FAQ Issue 44: ถอดรหัสมาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2011 14:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 44

ถอดรหัสมาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

ปริเยศ พจชมานะวงศ์

Summary

มาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement) สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อเป้าประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และสร้างความเชื่อมั่นแก่ ผู้ฝากเงิน ดูแลปริมาณเงินและการขยายตัวของสินเชื่อ รวมถึงเป็นเครื่องมือเสริมของการดำเนินนโยบายการเงิน แต่การใช้เครื่องมือดังกล่าวมีข้อจำกัด เนื่องจากอาจสร้างความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจจากการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มาตรการ RR ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ดังนั้น การใช้มาตรการ RR จึงต้องพิจารณาถึงประสิทธิผลและความเหมาะสมต่อโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินและกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและบั่นทอนประสิทธิภาพของเครื่องมือหลักในการทำนโยบาย

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศโดยเฉพาะ ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกาหันมาใช้มาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement: RR) เพิ่มขึ้น FAQ ฉบับนี้จึงต้องการตอบคำถามว่า อะไรคือแรงจูงใจของการใช้มาตรการดังกล่าว และมาตรการจะมีประสิทธิผลดังที่แต่ละประเทศตั้งใจไว้มากน้อยเพียงใด

การที่จะตอบคำถามข้างต้นได้ ต้อง เข้าใจถึงลักษณะการทำงานและประโยชน์ของมาตรการ RR ก่อน มาตรการ RR เป็นการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของมูลค่าหนี้สินหรือเงินฝากที่สถาบันการเงินต้องถือไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ได้แก่ เงินสดหรือสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อคืนให้กับเจ้าหนี้หรือผู้ฝากเงินได้โดยเร็ว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมาตรการ RR จำกัดมิให้สถาบันการเงินนำสภาพคล่องไปปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมด จึงถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้บริหารปริมาณเงิน (Quantity) หรืออุปทานของเงินที่ผ่านเข้าออกระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ แตกต่างจากการทำงานของนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือหลักของนโยบายการเงินด้านราคา (Price) ที่ส่งผลผ่านอุปสงค์ของเงิน เนื่องจากการเปลี่ยน แปลงอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการออมและกู้เงินของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 เครื่องมือจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้ในที่สุด วัตถุประสงค์ของมาตรการ RR

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา บทบาทและ ความสำคัญของมาตรการ RR เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมทางการเงินและพัฒนาการของเครื่องมือทางการเงินอื่น ซึ่งการนำมาใช้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์ภายใต้วัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้

1. เป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ (Micro-prudential Measure) ซึ่งเป็นแนวคิดแรกเริ่มในการใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญในการระดมทุนและการให้กู้ยืม ทั้งนี้ การดำรงสภาพคล่องไว้ในระดับที่พอเพียงทำให้โอกาสที่จะเกิด Bank run และผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีน้อยลง ในปัจจุบันกฎระเบียบและแนวทางการกำกับดูแลด้านสภาพคล่องของทางการ เช่น liquidity ratio มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ทำให้การใช้มาตรการ RR เพื่อวัตถุประสงค์นี้มีความสำคัญน้อยลงกว่าในอดีต

2. เป็นเครื่องมือควบคุมปริมาณเงิน (Monetary tool) และการขยายตัวของสินเชื่อ (Macro-prudential measure) ในประเทศที่ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้เป้าหมายปริมาณเงิน (Monetary targeting) มาตรการ RR ถือเป็นเครื่องมือดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ภายใต้ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านตัวทวีทางการเงิน (Money multiplier) ตัวอย่างของประเทศที่ใช้มาตรการ RR เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ได้แก่ ประเทศจีน ที่ปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงเงินสดสำรองทางการของธนาคารพาณิชย์ (Reserve requirement ratio: RRR) ถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2553 จากเฉลี่ยร้อยละ 15.0 เป็นร้อยละ 21.0 เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่อ ในขณะที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะเวลา 1 ปี เพียง 5 ครั้ง จากร้อยละ 5.31 เป็น 6.56 ต่อปี การที่จีนใช้ RRR เป็นเครื่องมือหลัก เพราะ (1) ความพร้อมของเครื่องมือดูดซับสภาพคล่องของธนาคารกลางจีนยัง มีไม่มาก อีกทั้งอำนาจต่อรองส่วนใหญ่ในตลาด การเงินอยู่ในมือสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางสำคัญของระบบการเงินจีน ทำให้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและผลต่อสภาพคล่องมีจำกัด (Geiger (2008)) (2) ตลาดการเงินของจีนอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปยังระบบการเงินที่อ้างอิงกลไกตลาดในการกำหนดราคา (Market-based) มากขึ้น จึงยังคงต้องใช้มาตรการด้านปริมาณ (Quantity-based monetary measures) ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นมาตรการด้านราคาอยู่ และ (3) การตัดสินใจด้านนโยบายดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับภาคการเมือง*(1) ธนาคารกลางจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดมาตรการ RRR เป็นหลัก เพราะมีความคล่องตัวในด้านการตัดสินใจมากกว่า สำหรับธนาคารกลางอินเดีย มีเป้าหมายของนโยบายการเงินคืออัตราการขยายตัวของสินเชื่อและเสถียรภาพด้านราคา โดยใช้การขึ้น Cash reserve ratio หรือสัดส่วนเงินสดสำรองเทียบกับปริมาณเงินฝาก ซึ่งทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องสำหรับการปล่อยกู้ได้น้อยลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงมีปัญหาโครงสร้างตลาดคล้ายคลึงกับจีน

จากตัวอย่างข้างต้น ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายปริมาณเงิน มาตรการ RR มีบทบาทที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาในการดูแลเศรษฐกิจ แต่การนำมาตรการ RR มาใช้ภายใต้กรอบนโยบายการเงินอื่นอาจมีความซับซ้อนมากกว่า ทั้งในด้านการส่งสัญญาณที่อาจขัดแย้งกับเครื่องมือหลัก และในด้านการสื่อสารของแนวนโยบายการเงิน ดังจะกล่าวในส่วนต่อไป

3. เป็นเครื่องมือช่วยบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ (Liquidity management)แม้ในกลุ่มประเทศที่กลไกตลาดการเงินทำงานได้ดี ในช่วงวิกฤตที่การส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดขัด อาจมีความจำเป็นต้องหันไปใช้มาตรการเสริม เช่น มาตรการ RR เพื่อช่วยจัดการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ เช่นในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่ปรับลด RR ในช่วงวิกฤตเพื่อช่วยรองรับความต้องการสภาพคล่องในช่วงที่ความมั่นใจในตลาดการเงินมีน้อย*(2)

4. เป็นเครื่องมือเสริม (Complementary ของการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อหลีกผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย (Policy dilemma) เห็นได้จากประสบการณ์ในช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุดของประเทศในละตินอเมริกา ที่การไหลเข้าของเงินทุนอย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงและสินเชื่อขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น โคลัมเบียและเปรู จึงตัดสินใจใช้มาตรการ RR ควบคู่กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อจำกัดสภาพคล่องที่จะเข้าสู่ระบบ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณเงินได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจะต้องปรับในอัตราที่มากขณะเดียวกันอาจจะดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น และมีผลต่อเนื่องไปถึงเสถียรภาพด้านราคา อย่างไรก็ดี ประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายแบบผสมผสานเช่นนี้ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากวิกฤตทางการเงินโลกในปี 2551 ได้ปะทุขึ้นก่อน แต่ในระยะสั้นพบว่าเงินทุนยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงไม่มาก และในกรณีของประเทศเปรู สินเชื่อยังคงเร่งตัว เนื่องจากเปรูถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ (Dollarization) ในระดับสูงถึงประมาณร้อยละ 65 ซึ่งทำให้ประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายด้วยอัตราดอกเบี้ยและมาตรการ RR ในสกุลเงินท้องถิ่นมีจำกัด จึงต้องปรับเพิ่ม RR ของเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน

ธนาคารกลางตุรกีก็มีความกังวลว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจะดึงดูดเงินทุนไหลเข้าเช่นกัน จึงใช้การดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน แต่เป็นนโยบายที่ตรงกันข้าม โดยเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 และขยาย Corridor ของอัตราดอกเบี้ยให้กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มความผันผวนของผลตอบแทนและลดแรงจูงใจต่อเงินทุนไหลเข้า ในขณะเดียวกันได้ปรับขึ้น RR เพื่อควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อ ทำให้นโยบายดังกล่าวแตกต่างจากนโยบายของประเทศในละตินอเมริกา เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แต่การดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงินผ่าน RR ที่สูงขึ้นเป็นการส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทำให้ตลาดเกิดความสับสนและกลายเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในฐานะผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ แม้มาตรการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าและทำให้ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลง แต่ก็ไม่สามารถชะลอการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนได้ ส่งผลให้เงินเฟ้อคาดการณ์ปรับสูงขึ้น

ในภูมิภาคเอเชีย ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับเพิ่มอัตรา RR ในเดือนพฤศจิกายน 2553 แทนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น และควบคุมสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจที่เป็นผลจากเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากกังวลว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นอีก*(3) นอกจากนี้ การที่อินโดนีเซียมีตลาดพันธบัตรขนาดใหญ่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่มากเพื่อดูแลสภาพคล่องอาจส่งผลต่อตลาดพันธบัตรและต้นทุนของรัฐบาลในการระดมทุนได้

ข้อจำกัดของการใช้มาตรการ RR

1. ไม่ได้ออกแบบสำหรับการดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว โดยเฉพาะภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ที่มีเป้าหมายในการดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาวให้อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ เนื่องจากมาตรการ RR เป็นตัวแปรที่ไม่มีมิติด้านโครงสร้างของเวลา (Term Structure)*(4) ทำให้สะท้อนเพียงนโยบายในปัจจุบัน ตลาดจึงไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางของนโยบายในระยะต่อไปได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สามารถเชื่อมโยงนโยบายปัจจุบันให้สะท้อนแนวโน้มของนโยบายในอนาคตได้ ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถคาดการณ์และปรับตัวต่อทิศทางของนโยบาย ซึ่งจะมีผลช่วยตรึงการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนในที่สุด

2. ในช่วงที่สภาพคล่องมีอยู่มาก การปรับขึ้น RR ต้องทำในขนาดที่มากจึงจะมีผลต่อสภาพคล่องในระบบ ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถาบันการเงินสามารถหาเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ ในตลาดเงินได้ในต้นทุนที่ต่ำ ในกรณีของประเทศจีน แม้จะปรับขึ้นอัตรา RR รวมร้อยละ 6 ตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็ไม่สามารถชะลอการขยายตัวของสินเชื่อได้ รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม พร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เงินทุนไหลเข้ายังอยู่ในระดับสูง การใช้มาตรการ RR เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

3. มาตรการ RR มีแนวโน้มที่จะสร้างความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ (Imbalances)เนื่องจากมาตรการนี้เปรียบเสมือนการเก็บภาษีจากสถาบันการเงินโดยอ้อม (Implicit Taxation) ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (Interest rate spread) กว้างขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่สถาบันการเงินผลักภาระให้กับผู้ฝากและผู้กู้ ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แม้การจ่ายผลตอบแทนแก่สินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมายจะช่วยบรรเทาความบิดเบือนได้ส่วนหนึ่ง แต่ผลตอบ แทนที่ได้มักจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นอยู่ดี

4. ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ (Resources misallocation) โดยสถาบันการเงินอาจปล่อยสินเชื่อกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจประเภทหนึ่ง หรือปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองมากกว่ารายเล็ก ทำให้ผู้ที่ต้องการสินเชื่อหันไปกู้เงินจากแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ RR เช่น การก่อหนี้นอกระบบ ทำให้เกิดธุรกิจ Shadow banking ขึ้น รวมถึงหันไปพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้การควบคุมดูแลยากขึ้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ระบบเศรษฐกิจการเงิน

5.ในภาวะที่สถาบันการเงินมีการแข่งขันที่เข้มข้น การปรับเพิ่ม RR อาจส่งผ่านให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ยาก และมีโอกาสที่สถาบันการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงแทน ถือเป็นสัญญาณที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายการเงินเนื่องจากการเงินลดดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคลดการออมและหันไปบริโภคหรือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวไม่เกิดประสิทธิผล

ข้อจำกัดของมาตรการ RR ข้างต้นทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้มาตรการ RR โดยเฉพาะในประเทศที่ตลาดการเงินมีการพัฒนาพอควรและไม่มีปัญหาของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และให้สถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดระดับการกันสำรองสภาพคล่องที่เหมาะสมเอง ขณะที่สหรัฐฯ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่นยังมีการบังคับใช้มาตรการ RR แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสำรองสภาพคล่องมานานกว่า 20 ปี

มาตรการ RR ในกรณีประเทศไทย

ประเทศไทยใช้นโยบายการเงินที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก แม้ยังมีการกำหนด RR ไว้ที่ร้อยละ 6.0 แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 ทำให้มาตรการ RR ถือเป็นเครื่องมือในการดูดซับสภาพคล่องแบบ passive (คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และหากต้องการดูดซับสภาพคล่อง ธปท. ก็สามารถใช้เครื่องมืออื่นได้) ทั้งนี้ สถานการณ์และเงื่อนเวลาในกรณีของไทยไม่เอื้อต่อการนำมาตรการ RR มาใช้ เพราะการส่งผ่านของนโยบายการเงินในปัจจุบันยังเป็นปกติ สะท้อนได้จากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สามารถชี้นำการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินในทิศทางที่ต้องการและในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนไหลเข้าของไทยมีน้อย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ Risk sentiment ในตลาดการเงินโลกเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินทุน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการ RR เพื่อหลีกเลี่ยง policy dilemma

ภายใต้โครงสร้างระบบการเงินที่ธนาคารเฉพาะกิจไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ การใช้มาตรการ RR จะมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งผู้ที่ต้องการสินเชื่อก็ยังสามารถหันไปพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจได้ ทำให้มาตรการ RR ไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควรในการควบคุมสินเชื่อ นอกจากนี้ สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารอยู่ในระดับสูง โดยธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.4 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมายกำหนดที่ 4.7 แสนล้านบาท ดังนั้น การปรับเพิ่ม RR ในอัตราที่ไม่มากพออาจไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องมากนัก ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่เกิดประสิทธิผลตามต้องการ และอาจกลายเป็นความสับสนที่ส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดในกระบวนการตัดสินนโยบายการเงิน

แม้บทบาทของมาตรการ RR สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันจะมีน้อยลงเมื่อเทียบกับประสิทธิผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะมองข้ามความสำคัญของมาตรการ RR ที่เกี่ยวเนื่องในด้านอื่น เช่น ในกรณีที่ความเสี่ยงในระบบการเงินโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนทำให้สถาบันการเงินขาดความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบการเงิน จนทำให้การส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีปัญหา ดังนั้น การใช้มาตรการ RR เป็นเครื่องมือ Macro-prudential ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือหลักได้ อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการ RR ต้องระวังไม่ให้ขัดแย้งกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินด้วยเครื่องมือหลัก เพราะนอกจากจะเป็นการลดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินแล้ว ยังเป็นการลดความน่าเชื่อถือในกรอบของการดำเนินนโยบายการเงินโดยรวมด้วย

*(1) "It reflects the fact that the PBOC doesn't own the interest-rate decision. While the central bank has greater leeway to push through reserve-rate increases itself, interest-rate increases must be approved by the country's top political leadership, meaning they require more deliberation and consensus". Aaron Back, WSJ.com 15 June 2011

*(2) ธนาคารกลางมาเลเซียปรับเพิ่มอัตรา RR กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในเดือนกรกฎาคม 2554 หลังจากที่ปรับลด RR ลงเหลือร้อยละ 1 ในช่วงวิกฤตการเงินโลก โดยระบุว่าการปรับขึ้น RR เป็นเพียงการบริหารสภาพคล่องในระบบ ไม่ใช่การส่งสัญญาณของนโยบายการเงิน

*(3) “If the BI (Bank Indonesia) rate increases, there will be additional capital inflows,” said Deputy Governor Hartadi A. Sarwono at a briefing. The Malaysian Insider, October 05, 2010

*(4) รูปร่างของเส้นอัตราผลตอบแทน หรือ โครงสร้างของอัตรา ดอกเบี้ย (Term Structure of Interest rates) สะท้อนถึง การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีสมมติฐานจากทฤษฎีการคาดการณ์ (Expectation Theory) ที่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันล่วงหน้า (Forward Rate) จะสามารถนำมาคาดการณ์ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

Contact author:

Mr. Pariyate Potchamanawong

PariyatP@bot.or.th

Senior Economist

Monetary Policy Department

Monetary Policy Group

References

Aschheim, Joseph, 1959, "Open-Market Operations Versus Reserve-Requirement Variation", The Economic Journal, Vol. 69, No. 276 (Dec., 1959), pp. 697-704.

Feinman, Joshua N. 1993, "Reserve Requirements: History, Current Practice and Potential Reform", Federal Reserve Bulletin, 79: 569-89.

Geiger Michael, 2008, "Instruments of Monetary Policy in China and Their Effectiveness: 1994-2006", UNCTAD Discussion Papers No. 187, February 2008.

Gray, Simon, 2011, "Central Bank Balances and Reserve Requirements", No 11/36, IMF Working Papers, International Monetary Fund.

Herrera Hernando Vargas, Yanneth R. Betancourt, Carlos Varela, and Norberto Rodriguez, 2011, "Effects of Reserve Requirements in an Inflation Targeting Regime: the Case of Colombia", BIS Papers chapters, in: Bank for International Settlements (ed.), The global crisis and financial intermediation in emerging market economies, volume 54, pages 133-169, Bank for International Settlements.

Montoro, Carlos and Moreno, Ramon, 2011, "The Use of Reserve Requirements as a Policy Instrument in Latin America", BIS Quarterly Review.

Sellon, Gordon H., Jr.; Weiner, Stuart E, 1997, "Monetary Policy without Reserve Requirements: Case Studies and Options for the United States", Economic Review (Kansas City, MO).

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ