สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 11:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2555

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากการผลิตภาคการเกษตรที่ชะลอตัวตามผลผลิตปาล์มน้ำมัน ส่วนการอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในภาคกลางที่คลี่คลายทำให้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งการผลิตรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับรายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน และการท่องเที่ยวยังขยายตัวจากนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะจีนและรัสเซียที่เข้ามาทดแทนตลาดยุโรป สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นตามเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณมีผลบังคับใช้

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและยางแปรรูปประกอบกับราคายางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง

ด้านเสถียรภาพราคา อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ส่วนในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มราคาปรับเพิ่มขึ้นในหมวดวัสดุก่อสร้างและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มตามราคาน้ำมัน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.6 ขณะเดียวกันปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือประมงและผลผลิตกุ้งชะลอลงเช่นกัน

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.5 ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องที่ลดลงจาก ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบปลาทูน่า ขณะที่ปรับราคาขายได้ยาก รวมทั้งการผลิตยางแปรรูปที่ลดลงตามการส่งออกยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการซื้อโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ถุงมือยาง และไม้ยางแปรรูปเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.8 3.2 15.4 และ 10.5 ตามลำดับ

ทางด้านการส่งออก มีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.8 จากการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางพารา ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 35.4 แม้ว่าการส่งออกสินค้าสำคัญอื่น เช่น ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง จะเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนการนำเข้าลดลงร้อยละ 27.6 ตามการลดลงของมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็ง และน้ำยางสังเคราะห์

อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในภาคกลางที่คลี่คลายทำให้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นสะท้อนจาก การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การผลิตรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก

ประกอบกับรายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยลดลงร้อยละ 16.2 จากที่ลดลงถึง ร้อยละ 25.1 เป็นผลจากราคาปาล์มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 หลังจากที่ลดลงติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ตามราคาตลาดโลก และมีความต้องการต่อเนื่องจากโรงกลั่นและผู้ผลิตไบโอดีเซล ขณะเดียวกันราคายางแม้จะยังคงลดลงแต่ก็ปรับตัวดีขึ้น โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 กิโลกรัมละ 108.81 บาท ลดลงร้อยละ 24.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 36.4

นอกจากนี้การท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะจีนและรัสเซียที่เข้ามาทดแทนตลาดยุโรป เป็นการขยายตัวทั้งในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ชายแดน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จำนวน 527,795 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 6.0 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 66.5P ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ชายแดน

ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เป็นผลจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีผลบังคับใช้ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่เร่งรัดให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.03 สูงขึ้นจากร้อยละ 3.99 ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน เพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น หมวดพาหนะการขนส่งและ การสื่อสาร ปรับสูงขึ้นจากราคาต้นทุนและราคาน้ำมันเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4710 e-mail : Nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ