FAQ Issue 36: ความเชื่อมโยงด้านการค้าของเอเซียผ่าน Electronics Production Network

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2011 13:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 36

ความเชื่อมโยงด้านการค้าของเอเชีย ผ่าน Electronics Production Network

ธิดารัตน์ ผโลดม

Summary

ความจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หันมาใช้ลักษณะการผลิตแบบ Production network โดยกระจายฐานการผลิตมายังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้เปรียบด้านปัจจัยแรงงาน ทำให้บทบาทของเอเชียในกระบวนการผลิตโลกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้ประกอบสินค้าขั้นสุดท้ายในกระบวนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งส่งผลให้การส่งออกของประเทศในภูมิภาคมีการเชื่อมโยงกันสูงขึ้นและเกิด specialization ในการผลิต แต่ในขณะเดียวกัน Production network ก็ทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาคมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงบางประการเพิ่มขึ้น เช่น การเชื่อมโยงของการผลิตทำให้การหยุดชะงักในขั้นตอนการผลิตหนึ่งนำไปสู่ปัญหาคอขวดในอีกหลายประเทศได้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคาดว่าจะมีจำกัด เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตในญี่ปุ่นได้มีการกระจายฐานการผลิตสินค้าต้นน้ำไปประเทศอื่นบ้างแล้ว ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้สามารถผลิตสินค้าทดแทนได้บางส่วน และโรงงานในญี่ปุ่นเองน่าจะเริ่มกลับมาผลิตเป็นปกติได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าไม่เกิดขึ้น

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การค้าภายในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นมากจาก 465 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1996 เป็น 1,308 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2009 ส่วนหนึ่งมาจากการค้าขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งสูงขึ้น สะท้อนได้จากสัดส่วนการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่อการค้ารวมภายในภูมิภาคที่สูงขึ้นจากร้อยละ 33.8 เป็นร้อยละ 43.9 Production network กล่าวคือ หลายประเทศใน

ภูมิภาคผลิตสินค้าชิ้นส่วน (intermediate goods) และส่งต่อไปยังประเทศจีนเพื่อประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (finished goods) ก่อนส่งออกต่อไปสู่ผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่อยู่นอกภูมิภาค ทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศอื่นๆ (RoW: the Rest of the World) ซึ่งมีการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง (รูปที่ 2)สอดคล้องกับการที่ในปี 2009 การค้าสินค้าอิเล็ก ทรอนิกส์ภายในภูมิภาคเอเชียเป็นการค้าสินค้าชิ้นส่วนถึงร้อยละ 83.8 และเป็นการค้าสินค้าขั้นสุดท้ายเพียงร้อยละ 16.2 เท่านั้น การผลิตแบบ Production network

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงในตลาด โดยผู้ผลิตต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนา Software ของคู่แข่งที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น บริษัทในธุรกิจนี้จึงต้องใช้กลยุทธ์หลายด้านประกอบกันเพื่อความอยู่รอด ทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การทำการตลาดและให้บริการหลังการขายเชิงรุก การควบรวมบริษัท รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้นำแนวการผลิตแบบเครือข่ายหรือ Production network มาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งการผลิตในรูปแบบดังกล่าวแยกการผลิตสินค้าออกเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ในแหล่งต่างๆ เพื่ออาศัยประโยชน์จากความหลากหลายของแหล่งการผลิต กอปรกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเฉพาะที่เอื้อต่อการผลิตในรูปแบบ Production network ได้แก่

1.ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต และการประกอบขั้นสุดท้ายสามารถแบ่งแยกออกจากกันได้

2. สินค้ามีน้ำหนักเบาทำให้ต้นทุนการเคลื่อนย้ายสินค้าต่ำ

3. ชิ้นส่วนที่พัฒนาขึ้นเพื่อสินค้าประเภทหนึ่งสามารถนำไปใช้กับสินค้าประเภทอื่นได้

การผลิตแบบ Production network จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตจากแหล่งเดียวกันทั้งชิ้น นอกจากนี้ การลดอัตราภาษีนำเข้าของประเทศกำลังพัฒนาตามพันธะผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ตั้งแต่ปี 1996 โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าไอที (Information Technology Agreement : ITA) เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้การผลิตแบบ Production network ได้รับความนิยมกว้างขวางยิ่งขึ้น

อนึ่ง การก้าวเข้าสู่เวทีการค้าโลกของจีนทำให้แนวคิดเรื่อง Production network สามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของจีน ได้แก่ การมีแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ วิศวกรมีทักษะค่อนข้างดีและจำนวนวิศวกรขยายตัวเร็ว อีกทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ที่มีเสถียรภาพกว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่น บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จึงย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนที่ต้องอาศัยแรงงานเข้มข้น (labor intensive) มายังจีนและประเทศใกล้เคียง โดยกระจายการผลิตชิ้นส่วนในโรงงานในหลายประเทศ แล้วจึงนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย ซึ่งมักประกอบในโรงงานที่ตั้งอยู่ในจีน เพราะนอกจากจีนจะมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากแล้ว นโยบายส่งเสริมการค้าของรัฐบาล เช่น การตั้ง Export-processing zone *(1) ยังมีส่วนช่วยให้จีนได้เปรียบอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการผลิตแสดงได้ด้วยรูปที่ 3 โดยผู้เล่นหลักในกระบวนการผลิต ได้แก่ lead firms, platform leaders และ contracted manufacturers *(2) Lead firms Lead firms คือ บริษัทที่เป็นเจ้าของ แบรนด์สินค้า อาทิ IBM, Apple,Toshiba และ Sony ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทของประเทศพัฒนาแล้ว ทำหน้าที่พัฒนาสินค้าและทำการตลาด สำหรับสินค้าบางประเภท เช่น คอมพิวเตอร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีชิ้นส่วนที่พัฒนาจากบริษัทที่เป็น Platform leaders ด้วยทั้งนี้ Lead firms มักว่าจ้าง (outsource หรือ subcontract) ให้บริษัทอื่นทำการผลิตสินค้าให้

Platform leaders คือ บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีชิ้นส่วนเพื่อใช้ในสินค้าขั้นสุดท้ายของบริษัทอื่น เช่น บริษัท Intel ที่ผลิต chipsets เป็นต้น

Contracted manufacturers (CM) คือ บริษัทที่รับหน้าที่ผลิตชิ้นส่วน หรือซื้อชิ้นส่วน (ในนามของบริษัท Lead firms) จาก suppliers ซึ่งส่วนมากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและนำมาประกอบแผงวงจร หรือประกอบสินค้าขั้นสุดท้าย รวมทั้งทดสอบสินค้า ปัจจุบัน CM รายใหญ่ที่สุดของโลก คือ Foxcon/Hon Hai ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน แต่ไปตั้งโรงงานผลิตหลักอยู่ในจีน ทั้งนี้ CM ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน เช่นกัน

ลักษณะเด่นของการค้าที่เป็นผลจาก Electronics Production Network

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบ Production network มีผลทำให้ปริมาณและลักษณะของการค้าในภูมิภาคเอเชียเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

1. ปัจจุบันประเทศในเอเชียโดยรวม *(3) มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงเกินครึ่งหนึ่งของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของโลก (ร้อยละ 52.6) เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 37.1 ในปี 2003

2. จีนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ประกอบสินค้าขั้นสุดท้าย (final assembler) สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปของจีนที่ขยายตัวเร็วกว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนในตลาดโลกมาก การค้าชิ้นส่วนระหว่างจีนกับประเทศอื่นนี้มีส่วนทำให้บทบาทด้านการค้าของจีนในภูมิภาคเติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วงที่ผ่าน และในปี 2009 สัดส่วนการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในเอเชียกับจีนสูงถึงประมาณ 1 ใน 3 ของการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาคทั้งหมด

3. การส่งออกของประเทศในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัฏจักรการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันมากกว่าในอดีต

4. เกิด specialization ในกระบวนการ ผลิต เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าชิ้นส่วนชนิดหนึ่งจะป้อนสินค้าให้กับหลายบริษัทซึ่งอาจผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายต่างประเภทกัน ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมาก ได้ประโยชน์จาก economy of scale และเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความชำนาญในการผลิตสินค้าที่ต่างกันออกไป โดยประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตสูง เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อน เช่น ICs ส่วนประเทศที่มีค่าแรงต่ำโดยเปรียบเทียบ เช่น จีน มาเลเซีย และไทย จะผลิตสินค้าที่อาศัยแรงงานสูง และทำหน้าที่ประกอบสินค้า เป็นต้น ความแตกต่างที่เกิดจาก specialization ทำให้ดุลการส่งออกนำเข้าสุทธิของสินค้าชิ้นส่วนระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแตกต่างกันไป

ผลกระทบจาก Demand และ Supply shocks

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าประเภท life style และเป็นสินค้าคงทน (durable good) ซึ่งทำให้อุปสงค์มีวัฏจักรที่ผันผวนกว่าวัฏจักรเศรษฐกิจทั่วไป สะท้อนได้จากในช่วงที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดี เช่น ในปี 2001-2003 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตเร็วกว่าการส่งออกรวม แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มซบเซา เช่น ในปี 2007-2008 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวต่ำกว่าการส่งออกรวมค่อนข้างมาก

สำหรับด้านอุปทาน การผลิตในรูปแบบ production network ที่ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าภายในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากการผลิตขั้นตอนหนึ่งหยุดชะงักจะทำให้เกิดปัญหาคอขวด (bottle neck) ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ กลยุทธ์การผลิตแบบ Just-in-time ที่ผู้ผลิตพยายามรักษาระดับสินค้าคงคลังให้ต่ำที่สุด ทำให้กระบวนการผลิตยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาคอขวดเมื่อขาดแคลนวัตถุดิบต้นน้ำ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ

เดือนมีนาคมที่ทำให้โรงงานได้รับความเสียหายและประสบปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ จนต้องหยุดหรือลดการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลง การที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำหลายประเภท เช่น Wafer DRAM SSD และ Battery ทำให้ประเทศผู้ผลิตสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำในเอเชียเกรงว่าจะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของผลกระทบจากความเชื่อมโยงที่กล่าวมาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น (1) ระยะเวลาที่โรงงานในญี่ปุ่นต้องหยุดการผลิตซึ่งปัจจุบันคาดว่าโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจะสามารถกลับมาผลิตสินค้าเป็นปกติได้ภายในเดือนพฤษภาคม (2) ปริมาณสินค้าคงคลังที่ผู้ผลิตสินค้ากลางและปลายน้ำมีอยู่ ซึ่งระดับสินค้าคงคลังของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปกติอยู่ที่ประมาณ 1-3 เดือน และ (3) ระดับการผูกขาดตลาดของผู้ผลิตต้นน้ำและความสามารถในการหาสินค้าทดแทนของผู้ผลิตปลายน้ำ ทั้งนี้ ประเทศที่นำเข้าสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบมากกว่า เนื่องจากหาสินค้าทดแทนได้ยากกว่า หรือแม้หาสินค้าทดแทนได้ก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นเพราะอุปทานของชิ้นส่วนในตลาดโลกลดลง

ล่าสุดประเมินได้ว่าผลกระทบโดยรวมของภัยพิบัติครั้งนี้ต่อ Production network มีค่อนข้างจำกัด เพราะก่อนหน้านี้บริษัทผลิตวัตถุดิบในญี่ปุ่นได้มีการกระจายฐานการผลิตของตนออกไปในหลายประเทศ เช่น จีน และละตินอเมริกา อีกทั้งผู้ผลิตที่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นสามารถหาวัตถุดิบทดแทนจากประเทศอื่นที่มีเทคโนโลยีการผลิตใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน จะมีก็เพียงสินค้าบางประเภทที่วัตถุดิบต้นน้ำถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตญี่ปุ่นไม่กี่ราย เช่น วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และ processors แต่ถ้าไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า คาดว่าโรงงานเหล่านั้นจะสามารถกลับมาทำการผลิตได้ปกติภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

สรุป

การผลิตแบบ production network เป็นสาเหตุหนึ่งที่เสริมให้ปริมาณการค้าของเอเชีย ทั้งกับประเทศอื่นในโลกและภายในภูมิภาคเอง เติบโตอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียผ่านการผลิต

แม้ว่า production network จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้การส่งออกของทั้งภูมิภาคมีความอ่อนไหวต่อ shock จากภายนอกมากขึ้น เช่น ปัญหาด้านอุปทานของประเทศหนึ่งสามารถทำให้กระบวนการผลิตทั้งหมดหยุดชะงักหรือเกิดปัญหาคอขวด ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งจึงอาจกลายเป็นความเสี่ยงของทั้งภูมิภาคได้ง่ายขึ้น

Contact author:Ms.

Tidarat Palodom Economist

International Economic Department

tidaratp@bot.or.th

*(1) Gangnes, B. and Van Assche, A. (2010) "China and The Future of Asian Trade and Growth"

*(2) World Bank Working Paper (September 2010), "Global Value Chains in the Electronics Industry"

*(3) จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ