่ง ใน 58 ประเทศ รัฐ และดินแดนทั่วโลก โดยทีมงานประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักอนุรักษ์หลายร้อยคนจากเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง Florida International University, Australian Institute of Marine Science, Curtin University, Dalhousie University และ James Cook University สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://globalfinprint.org เกี่ยวกับ Global FinPrint Global FinPrint คือโครงการของมูลนิธิ Paul G. Allen Family Foundation ซึ่งนำโดย Florida International University และสนับสนุนโดยกลุ่มความร่วมมือขององค์กรทั่วโลกที่ครอบคลุมนักวิจัย ผู้ให้ทุน และนักอนุรักษ์ โครงการนี้เป็นโครงการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จำนวนประชากรปลากระเบนและฉลามปะการังทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา เกี่ยวกับ Paul G. Allen Family Foundation Paul G. Allen Family Foundation มุ่งมั่นแก้ปัญหาสำคัญของโลกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิแห่งนี้ก่อตั้งโดยโจดี อัลเลน นักการกุศล และพอล จี. อัลเลน ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เพื่อสนับสนุนพันธมิตรในแนวหน้าทั่วโลกที่ทำงานอนุรักษ์มหาสมุทร ปกป้องสัตว์ป่า ต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทางมูลนิธิมอบทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี เติมเต็มช่องว่างด้านข้อมูลและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เกี่ยวกับ Florida International University Florida International University (FIU) คือมหาวิทยาลัยวิจัยของรัฐที่ตั้งอยู่ในเมืองไมอามี และให้ความสำคัญกับความสำเร็จของนักศึกษา ข้อมูลจาก U.S. News and World Report ระบุว่า FIU รั้งอันดับ 42 จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยรัฐชั้นนำ 50 แห่งในสหรัฐอเมริกา โดย FIU เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของสหรัฐ (R1) ที่ได้รับงบประมาณกว่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนั้นยังติดอันดับ 15 มหาวิทยาลัยรัฐชั้นนำด้านการผลิตสิทธิบัตรเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม และเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ผลักดันให้รัฐฟลอริดาครองความเป็นผู้นำด้านการอุดมศึกษา ติดต่อ: press@pgafamilyfoundation.com รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1216375/GlobalFinPrint.jpg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ