แนวโน้มเศรษฐกิจปีกระต่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2011 13:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

ผู้บริหารส่วนส่วนเศรษฐกิจมหภาค

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปีเสือดุได้ผ่านไปแล้ว นับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งที่สามารถฝ่าฟันมรสุมมาได้หลายครั้งหลายครา ถึงวันนี้ เราพูดได้เต็มปากว่า เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวแล้ว ทั้งจากวิกฤตการเงินโลก และจากปัญหาความไม่สงบในประเทศ ตลอดจนปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีซึ่งส่งผลกระทบเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ยังมีคำถามต่อไปอีกว่า เมื่อฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจไทยในปีกระต่ายจะเป็นอย่างไร การเติบโตจะสะดุดหรือไม่ และจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด

ไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะมีความกังวลกับเศรษฐกิจปีกระต่าย เพราะความเสี่ยงต่างๆ ในปีเสือก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ภาวะการเมืองในประเทศแม้จะดีขึ้นมากแล้วแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศหลักเช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังไม่แสดงการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก ทำให้เงินทุนยังคงไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตสงกว่า ซึ่งจะส่งผลให้เรื่องความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ที่สำคัญ ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะโตจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 9.2 และ 6.7 ตามลำดับนั้น เมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส กลับเป็นการติดลบต่อเนื่อง ทำให้มีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ และเมื่อหลายคนเห็นประมาณการเศรษฐกิจปีกระต่ายของสำนักพยากรณ์ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็อาจยิ่งรู้สึกกังวลที่เห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงไป จากประมาณร้อยละ 7-8 ในปีเสือ เหลือเพียงร้อยละ 4-5 แต่หากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าอัตราการขยายตัวที่สูงในปีเสือนั้นเป็นเรื่องของการคำนวณจากฐานที่ต่ำ แต่ถ้าดูจากระดับการผลิตและการใช้จ่าย จะเห็นว่ายังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเป็นการเร่งตัวกลับขึ้นมาหลังจากที่ระดับการผลิตและการใช้จ่ายตกต่ำลงไปมากในช่วงวิกฤตการเงินโลก ดังนั้น การขยายตัวในปีกระต่ายที่สำนักต่างๆ ประมาณการไว้ราวร้อยละ 4-5 จึงเรียกได้ว่า อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และสะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยมากกว่าในปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ปกติ

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ดี จะเป็นแรงส่งให้การเติบโตเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ในปีเสือที่ผ่านมา เราเห็นการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบตลอดจนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก กลับมาเร่งตัวดีเกินคาดในช่วงปลายปี ภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่า

ของเงินบาทก็ยังสามารถส่งออกคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สูงเป็นประวัติการณ์ แม้รายได้เป็นเงินบาทของผู้ส่งออกย่อมลดน้อยลงไปบ้าง แต่ภาครัฐก็ยังคงบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทและอุทกภัยให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ การลงทุนที่ซบเซาไปนานก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง

เมื่อมองไปข้างหน้า การใช้จ่ายในประเทศน่าจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปัจจัยต่างๆ ก็ยังอยู่ในทิศทางที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ต่อเนื่อง ทั้งการจ้างงานและรายได้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนมาตรการกระตุ้นและการลงทุนของภาครัฐที่ยังมีการดำเนินการต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย แม้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำ และดอกเบี้ยนโยบายที่หักด้วยอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงติดลบ

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ ซึ่งจะส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อตามไปด้วย การที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยกันถ้วนหน้านั้น บางคนอาจมองว่าเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการและประชาชน แต่ถ้ามองในมุมกลับ หากธนาคารกลางปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดกับดักเงินเฟ้อจนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็ว ในที่สุดแล้ว ภาวะเงินเฟ้อนี้ก็จะกลับมาทำให้ค่าของเงินที่เราทำมาหาได้มีค่าลดลงอยู่ดี และเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่างๆ ในปีเสือก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ภาครัฐและเอกชนยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องจับตามองพัฒนาการของสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของยุโรปที่อาจกลับมาสร้างปัญหาได้อีก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็หันมาให้ความสนใจทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เพื่อช่วยผ่อนปรนผลกระทบลงได้บ้าง สำหรับการเมืองในประเทศ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น หากเราสามารถก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งต่างๆ และจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จเรียบร้อยโดยไม่มการใช้ความรุนแรง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนย่อมจะกลับคืนมา เศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งสมกับที่เป็นปีกระต่ายทอง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2554

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ