FAQ Issue 25: การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระลอกใหม่: จับตาผลกระทบต่อไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 25

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระลอกใหม่: จับตาผลกระทบต่อไทย

สมศจี ศิกษมัต

บทสรุป

ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุดลงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารโลกมีโอกาสที่จะสูงขึ้นได้อีก และการแกว่งตัวของราคาจะมากขึ้น โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์น้ำมันและอาหารโลกมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น และสัมพันธ์กับต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าของไทยมากขึ้นเช่นกัน นับเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการครองชีพของกลุ่มคนในแต่ละระดับรายได้ ดังนั้น จึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตสินค้าโภคภัณฑ์ระลอกใหม่นี้

ช่วงปี 2003-2008 โลกได้เผชิญกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้นครั้งใหญ่และยาวนาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นมากและตามมาด้วย price surge ของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จากนั้นราคาได้ลดลงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในกลางปี 2008 อย่างไรก็ตาม นับแต่ปลายปี 2010 เป็นต้นมา ราคาสินค้าโภค ภัณฑ์ได้กลับมาแพงขึ้นอีกครั้งและได้จับกลุ่มกันเพิ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียง (Broad based) ทั้งน้ำมัน โลหะและโดยเฉพาะสินค้าเกษตร (รวมอาหารสด) ที่เร่งตัวขึ้นมาก จะต่างก็ตรงที่ราคาน้ำมันยังไม่ได้สูงเทียบเท่าช่วงกลางปี 2008หลายคนกังวลต่อเหตุการณ์นี้เนื่องจากผลกระทบและการแกว่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อจากนี้ไปอาจมีลักษณะที่รุนแรงกว่าแต่ก่อน เพราะตัวแปรที่กระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความซับซ้อนและมีโอกาสที่จะผันผวนยิ่งขึ้น

นอกจากตัวแปรพื้นฐานอุปสงค์และอุปทานแล้วยังมี ตัวแปรอื่นเป็นแรงกดดันราคาเพิ่มเติม

ตัวแปรที่กระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

(1) กลุ่มอุปสงค์ (Demand drivers)ที่สำคัญคือรายได้และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจะกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละประเภทแตกต่างกัน ในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ (Low and Lower middle income) จะมีความยืดหยุ่นของรายจ่ายหมวดอาหารต่อรายได้สูง ดังนั้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นก็จะใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารมากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง และค่าความยืดหยุ่นนี้จะลดลงจนเข้าใกล้ศูนย์เมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้นจนเกินระดับ 3,000 ดอลลาร์สรอ.ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง (USD4,000-12,000) การใช้จ่ายหมวดพลังงานจะตอบสนองต่อรายได้มากกว่าอาหาร

United Nations ได้ประมาณการจำนวน ประชากรโลกว่าจะสูงถึง 9.1 พันล้านคนในปี 2050 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีรายได้ต่อหัวเบ้มาทางต่ำจึงมีความยืดหยุ่นของการใช้จ่ายในหมวดอาหารต่อรายได้สูง ดังนั้น การคาดการณ์ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีจำนวนประชากรสูง และประชากร (ไม่รวมญี่ปุ่น) กว่าครึ่งคือประมาณ 1.5 พันล้านคนมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์สรอ.*(1) ก็เป็นไปได้มากที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาอาหารให้สูงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้

พฤติกรรมการบริโภค การใช้จ่ายและอายุจะกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละประเภทเช่นกัน อย่างเช่นแนวโน้มการหันมาบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Meat and Dairy products) มากขึ้นกว่าพวกธัญญาหารซึ่งจะกลายเป็น Inferior goods เมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้นก็จะยิ่งส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและราคาอาหารแต่ละประเภทแตกต่างกัน

(2) กลุ่มอุปทาน (Supply drivers) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต แรงงาน ทุน ที่ดินเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำ วัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ ประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และเวลา นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้องอาศัยการลงทุน การวิจัยและพัฒนา แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในปี 2008 การลงทุนทางด้านการผลิตซบเซาลงบ้าง จึงน่าเป็นห่วงว่าSupply side จะสามารถตอบสนองต่อ Demand ที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคตนี้ได้ดีเพียงใด

(3) ความไม่แน่นอน (Uncertainties) เป็นตัวแปรที่ควบคุมยาก อย่างเช่น ความรุนแรงและแปรปรวนของสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเกษตรโดยตรง ทาง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ประเมินว่าการที่โลกร้อนขึ้นอีก 3-5 องศาเซลเซียสอาจส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย แอฟริกา และละตินอเมริกาต้องเพิ่มการนำเข้าธัญญาหารขึ้นอีกร้อยละ 10-40 และส่งผลให้ราคาพืชผลเกษตรสูงขึ้นร้อยละ 10-40 ภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลผลิตพืชผล (Crop yields) ในเอเชียลดลงร้อยละ 5-30 โดยเฉพาะข้าวจะถูกกระทบมากเพราะใช้น้ำสูงกว่าพืชอื่นถึง 3 เท่า*(2) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโดยตรงและยังส่งผลต่อการลงทุนในการพัฒนาการผลิต การขุดเจาะและแหล่งน้ำมันในระยะต่อไป

(4) วงจรสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กับปัจจัยอื่นๆ (Feedback loops) ได้แก่ กับปัจจัยอื่นๆ (Feedback loops) ได้แก่ การลงทุนและการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และเมื่อราคาสูงขึ้นก็จะจูงใจให้เข้ามาลงทุนและเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนในตลาดล่วงหน้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ค้าที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากราคา (Farmers and agricultural traders) และอีกกลุ่มคือนักลงทุนประเภทเก็งกำไร (Non commercial traders) ซึ่งบทบาทของกลุ่มหลังที่เข้ามาซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ Non-commercial traders ต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ในงานศึกษาของ Masters (2009) และ World Bank (2010) พบว่า Noncommercial traders ไม่มีผลต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ ต่างจากงานศึกษาของ Gilbert (2008) ที่พบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองแต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าอะไรเป็นเหตุและผล (Causation) ทางด้าน IIF (February 2011) ระบุว่าหลังปี 2005 เป็นต้นมาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation coefficient) ระหว่าง Net long position ของ Non-commercial trades กับราคาข้าวโพดสูงถึง 0.65 ขณะที่ของราคาน้ำมันอยู่ที่ 0.37

การกักตุนสินค้า (Hoarding) เป็นอีกตัวแปรหนึ่งใน Feedback loops เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นก็จะมีการกักตุนสินค้า (ทั้งเก็บไว้เพื่อขายตอนราคาสูงหรือไว้บริโภคในอนาคต) ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และเมื่อราคาสูงขึ้นก็จะเร่งซื้อสินค้ามากักตุนมากขึ้นอีก การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สรอ. จะทำให้ประเทศผู้ผลิตและมีอำนาจต่อรองตั้งราคาสินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. สูงขึ้นเพื่อชดเชยค่าเงินดอลลาร์สรอ.ที่อ่อนลง*(3) สุดท้ายคือเรื่องของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนแทนการผลิตอาหารซึ่งจะส่งผลต่อราคาอาหารมากขึ้น จะเห็นได้จากที่ราคาน้ำมันดิบ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลืองและอาหารเคลื่อนไหวไปด้วยกันมากขึ้น ส่วนพืชอาหารอื่นๆ จะมีราคาสูงขึ้นด้วยตามราคาปุ๋ยและยาฆ่าศัตรูพืช (ที่เพิ่มตามราคาน้ำมัน)*(4) และจากการที่ถูกนำมาใช้บริโภคทดแทนพืชพลังงาน (Substitution effect)

ราคาน้ำมันและราคาอาหารโลกที่สูงขึ้นจะสร้างภาระการใช้จ่ายของโลกและอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อุปสงค์โลกต่อน้ำมันในปี 2011*(5) คาดว่าจะอยู่ที่ 89.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลจากปี 2010 ส่วนใหญ่มาจากจีน ขณะที่อุปทานน้ำมันจาก Non-OPEC จะอยู่ที่ 53.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่า อุปสงค์ 35.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับ OPEC ว่าจะผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกเท่าไร สมมติให้ OPEC ผลิตเท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 34.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อุปทานรวมจะยังต่ำกว่าอุปสงค์อยู่อีก 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต้อง run down สต็อก และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นตามผลด้านจิตวิทยาที่กลัวว่าสต็อกน้ำมันลดลง*(6) ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรลจะทำให้ภาระการใช้จ่ายน้ำมัน ของโลก (Oil burden)*(7) เท่ากับร้อยละ 4.1ของ Nominal GDP และถ้าราคาน้ำมันสูงถึง 100 ดอลลาร์สรอ. Oil burden จะเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้

หลายประเทศปรับตัวโดยหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น Biofuels ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน (Feedback loops) เห็นได้จากที่ค่าความสัมพันธ์นี้ได้สูงขึ้นนับแต่ปี 2003 เป็นต้นมา และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อราคาน้ำมันสูงกว่า 80 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารที่สูงขึ้นส่งผลต่อการเติบโต อัตราเงินเฟ้อ และการกระจายรายได้ระหว่างประเทศ

ผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในแต่ละประเทศแตกต่างกันขึ้นอยู่ว่าประเทศนั้นมีรายจ่ายและรายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทใดและจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้าเหล่านี้เพียงใด แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะคือ

1.ผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงมักเกิดกับประเทศที่มีรายได้ต่ำและต้องนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์สูงทำให้เสียดุลการค้า ขณะเดียวกันก็ยากที่จะปรับตัวเพราะโครงสร้างการผลิตและทรัพยากรในประเทศไม่เอื้อให้ลดการพึ่งพิง

2. ผลกระทบเชิงลบระดับกลางมักเกิดกับประเทศที่มีรายได้ต่ำแต่ผลิตและเกินดุลจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บ้าง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น (Terms of Trade ดีขึ้น)

3. ผลกระทบเชิงลบต่ำผลกระทบเชิงลบต่ำจะเกิดกับประเทศที่มีรายได้สูงและนำเข้าสุทธิสินค้าโภคภัณฑ์แต่ภาระการใช้จ่ายในสินค้าโภคภัณฑ์ต่อรายจ่ายรวมมีสัดส่วนต่ำ (การพึ่งพิงไม่มากนัก) เท่ากับว่าโครงสร้างการใช้จ่ายเอื้อให้ปรับตัวได้บ้าง

4. ผลกระทบเชิงบวกจะเกิดกับประเทศที่มีรายได้สูงและส่งออกสุทธิสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งจะยิ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น

ไทยอาจได้ประโยชน์จากราคาอาหารโลกสูงขึ้นขณะที่เสียประโยชน์หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

ไทยจะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารโลกที่สูงขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเกินดุลหรือขาดดุลการค้าจากสินค้าเหล่านี้ และมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้าเหล่านี้มากน้อยเพียงใด สำหรับผลต่อการกระจายรายได้ของคนในประเทศอาจพิจารณาจากภาระการใช้จ่ายในสินค้าเหล่านี้ของคนแต่ละกลุ่มรายได้ (Budget expenditure shares)

ในปี 2010 ไทยขาดดุลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์และเกษตรอาหาร(อาหารสด)*(8) 15,260 ล้านดอลลาร์สรอ. ส่วนใหญ่มาจากการขาดดุลในหมวดพลังงาน (Fuel and lubricants) ถ้าราคาน้ำมันแพงขึ้นก็ต้องเสียเงินเพื่อการนำเข้ามากขึ้น (สมมติปัจจัยอื่นคงที่) จึงตกอยู่ในประเภทผลกระทบเชิงลบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพราคาเพราะไทยมีภาระการใช้น้ำมัน (Oil burden) สูงถึงร้อยละ 11 (ภาระการใช้พลังงานอยู่ที่ร้อยละ 17 ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน) โดยภาคขนส่งมีสัดส่วนการใช้สูงถึงร้อยละ 70.5 ของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด โดยบ้านอยู่อาศัยและธุรกิจการค้า ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมใช้ร้อยละ 10.4, 10.1 และ 8 ตามลำดับ*(9) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจสร้างภาระต่อรัฐบาลหากต้องลดภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากการใช้เงินกองทุนน้ำมันช่วยพยุงราคาน้ำมันขายปลีกไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ในทางตรงกันข้าม ไทยควรได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรอาหารและอาหารแปรรูปที่สูงขึ้น เพราะสามารถผลิตเพื่อบริโภคและส่งออก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเอื้อต่อการทำเกษตรกรรม จึงมีความมั่นคงในด้านอาหารระดับหนึ่ง และหากพิจารณาค่าดัชนีความเปราะบางด้านอาหาร (Food Vulnerability Index--FVI)*(10) พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (FVI = 99.6) จากกลุ่มตัวอย่าง 80 ประเทศ บังคลาเทศเปราะบางที่สุด (FVI = 101.5) และนิวซีแลนด์มีความมั่นคงด้านอาหารสูงสุด (FVI = 97.7) ขณะที่จีนประเทศใหญ่ในเอเชียเปราะบางเป็นอันดับที่ 22 (FVI=100.4) นอกจากนี้ ไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้ดีขึ้น โดยในปี 2009 มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 *(11) (จากร้อยละ 2.2 ในปี 2007) ดังนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น ไทยควรต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตและการบริหารจัดการในภาคเกษตรให้ดียิ่งขึ้น

การส่งผ่านของราคาน้ำมันต่อต้นทุนการผลิตของไทยชัดเจนขึ้น และการส่งผ่านของราคาอาหารโลกต่อเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและอาหารโลกกับต้นทุนการผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยสูงขึ้นนับแต่ปี 2003 และลดลงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อกลางปี 2008 แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าของไทยจะสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2003-2008 และถ้าราคาอาหารโลกกับราคาน้ำมันสูงขึ้นไปพร้อมๆกัน (ตาม Feedback loops) ก็จะยิ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยมากขึ้นและเร็วขึ้น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารในประเทศและปัญหาเงินเฟ้อจะรุนแรงขึ้นอีกหากเกิดการขาดแคลน (ปัญหา Supply side) และกักตุนสินค้า ซึ่งจะกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนโดยรวมเนื่องจากรายจ่ายในหมวดอาหาร (อาหารสดและอาหารแปรรูป) ต่อรายจ่ายทั้งหมดมีสัดส่วนที่สูงคือร้อยละ 35 (ตามตระกร้า CPI)

ผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะตก อยู่กับผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมากกว่าผู้มีรายได้สูง

การสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารโลกจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และราคาอาหารในประเทศ ซึ่งครัวเรือนที่ถูกกระทบมากคือพวกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงปานกลาง (ใน ที่นี้ใช้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน13,600 บาทเป็นเกณฑ์) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 60) โดยครัวเรือนเหล่านี้มีรายจ่ายในหมวดอาหารและเชื้อเพลิงสูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ (คือประมาณร้อยละ 62 ของรายได้) ดังนั้น ถ้าราคาอาหารในประเทศและค่าขนส่งยิ่งสัมพันธ์และวิ่งตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารโลกมากเท่าไร ก็จะทำให้อำนาจซื้อของคนเหล่านี้ถดถอยและเกิดความเหลื่อมล้ำในการครองชีพยิ่งขึ้น

สรุป

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระลอกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าประเทศต่างๆ มีความพร้อมที่จะรับมืออย่างไรในเมื่อบทบาทของตัวแปรต่างๆ ที่จะผลักดันให้ราคาสูงขึ้นมีความเข้มข้นและแปรปรวนขึ้น อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีแนวโน้มการใช้จ่ายในสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารสูงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานมีข้อจำกัดตามการเสื่อมโทรมและลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่เพาะปลูก และการลงทุนและการพัฒนาที่ชะลอลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นๆที่เข้ามามีบทบาทต่อราคามากขึ้น เช่น ภาวะโลกร้อน การลงทุนในตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างการผลิตอาหารกับพลังงานทดแทน ปัญหาทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และการกักตุนสินค้า

สำหรับประเทศไทย ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าในประเทศมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงต่อการเติบโตและเงินเฟ้อมากขึ้นตามไปด้วย บทเรียนจากวิกฤตราคาสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อปี 2003-2008 ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระลอกใหม่นี้คือการให้กลไกตลาดทำงานได้มากที่สุด ซึ่งในคราวนั้นได้ลอยตัวราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ รณรงค์การประหยัดพลังงาน สนับสนุนการผลิต Biofuels พร้อมทั้งปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งระบบรางขณะเดียวกันต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของการผลิตในภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การวางแผนการผลิตและเพาะปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน รวมทั้งการค้นคว้าและวิจัยทางด้านเกษตรและการผลิตอาหาร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร และสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรและอาหารโลกที่สูงขึ้น เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยชดเชยรายจ่ายที่ต้องซื้อน้ำมันมาใช้ในประเทศ

เอกสารอ้างอิง

Citigroup Global Markets: Food Prices Revisited: Who's Vulnerable? January 2011

Gilbert, Christopher L.: Commodity Speculation and Commodity Investment, published in Commodity Market Review 200910 by Food and Agriculture Organization of the United Nation, Rome. 2010

Nomura Global Economics and Strategy: The coming surge in food prices, September 2010, and Food Prices and Climate Changes, February 2011

Oil Market Report by International Energy Agency (IEA), January and February 2011

World Bank (2010): Placing the 2006/08 Commodity price boom into perspective, Policy Research Working Paper No. 5371

Contact author:

Somsajee Siksamat

Principal Researcher

Economic Research Department

Monetary Policy Group

somsachs@bot.or.th

ขอขอบคุณ

คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณสุพัฒน์พงษ์ นาวารัตน์

คุณธิติ เกตุพิทยา และ คุณชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล

ในคำแนะนำและข้อมูล

*(1) จาก China Statistical Yearbook, World Bank, และ Nomura Global Economics โดยสมมติให้การกระจายรายได้เป็นแบบปกติ (Normal-curve income distribution) แต่ถ้าการกระจายรายได้เป็นแบบเบ้มาทางผู้มีรายได้ต่ำ (Positively skewed income distribution) จำนวนประชากรในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์ สรอ. จะสูงถึง 2.2 พันล้านคน ก็จะยิ่งมีผลต่อราคาอาหารโลกยิ่งขึ้น

*(2) OECD และ FAO (2009)

*(3) FAO (2008)ได้ประมาณการผลของ USD ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 1 เทียบกับเงินทุกสกุล โดยสมมติให้ปัจจัยอื่นคงที่ จะทำให้ราคาสินค้า โภคภัณฑ์เกษตร (Agricultural commodity prices) สูงขึ้นร้อย ละ 0.8-0.9

*(4) การคำนวณของ World Bank (2010) โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี 1960-2008 พบว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นร้อยละ 10 จะตามมาด้วยการสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลหะ อาหาร และปุ๋ยร้อยละ 2.5, 2.7 และ 5.5 ตามลำดับ

*(5) Oil Market Report by International Energy Agency (IEA), February 2011

*(6) IEA คาดว่าระดับ Spare capacity ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 2008 ที่ ราคาน้ำมันสูงกว่า 140 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล

*(7) Oil burden คำนวณโดยใช้ Global oil expenditures หารด้วย Global nominal GDP

*(8) ได้อิงรหัสสินค้าตาม IMF โดยอาหารในที่นี้ครอบคลุมเฉพาะอาหารสดจากภาคเกษตรเท่านั้น (ไม่รวมอาหารแปรรูปจากภาคอุตสาหกรรม) การเลือกประเภทสินค้าอาจคลาดเคลื่อนบ้างตามความละเอียดของสินค้าที่อยู่ในแต่ละรหัสสินค้า ในปี 2010 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ 34,600 และนำเข้า 49,860 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากมูลค่านำเข้า 49,860 ล้านดอลลาร์สรอ. แบ่งเป็นหมวด พลังงานและที่ไม่ใช่พลังงาน 21,560 และ 28,300 ล้านดอลลาร์สรอ. ตามลำดับ และจากมูลค่าส่งออก 34,600 ล้านดอลลาร์สรอ. แบ่งเป็นหมวดพลังงานและที่ไม่ใช่พลังงาน 8,600 และ 26,000 ล้านดอลลาร์สรอ. ตามลำดับ

*(9) ข้อมูลปี 2009 จากกรมการพลังงานทหารและผู้ค้าน้ำมัน

*(10) คำนวณโดย Nomura Research House จากสูตร FVI = 100 — {(0.25*GDP per capita)+(0.5*net food exports)—(0.25*share of food in expenditure)} โดย normalized ตัวแปรทางขวาของสมการเพื่อให้เป็นฐานเดียวกัน ค่า FVI ยิ่งสูงแสดงว่ายิ่งเปราะบางในด้านอาหาร

*(11) ประมวลจากข้อมูล Trade Map ของ International Trade Centre มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าเฉพาะเกษตรอาหารและอาหารแปรรูปในปี 2009 เท่ากับ 21,279 และ 5,460 ล้านดอลลาร์สรอ. ตามลำดับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ