บ่ายนี้มีคำตอบที่ยังไม่ได้ตอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 13:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสรา ชื่นโชคสันต์

เศรษฐกรอาวุโส ทีมนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

สายนโยบายการเงิน

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ผมได้มีโอกาสออกรายการ “บ่ายนี้มีคำตอบ” ทางช่อง 9 อสมท ร่วมกับ ดร. ทรงทรรม ปิ่นโต และคุณเกศสรินทร์ ตันสุวรรณรัตน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องหน้าที่ของแบงก์ชาติในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม แต่เสียดายที่เวลามีจำกัด จึงไม่สามารถตอบคำถามจากประชาชนได้อย่างทั่วถึง วันนี้จึงขอเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่ได้ตอบ โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า ประชาชนสามารถพึ่งแบงก์ชาติในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่สูงๆ เช่น จากเดิมโตโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 มาเป็นร้อยละ 10 อย่างยั่งยืนได้หรือไม่?

เอาล่ะครับ ก่อนที่จะด่วนสรุปถึงคำตอบ ต้องขอเท้าความอธิบายในสิ่งที่ได้พูดไปแล้วในรายการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของนโยบายการเงินว่า จริงๆ แล้วหน้าที่ของนโยบายการเงินไม่ได้แตกต่างจากคนขับรถแท็กซี่เลย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการจากคนขับรถแท็กซคี่ งจะหนีไม่พ้น 2 อย่างคือ หนึ่งต้องส่งถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว และสองต้องส่งถึงที่อย่างปลอดภัย ซึ่งในกรณีของนโยบายการเงิน แบงก์ชาติก็อยากขับเคลื่อนรถคันนี้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้ ให้โตสูงๆ อย่างรวดเร็ว แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าจะต้องทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนและปลอดภัยเช่นกัน

ฟังดูแล้ว หน้าที่คนขับแท็กซี่เหมือนเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งเพราะคนขับรถต้องรู้ว่าขนาดของเครื่องยนต์ใหญ่ขนาดไหน มีศักยภาพแค่ไหน? หากเราขับรถเร็วกว่าที่ขนาดของเครื่องยนต์จะรับได้ เครื่องก็จะร้อนและพังไปในที่สุด เฉกเช่นเศรษฐกิจที่โตเร็ว เติบโตอย่างร้อนแรงเกินกำลัง ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่จนกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ

มันไม่ใช่เรื่องแปลก แบงก์ชาติทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาแบบนี้เช่นกัน เพราะว่าทรัพยากรต่างๆ ทางเศรษฐกิจนั้นมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านแรงงาน ที่ดินทำกิน หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ล้วนมีจำกัดทั้งสิ้น แต่ความต้องการของคนเรานั้นไร้ขีดจำกัด ฉะนั้น หากเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงประชาชนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างเมามัน และเราไม่สามารถผลิตสินค้าให้ทันความต้องการได้เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด สินค้าก็จะขาดแคลน ทำให้ของแพงขึ้นกลายเป็นเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ทุกคนระมัดระวังการใช้จ่าย มีการเก็บออมมากขึ้น สินค้าในตลาดมีเหลือเฟือพ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขึ้นราคาได้ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจึงไม่มีหรือมีน้อย

จะเห็นได้ว่า แบงก์ชาติมีบทบาทต่อเศรษฐกิจ เพราะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการจับจ่ายใช้สอยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือนั่นเอง ในเวลา ที่แบงก์ชาติเห็นว่าประชาชนใช้จ่ายมากเกินไป เริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อ เราก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อส่ง สัญญาณและสร้างแรงจูงใจในประชาชนออมมากขึ้น ในทางกลับกัน ในเวลาที่ทุกคนระมัดระวังการใช้ จ่าย แรงกดดันต่อเงินเฟ้อไม่มี เราก็ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย พูดง่ายๆ ก็คือแบงก์ชาติจะเหยียบ คันเร่งหรือผ่อนคันเร่งก็เพื่อให้รถยนต์วิ่งตามศักยภาพของเครื่องยนต์ โดยเรามีเกณฑ์วัดความร้อน (เงิน เฟ้อ) เป็นเครื่องชี้ นี่ก็คือความหมายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ โตตามกำลังที่เรา ผลิตได้ หากทำได้เช่นนี้แล้ว เราจะสามารถส่งประชาชนให้ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วภายใต้เงื่อนไขของ การส่งอย่างปลอดภัย

ทีนี้ ก็มาถึงคำถามที่ว่า จะใช้นโยบายการเงินเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจโตในอัตราที่สูงๆ เช่นจากเดิมโตโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 มาเป็นร้อยละ 10 อย่างยั่งยืนได้หรือไม่? คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเครื่องยนต์ หรือประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาเงินเฟ้อจะไม่เกิดเลยแม้ในกรณีที่เศรษฐกิจโตสูงๆ หรือมีการใช้จ่ายอย่างร้อนแรงถ้าผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ทัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าผู้ผลิตมีทรัพยากรที่จำกัด ฉะนั้น อะไรก็ตามที่กระทบต่อประสิทธิภาพของผู้ผลิตในการใช้ทรัพยากร (ที่จำกัด) จะกระทบศักยภาพของเศรษฐกิจ เช่น คุณภาพแรงงาน หากเรามีแรงงานที่มีความสามารถมากขึ้นก็ย่อมผลิตสินค้าได้มากขึ้น หากเรามีเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้แต่การเปลี่ยนระบบบริหารจัดการที่สามารถลดขั้นตอนการผลิตต่างๆ ได้ ล้วนสามารถทำให้เราผลิตสินค้าได้มากขึ้นภายใต้ทรัพยากรเท่าเดิม จะเห็นได้ว่า หากศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราสูงขึ้นแบงก์ชาติก็สามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจโตสูงๆ ตามศักยภาพที่สูงขึ้นได้

มาถึงตรงนี้ก็ต้องเรียนว่า นโยบายการเงินไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของประเทศโดยตรง เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลให้ระบบบริหารจัดการดีขึ้นหรือทรัพยากรการผลิตมีคุณภาพมากขึ้น การที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้นั้น ต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วนภาครัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่างๆ เช่น ลดต้นทุนด้านการขนส่งตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและแรงงาน ขณะที่ภาคเอกชนต้องปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยี ยกระดับเครื่องไม้เครื่องมือการผลิต ตลอดจนการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบายการเงินจะมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของประเทศแค่ทางอ้อมเท่านั้น จากการสร้างเสถียรภาพ การสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดี ซึ่งตอกย้ำถึงหน้าที่ของนโยบายการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ โตตามขนาดของเครื่องยนต์ หากเราสามารถเพิ่มขนาดของเครื่องยนต์ได้แล้ว แบงก์ชาติก็สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่ตามศักยภาพเพื่อความยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะบรรลุไม่ได้ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันผลักดันยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ