สุนทรพจน์: มาตรการรองรับความผันผวนจากค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2010 14:44 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

Keynote Address

เรื่อง มาตรการรองรับความผันผวนจากค่าเงินบาท

โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงาน “ธุรกิจปรับตัวอย่างไร ในภาวะวิกฤตค่าเงินบาท :

ปัญหาระยะสั้น หรือความท้าทายระยะยาว”

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เวลา 17.30 น.

ณ ห้อง Meeting Room 3-4 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

-----------------------------------------------------------------------------------

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานเสวนาของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ ธุรกิจปรับตัวอย่างไร ในภาวะวิกฤตค่าเงินบาท : ปัญหาระยะสั้น หรือความท้าทายระยะยาว ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่กำลังร้อนแรงสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ด้วยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้โน้มแข็งขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศทั้งในทางบวกและทางลบแตกต่างกันไป แต่สำหรับทุกท่านในที่นี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นคงเป็นความท้าทายอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ การเสวนาในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะได้ทราบถึงกลยุทธ์ในการปรับตัวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางและมาตรการรองรับปัญหาของภาครัฐ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

ผมขอเริ่มการบรรยายในวันนี้ด้วยเรื่อง ที่มาที่ไปของการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร จะยืดเยื้อยาวนานขนาดไหน ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่าภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท และบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่ออดั ฉีดเงิน หรือที่เรียกกันในนามว่า QE (Quantitative Easing) เข้ากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระลอก และล่าสุดสหรัฐฯได้เริ่มการอัดฉีดเม็ดเงินอีกครั้ง ที่เรียกกันว่า QEII นั้น โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินทั้งสิ้นประมาณหกแสนล้านดอลลาร์ สรอ. เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลประมาณเดือนละเจ็ดหมื่นห้าพันล้านดอลลาร์ สรอ. นับจากตอนนี้จนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า ผลของการทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเหล่านี้ ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าสภาพคล่องล้นโลก

ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งนี้น้อยกว่าและมีพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดี จึงฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น เศรษฐกิจไทยที่ในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.3-8.0 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 2.2 ในปีที่แล้ว ส่งผลต่อเนื่องให้สภาพคล่องที่ล้นระบบไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมทั้งไทยเป็นจำนวนมาก กดดันให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยที่ผ่านมามีความแข็งแกร่ง โดยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในทุกตลาดและทุกกลุ่มสินค้าหลัก โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 นี้ การส่งออกของไทยขยายตัวถึงร้อยละ 29.7 และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าทั้งป ?2553 มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 25.5-28.5 ซึ่งสอดคล้องกับของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 24.5 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผมอยากจะทำความเข้าใจกับทุกท่านในที่นี่ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ การที่เงินทุนไหลเข้ามา เนื่องจากปัจจัยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับสหรัฐฯ ต่ำเป็นที่สองในภูมิภาครองจากไต้หวัน สำหรับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเราได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้

ท่านผู้มีเกียรติครับ

มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงมีคำถามในใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนจี้ อยู่กับเราอีกนานแค่ไหน ผมขอเรียนว่า เราคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปยังคงมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไป แม้ว่าในระยะสั้นบางช่วงจะมีเหตุการณ์ทสี่ งผลสวนกลับแนวโน้มเป็นระยะ เช่น วิกฤตในประเทศไอร์แลนด์ที่อาจจะลุกลามไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปอีกระลอก สถานการณ์การสู้รบระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ และแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในประเทศเราเองหากการเมืองยังไม่เรียบร้อยก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้กับประเทศเราได้ แต่ในระยะยาวแล้วแนวโน้มก็น่าจะเป็นเช่นนี้อยู่จากสภาพคล่องที่ล้นโลก ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหลักทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ทำให้มีความเป็นไปได้สูงกว่าการฟื้นตัวของประเทศกลุ่มเศรษฐกิจหลักเหล่านคี้ งใช้เวลานานกว่าความเข้มแข็งจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งหมายความว่าคงยังไม่ถอนมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษออกง่ายๆ ทำให้สภาวะสภาพคล่องล้นโลกคงยังมีอยู่ต่อไป

ในขณะเดียวกัน ก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร ที่ปรากฏว่าภาคเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกลับเป็นกลุ่มที่โดดเด่นและเป็นผู้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จนถูกมองว่าเอเชียกำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกแทนกลุ่มเดิมในระยะต่อไป ดังนั้นเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศจึงมีแนวโน้มผันผวนและมีขนาดสูงต่อเนื่องต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งเร็วขึ้นและเริ่มมีการถอนการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปในช่วงก่อนหน้า (Exit policy) ก็คงจะทำให้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ซึ่งเราคงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวนมากนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ สำหรับคนที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ ผู้ที่มีการนำเข้าสินค้าทุนและผู้ประกอบการที่มีหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เรามีความเป็นห่วงและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยอาศัยหลายวิธีด้วยกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเราได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการส่งออกทั่วประเทศ เพื่อสอบถามถึงผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงข้อจำกัดในการป้องกันความเสี่ยง พบว่าในภาพรวม ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และกลุ่มที่ใช้แรงงานสูง ซึ่งลักษณะของสินค้าไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่งมากนักและมีความยากในการปรับราคาสินค้าและต้นทุน เนื่องจากมีอำนาจต่อรองน้อย นอกจากนี้เราได้ออกพบปะกับผู้ประกอบการเป็นประจำทุกไตรมาส และยังมีโครงการพิเศษที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยพบผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค พบว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวยังพอปรับตัวได้ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกได้รับผลกระทบบ้างจากรายได้เงินบาทที่ลดลง นอกจากนี้ เรายังได้เข้าพบกับผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ด้วยเพื่อสอบถามถึงผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อลูกค้านอกเหนือจากการติดตามตัวเลขและแนวโน้มของการส่งออกที่เราทำตามปกติ พบว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เลวร้ายถึงขั้นวิกฤตดังหัวข้อของการเสวนา

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศตระหนักถึงความจำเป็นในการช่วยภาคธุรกิจรับมือกับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน จึงได้จัดสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ซึ่งมีคลินิกตอบปัญหาเพื่อไขข้อข้องใจแก่ผู้ประกอบการในตอนท้ายของสัมมนาด้วย โดยมีการจัดทั้งที่ส่วนกลางและจัดร่วมกับสำนักงานภาคของธนาคารทั้ง 3 แห่ง รวมเป็น 4 ครั้งต่อปี

สำหรับการดำเนินการในเชิงนโยบายนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งสะท้อนได้จากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเงินสำรองทางการเพิ่มขึ้นจากหนึ่งแสนสี่หมื่นสามพันห้าร้อยล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤษภาคม 2553 มาอยู่ที่ระดับถึงหนงึ่ แสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคม 2553 อย่างไรก็ดี การเข้าแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของการดูดซับสภาพคล่องที่เป็นผลพวงจากการเข้าดูแลค่าเงิน เนื่องจาก (1) มีต้นทุนจากการออกพันธบัตร ซึ่งจะทำให้รายได้นำส่งภาครัฐลดลงส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจในภาพรวม และ (2) ขนาดของตลาดพันธบัตรไทยที่ยังมีธุรกรรมไม่มากนักในปัจจุบัน อาจไมส่ มารถปรับตัวเพื่อรองรับปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทัน และส่งผลต่อการทำงานของกลไกตลาดได้ นอกจากนี้ การแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีมูลค่าเป็นราคาตลาดในช่วงที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น

สำหรับส่วนที่สอง เป็นเรื่องของการออกมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยภาครัฐ ได้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบการในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ และเพื่อช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศด้วย ได้แก การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยอนุญาตให้มีการทำสัญญาจากประมาณการค่าสินค้าและบริการภายใน 1 ปีได้ จากเดิมที่ต้องยื่นเอกสารแสดงภาระผูกพันหรือเงินได้เงินตราต่างประเทศเท่านั้นรวมทั้งผ่อนผันให้สามารถยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ทุกกรณี และยังผ่อนผันให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้าประเทศในจำนวนที่สูงขึ้น ตลอดจนอนุญาตให้ผู้ส่งออกชำระค่าระวางเรือเป็นเงินตราต่างประเทศได้

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากค่าเงินบาทด้วยไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติซึ่งกระทรวงการคลังได้ยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ร้อยละ 15) จากกำไรและดอกเบี้ยในพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อ เร่งการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เช่น ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกมีช่องทางในการซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า การสนับสนุนหลักประกันแก่ SMEs เพื่อทำการซื้อขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้าผ่านธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ SMEs โดยให้สินเชื่อเงินบาทและสินเชื่อเงินดอลลาร์ สรอ. ผ่านสถาบันการเงินของภาครัฐ

ส่วนด้านการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายในระดับหนึ่งแล้ว อาทิ ระบบการติดตาม (Monitoring system) ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ทันการณ์มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที และการเพิ่มความเข้มงวดในส่วนของมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศทุกแห่งไม่ออกตั๋วแลกเงินทุกสัญญา เพื่อกู้ยืมเงินบาทจากต่างชาติ พร้อมทั้งให้จัดส่งข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารทางการเงินของต่างชาติเป็นรายวัน นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เพิ่มความสมดุลระหว่าง capital inflows and outflows โดยการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับ capital outflow ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยผ่อนคลายให้นิติบุคคลสามารถลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือได้ไม่จำกัดจำนวนและกิจการนอกเครือได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในวงเงินที่สูงขึ้น ทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่ออยู่อาศัยตลอดจน การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยมีการเพิ่มวงเงินที่จัดสรรโดย กลต.ให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการให้ผู้ลงทุนสถาบันสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายให้นักลงทุนสถาบันสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (Offshore) เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังผ่อนคลายให้บุคคลในประเทศสามารถนำเงินบาทซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากโดยไม่มีภาระผูกพันได้มากขึ้น

สำหรับมาตรการในการควบคุมเงินทุน หรือ capital controls นั้น ผมขอเรียนว่า ณ ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการในการควบคุมเงินทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด ไม่ว่าการเก็บภาษีเงินลงทุนจากต่างประเทศ เช่น Tobin tax หรือ inflow tax อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาหากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา คือการมีเครื่องมือและนโยบายที่หลากหลายและสามารถนำมาผสมผสานกันได้ดี และหวังว่าจะสามารถทำได้ในเวลาที่เหมาะสม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

อย่างไรก็ดี นโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐคงไม่เพียงพอหากผู้ประกอบการไม่ดูด้านการปรับตัวของตนเองด้วย ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคเศรษฐกิจอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็งภายใต้ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้น ภาคเอกชนจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้สามารถรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม อาทิ การบริหารความเสี่ยงแบบ Natural Hedge และการกระจายความเสี่ยงโดยการออกใบเรียกเก็บเงินในสกุลเงินต่างๆ แล้วภาคเอกชนยังจำเป็นต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้มีความหลากหลายและตรงความต้องการของตลาด รวมทั้งการหาตลาดใหม่มาทดแทนตลาดที่กำลังซื้ออ่อนแรงลง ตลอดจนปรับปรุงการบริหารจัดการด้านการเงินและการจัดทำบัญชีให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งเงินทุนเพื่อการขยายธุรกิจหรือการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการเสริมโอกาสทางธุรกิจในอีกทางหนึ่งด้วย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

สถานการณ์ที่ผ่านมาโดยทั่วไปแม้จะไม่สดใสนักและมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราจะฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปได การส่งออกของเราก็ยังขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ส่งออกของไทยมีการปรับตัวด้วยการกระจายตลาดส่งออกมายังประเทศกลุ่ม Non-G3 มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย เช่น จีน อาเซียน ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังขยายตัวดีและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาครัฐเองทั้งรัฐบาลและแบงก์ชาติไม่ได้ทอดทิ้ง แต่เราคงต้องยอมรับและพร้อมอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ผมเข้าใจและเห็นใจจริงๆ เพราะธุรกิจมี Margin ต่ำและการทำธุรกรรม Hedging ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ผมหวังว่าการเสวนาในช่วงต่อไปคงได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และภาคธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่อาจจะเป็นแนวทางในการปรับตัวต่อไป

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ