สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 14:44 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2554

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออกของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป ขณะที่อุปสงค์ในต่างประเทศโดยเฉพาะจีนยังมีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวยังขยายตัว แม้จะเกิดเหตุระเบิดที่อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสในช่วงปลายไตรมาสก็ตาม ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากรายได้เกษตรและรายได้จากการท่องเที่ยว สำหรับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาสินค้าอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มี ดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.2 เป็นสำคัญ เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่ขยายเพิ่มให้ผลผลิตเต็มที่และมีสัดส่วนปาล์มพันธุ์ดีเพิ่มขึ้น แม้ว่าผลผลิตยางพาราลดลงร้อยละ 5.4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ตามการผลิตน้ำมันปาล์มที่ผลผลิตเข้าสู่โรงงานและการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตยางพาราแปรรูป ไม้ยางพาราแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ อาหารทะเลแช่แข็ง และถุงมือยาง การผลผลิตลดลงจากราคาที่สูงขึ้น

ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.7 จากนักท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภาคใต้ชายแดน และฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นผลจากการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีสายการบินระหว่างประเทศและในประเทศหลายสายการบิน แต่จากเหตุการณ์ระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอลงจากไตรมาสก่อน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.9 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เกษตรกรอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.3 และรายได้จากการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดีเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว จากภาคการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาก โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเคลื่อนที่ย้อนหลัง 12 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 นอกจากนี้ ทุนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9

ภาคต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ขยายตัว โดยมีมูลค่าการส่งออก 5,863.7 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.1 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม และอาหารกระป๋อง เป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้า 3,502.9 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นมากร้อยละ 72.4 โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์จากการนำเข้าแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติผ่านด่านสงขลา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ

เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวประมาณร้อยละ 15.1 และ 18.2 ตามลำดับ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจ และการบริโภคส่วนบุคคล

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.93 ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นทุกหมวดย่อย โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ รวมทั้งราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าน้ำประปา และวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4713 e-mail : somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ