บริษัทและองค์กรกว่า 300 แห่งผนึกกำลังแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมในมหาสมุทรทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday January 26, 2021 08:20 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

บรรดาผู้นำอุตสาหกรรมและผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึง A.P. Moller - Maersk, BP, BW, Cargill, COSCO, DOW, Euronav, MISC, NYK, Rio Tinto, Shell, Trafigura, Unilever และ Vale ได้ลงนามในปฏิญญา Neptune Declaration on Seafarer Wellbeing and Crew Change ซึ่งเป็นปฏิญญาว่าด้วยสวัสดิภาพของชาวเรือและการผลัดเปลี่ยนลูกเรือ เพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันยุติวิกฤตการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะนี้ ชาวเรือหลายแสนคนทั่วโลกถูกปล่อยให้ทำงานบนเรือเกินเวลาที่ระบุในสัญญาและไม่สามารถขึ้นฝั่งได้เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความเหนื่อยล้าจากการอยู่ในทะเลเป็นเวลานานส่งผลอย่างมากต่อสุขภาวะทางกายและทางจิตของชาวเรือ นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะประสบเหตุทางทะเลและภัยธรรมชาติ และเป็นภัยคุกคามต่อความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทานทางทะเล ซึ่งขนส่งสินค้า 90% ของการค้าทั่วโลก

แม้ว่าองค์กร สหภาพ บริษัท และรัฐบาลหลายประเทศจะพยายามอย่างมากเพื่อจัดการกับวิกฤตการผลัดเปลี่ยนลูกเรือ แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายลง เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศประกาศแบนการเดินทางเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีปัญหาสำคัญหลายประการที่ส่งผลให้วิกฤตการณ์นี้ไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่ การที่ทางการประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงมองว่าการผลัดเปลี่ยนลูกเรือและการเดินทางระหว่างประเทศเสี่ยงทำให้โควิด-19 ระบาด ขณะที่มาตรการรักษาสุขภาพคุณภาพสูงไม่ได้มีการใช้อย่างต่อเนื่องโดยผู้ประกอบกิจการเดินเรือ รวมถึงอุปสรรคในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เที่ยวบินระหว่างศูนย์กลางการผลัดเปลี่ยนลูกเรือกับประเทศที่มีการเดินเรือมีจำนวนลดลง

"เรากำลังเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมในท้องทะเล ตลอดระยะเวลาที่ไวรัสโคโรนาระบาด ชาวเรือยังคงทำหน้าที่ขนส่งอาหาร พลังงาน และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ เพื่อป้อนประชากรโลก โดยไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวเมื่อไหร่ พวกเขากลายเป็นตัวประกันเพราะสถานการณ์พาไปและไม่สามารถออกจากเรือได้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถยุติวิกฤตการผลัดเปลี่ยนลูกเรือโดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข" Jeremy Nixon ซีอีโอของ ONE กล่าว

บริษัทและองค์กรกว่า 300 แห่งตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะที่มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเดินเรือทั้งหมด เพื่อรับประกันว่าวิกฤตการผลัดเปลี่ยนลูกเรือจะได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ทั้งหมดจึงลงนามในปฏิญญา Neptune Declaration on Seafarer Wellbeing and Crew Change ซึ่งกำหนดมาตรการหลัก 4 ประการเพื่อสนับสนุนการผลัดเปลี่ยนลูกเรือและช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานโลกไม่สะดุด ดังนี้

- ต้องตระหนักว่าชาวเรือเป็นแรงงานที่มีความสำคัญ และให้สิทธิในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อน
- กำหนดและบังคับใช้มาตรการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานสูง โดยอิงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
- ยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบกิจการเดินเรือกับผู้เช่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลัดเปลี่ยนลูกเรือ
- รับประกันการขนส่งชาวเรือทางอากาศระหว่างศูนย์กลางการเดินเรือสำคัญ ๆ

"ชาวเรือมีบทบาทสำคัญในการเร่งสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ด้วยการขนส่งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่ประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา พวกเขามีความสำคัญต่อสวัสดิภาพของประชากรหลายล้านคน เราขอเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานด่านหน้าของห่วงโซ่อุปทานโลก" Graham Westgarth ประธานของ V. Group กล่าว

ปฏิญญา Neptune Declaration พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเดินเรือ ซึ่งรวมถึง A. M. Nomikos, Cargill, Dorian LPG, GasLog, Global Maritime Forum, International Chamber of Shipping, International Maritime Employers' Council, International Transport Workers' Federation, ONE, Philippine Transmarine Carriers, Sustainable Shipping Initiative, Synergy Group, V. Group และ World Economic Forum

อ่านปฏิญญา Neptune Declaration รวมถึงดูรายชื่อบริษัทและองค์กรทั้งหมดที่ร่วมลงนามในปฏิญญาได้ที่ https://www.globalmaritimeforum.org/content/2020/12/The-Neptune-Declaration-on-Seafarer-Wellbeing-and-Crew-Change.pdf 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: Torben Vemmelund หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร อีเมล: tve@globalmaritimeforum.org หรือโทร: +45 2224 1446 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ