บทวิเคราะห์: ปัญหาน้ำมันปาล์ม อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 19, 2012 13:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรายังคงจำเหตุการณ์วิกฤตน้ำมันปาล์มจนต้องเข้าคิวกันซื้อเมื่อต้นปี 2554 วิกฤตในครั้งนั้นเกิดจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศทั้งบริโภคและผลิตไบโอดีเซลขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ราคาผลปาล์มดิบเพิ่มขึ้นมากจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม ทำให้ไม่สามารถขายปลีกได้ในราคาควบคุมไม่เกิน 38 บาทต่อลิตรได้ สินค้าจึงขาดตลาด ในที่สุดรัฐบาลต้องขยายราคาควบคุมบรรจุขวดเป็นลิตรละ 47 บาท และต่อมาหลังจากสถานการณ์คลี่คลายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ลดราคาควบคุมลงเหลือลิตรละ 42 บาท อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันประมาณกลางเดือนมีนาคม 2555 สถานการณ์เริ่มย้อนรอยเดิมอีกครั้ง โดยผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มได้เรียกร้องให้รัฐบาลขยายราคาควบคุมเป็นลิตรละ 50 บาท เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล จึงเป็นที่กังวลว่าจะเป็นชนวนให้น้ำมันปาล์มขาดตลาดซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง

สำหรับเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากผลผลิตขาดแคลนเหมือนปีก่อน ในทางตรงข้ามผลผลิตและสต็อกยังอยู่ในระดับสูงจากปกติ โดยราคาที่สูงเกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนี้

ประการแรก เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ราคาน้ำมันปาล์มของไทยอิงกับตลาดมาเลเซีย ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก โดยราคาตลาดโลกจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มสูงขึ้น ตามผลผลิตที่ตึงตัวอันเนื่องมาจากพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในอเมริกาใต้ประสบภัยแล้งยาวนาน ขณะเดียวกันสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยให้ราคาน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มตลาดมาเลเซียสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ราคาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบไทยสูงขึ้นตาม

ประการที่สอง เกิดจากความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภค อุตสาหกรรมและผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อรัฐบาลประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 5*(1) ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทำให้ความต้องการใช้บี 100 เพื่อผสมในน้ำมันดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้ราคาผลปาล์มขยับขึ้นต่อเนื่องจากเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.38 บาทในเดือนตุลาคม 2554 เป็นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.09 บาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 (โดยวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ราคาสูงสุด 6.60 บาทต่อกิโลกรัม)

ประการสุดท้าย ตั้งแต่หลังวิกฤตเดือนมีนาคม 2554 ผลปาล์มทะยอยออกสู่ตลาดมากจนสต็อกอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์*(2) ผู้ผลิตจึงมีการส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปี 2554 มีการส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศจ้านวน 381,847 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 กว่า 3 เท่าตัว ส่งผลให้สต็อกที่สูงถึง 302,416 ตันในเดือนพฤศจิกายน 2554 ได้ลดเหลือ 211,680 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555

เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการโรงกลั่น รัฐบาลจึงมีแนวทางที่จะนำเข้าน้ำมันปาล์มราคาถูกมาจำหน่ายให้ผู้ประกอบการโรงกลั่น ส่งผลด้านจิตวิทยาระยะสั้นทำให้ราคาผลปาล์มทะลายเริ่มอ่อนตัวต่อเนื่องจากกิโลกรัมละ 6.50 บาทเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2555 มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.95 บาทในสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม 2555 ทั้งนี้ หากมีการนำเข้าจริงอาจจะทำให้ราคาผลปาล์มตกต่ำจนเกิดการประท้วงของเกษตรกร เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้พยากรณ์ว่าปี 2555 ผลปาล์มทะลายจะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 อีกร้อยละ 7.8 โดยจะเริ่มทะยอยออกสู่ตลาดในไตรมาส 2 ก็คงจะหนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมาพยุงราคา เห็นได้จากบทเรียนปี 2554 หลังจากมีการนำเข้าในเดือนมีนาคม ผลผลิตก็เริ่มออกสู่ตลาดมากจนรัฐบาลต้องเข้าไปพยุงราคาผลปาล์มในเดือนเมษายนไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 6 บาท นอกจากนี้ หากโรงกลั่นน้ำมันปาล์มชะลอการซื้อน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มก็จะหันไปส่งออกมากขึ้นแทน อาจส่งผลให้น้ำมันปาล์มในประเทศขาดแคลนได้อีก

การแก้ไขปัญหาโดยการนำเข้าน้ำมันปาล์มจึงไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกยังมีโอกาสสูงขึ้นได้อีกตามราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านทวีความรุนแรงขึ้น (โดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเส้นตายแก่จีน อินเดียและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของอิหร่านลดการน้าเข้าน้ำมันจากอิหร่านภายใน 28 มิถุนายน 2555 มิฉะนั้นจะถูกคว่ำบาตรทางการเงิน) อาจส่งผลให้การแก้ไขปัญหายิ่งยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะควบคุมราคาหรือปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้รับผลกระทบคงไม่พ้นผู้บริโภคอยู่ดี เพราะหากปล่อยราคาน้ำมันปาล์มลอยตัวผู้บริโภคต้องมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสินค้าที่เกี่ยวข้องปรับราคาเพิ่มขึ้นตาม หากควบคุมราคาไว้สินค้าก็อาจขาดตลาดหรือซื้อได้ในราคาสูงจากตลาดมืด และหากรัฐบาลชดเชยส่วนขาดทุนให้โรงกลั่น งบประมาณที่ชดเชยก็มาจากภาษีของประชาชนผู้บริโภคนั่นเอง

ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติควรมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การดูแลพัฒนาพันธุ์ปาล์มและเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ได้มีการพูดกันมานาน นอกจากนี้ ในระยะยาวควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับตัวควบคู่ไปด้วย

*(1) เป็นการผสมบี 100 ลงในน้ำมันดีเซล 5% จากเดิมที่ผสมอยู่ 4%

*(2) เดิมระดับสต็อกปกติอยู่ที่ 120,000 ตัน ปัจจุบันเป็น 150,000 ตัน

          บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ