สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 10:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 05/2555

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนแต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวประกอบกับการเบิกจ่ายของภาครัฐลดลง ด้านอุปทาน ภาคเกษตรกรรม รายได้เกษตรกรชะลอตัวเนื่องจากการหดตัวของราคามันสำปะหลังและยางพารา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการผลิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
1. ด้านการผลิต

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชผลสำคัญ สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามผลของราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอลง โดยดัชนีราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น 2.3 เป็นผลจากการลดลงของราคามันสำปะหลัง และยางพาราเป็นสำคัญในขณะที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 15,547.70 บาทสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลงจากผลกระทบของอุทกภัยและผลจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 13,216.90 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลง หัวมันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.40 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.4 ตามความต้องการของประเทศจีนที่ชะลอลงเป็นสำคัญ อ้อยโรงงานราคาเฉลี่ยตันละ 1,040.50 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 ตามค่าความหวานของอ้อยสูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.64 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 ยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 93.10 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.7 หดตัวต่อเนื่อง เป็นผลจากอุตสาหกรรมยานยนต์หยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการเร่งผลิตเพื่อสต็อกไว้จำหน่ายตามที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงหดตัวแต่น้อยกว่าเดือนก่อนจากผลกระทบของอุทกภัยในภาคกลางคลี่คลายลง

ภาคการค้า ลดลงเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการค้าในหมวดยานยนต์ที่หดตัวน้อยลง เนื่องจากปัญหาการขนส่งรถยนต์หลังปัญหาอุทกภัยน้อยลง ขณะที่การค้าปลีกและค้าส่งยังชะลอตัว จากการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุทกภัยที่คลี่คลายลงทำให้ผู้บริโภคกักตุนสินค้าลดลงจากที่เร่งซื้อไปมากเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเริ่มเข้าสู่ภาวะการซื้อขายในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนยานยนต์ทุกประเภทเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 เป็นผลจากภาคการก่อสร้างที่ชะลอลงเป็นสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมหดตัวมากกว่าคาด สะท้อนจากภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัวทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนของการประกอบกิจการใหม่การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ภาคการคลัง รายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 4,775.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะจากภาษีประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 19,649.5 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.9 ตามงบลงทุนที่ลดลงถึงร้อยละ 87.0 จากรายจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่จัดสรรให้แก่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ยังคงลดลง เนื่องจากรอการผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2555 อย่างไรก็ตาม งบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 ตามหมวดเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานราชการ

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.8 เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และน้ำมันปิโตรเลียม และการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากสินค้าหมวดสินแร่โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์การเกษตร

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.2 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าหมวดทุนได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร ขณะที่การนำเข้าที่หดตัวจากการนำเข้าของป่าและการนำกลับเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ

4. ภาวะการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม มีเงินฝากคงค้าง 474.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 จากเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำเป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อคงค้าง 534.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอลงของสินเชื่อในภาคธุรกิจ และการหดตัวของสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ธุรกิจผลิตน้ำตาล ธุรกิจผลิตยานยนต์ และเครื่องยนต์ ขณะที่สินเชื่อในภาคครัวเรือนยังขยายตัวดี ตามสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 112.8 และยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนธันวาคม มีเงินฝากคงค้าง 284.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.6 ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการขยายของเงินฝากทุกธนาคาร สำหรับสินเชื่อคงค้าง 758.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.1 ขยายตัวจากเดือนก่อน จากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ขยายตัวตามสินเชื่อในนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นสำคัญ

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.74 ชะลอลงจากร้อยละ 2.82 ในเดือนก่อน ตามการชะลอลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหารโดยเฉพาะน้ำตาล ไข่และข้าว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 0.71 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.08 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาค่าไฟฟ้าที่มีการปรับลดมาตรการความช่วยเหลือค่าไฟฟ้าจาก 90 หน่วยแรก เหลือ 50 หน่วยแรก สำหรับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.46 สูงขึ้นจากร้อยละ 2.03 ในเดือนก่อน

ภาวะการทำงาน เดือนธันวาคมมีกำลังแรงงาน 13.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 13.4 ล้านคน และเป็นผู้ว่างงาน 0.06 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 ผู้มีงานทำเป็นแรงงานในภาคเกษตร 8.4 ล้านคน นอกภาคเกษตร 5.0 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคการขายส่ง การขายปลีก และอุตสาหกรรมการผลิตภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐในเดือนนี้มีผู้สมัครงาน 8,950 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 โดยมีตำแหน่งงานว่าง 5,479 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และผู้ได้รับการบรรจุงาน 4,623 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 สำหรับการบรรจุงานเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่งการขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์ ในอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด

แรงงานไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 3,840 คนลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 45.0 ตามการลดลงของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในเกือบทุกประเทศ ยกเว้นประเทศอิสราเอลและญี่ปุ่นที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 8 เท่า และ 2 เท่า ตามลำดับ สำหรับจังหวัดที่มีแรงงานไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดคืออุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น ตามลำดับ

ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ