สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนเมษายน ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2011 11:07 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 10/2554

เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนเมษายน

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตภาคเกษตร และอุตสาหกรรมที่เร่งขึ้นจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง กอปรกับการท่องเที่ยวขยายตัว แม้ว่า ทางด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากความกังวลด้านราคา แต่การจำหน่ายยานยนต์ยังขยายตัวสูงจากรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งยางและปาล์มน้ำมันส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 13.5 ตามผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่ ดัชนีราคาพืชผลยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 และ 56.5 ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.8 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราสูงร้อยละ 11.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ผลผลิตลดลงร้อยละ 5.1 ตามการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ โดยการผลิตยางแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อน เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลแช่แข็ง ถุงมือยาง ไม้ยางพารา และดีบุก เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตอาหารทะเลกระป๋องลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเหตุการณ์การเมืองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทำให้คำสั่งซื้อลดลง

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.1 แม้จะได้รับผลจากอุทกภัยในบางพื้นที่ของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญก็ตาม เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและภาคเอกชนกอปรกับนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยจังหวัดภูเก็ตนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และออสเตรเลีย ส่วนจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ผลจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถใหม่ยังขยายตัวสูงตามรายได้จากภาคเกษตร และสินเชื่อเช่าซื้อรถที่ยังคงขยายตัว

การลงทุน ลดลง ตามเครื่องชี้ทุกประเภท ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่ และทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและขาดแคลนแรงงาน กอปรกับเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้น

การส่งออก มีมูลค่า 1,781.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 47.1 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกยางพาราเป็นสำคัญ จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งดีบุก ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง และสัตว์น้ำแช่แข็ง

การค้าผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกขยายตัว โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 44.4 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดยางพารา เป็นสำคัญ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ไม้

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวประมาณร้อยละ 16.8 ตามความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ 18.8 เป็นผลจากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรักษาฐานลูกค้าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 ตามราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะหมวดอาหารสด ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.25 รวมทั้งหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของภาคใต้เป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail: Somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ