ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2012 08:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 58/2555

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2555 มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวแต่สภาพคล่องผ่อนคลายขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายสินเชื่อและทดแทนตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) ที่ครบกำหนด กอปรกับมีการออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลง ขณะที่มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กำไรสุทธิลดลง เงินกองทุนเพิ่มขนึ้ จากผลกำไรและการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 14.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตามการบริโภคภายในประเทศส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากมาตรการ Soft Loan เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี 2554 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 69.9 ของสินเชื่อรวม) แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อน แต่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 12.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยภาคสาธารณูปโภค พาณิชย์ และธุรกิจการเงินยังมีการขยายตัวดี สินเชื่อ SME ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.3 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก สินเชอื่ อุปโภคบริโภค (ร้อยละ 30.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 18.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์จากผลของนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยตามความต้องการใช้จ่ายหลังน้ำท่วมที่ลดลง

เงินฝากขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษเพื่อทดแทนตั๋วแลกเงินและรองรับพันธบัตรออมทรัพย์ที่ครบกำหนด รวมทั้งเพื่อเตรียมขยายสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 เงินฝากและ B/E ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ซึ่งจำนวนเงินฝากและ B/E ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องผ่อนคลายขึ้น โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E ลดลงเหลือร้อยละ 91.4 ในไตรมาสนี้

ในไตรมาส 3 ธนาคารพาณิชย์มีการออกตราสารหนี้มากขึ้น โดยนอกจากออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ 28.5 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 แล้ว ยังมีการออกตราสารหนี้ในต่างประเทศ 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 68.7 พันล้านบาท) เนื่องด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อช่วยปรับสมดุลกับสินเชื่อเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 264.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.8 พันล้านบาทจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี ฐานสินเชื่อที่ขยายตัวสูงส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.4 สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน Gross NPL ลดลงเกือบทุกภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน Gross NPL ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดยทรงตัวเกือบทุกประเภทสินเชื่อเช่นกัน อนึ่ง สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรอง (Net NPL) ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวที่ร้อยละ 1.2 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ทยอยสิ้นสุดลง

ในไตรมาส 3 ปี 2555 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนโดยมีกำไรสุทธิ 4.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.0 จากไตรมาสก่อนจากการกันสำรองและภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงเหลือร้อยละ 1.28 และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 2.54 อย่างไรก็ตาม ในรอบ 9 เดือนแรกปี 2555 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 134.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ ROA เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.31

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวเพื่อรองรับการขยายสินเชื่อและเกณฑ์ Basel III ในปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.9 และร้อยละ 11.9 ตามลำดับ นับว่าอยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ