แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 14:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 01/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2555 อยู่ในเกณฑ์ดี แม้อัตราการขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนชะลอลงบ้าง จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอลงตามรายได้ในภาคเกษตรและการใช้จ่ายของภาครัฐบาล อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่ดีของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีส่วนสนับสนุนให้ภาคการค้าทั้งภาคการค้าส่งค้าปลีกและการค้ารถยนต์ขยายตัวดี นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.77 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.48 ตามราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.2

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวเล็กน้อย โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ตามการชะลอตัวของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญเนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยแผ่วลงตามรายได้จากภาคเกษตรที่ราคาพืชผลเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ลดลง โดยดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7 จากที่ขยายตัวในเดือนก่อน เป็นผลจากการลดลงทั้งด้านราคาและผลผลิต ดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 ตามราคาพืชส่วนใหญ่ที่ลดลง โดยราคามันสำปะหลังลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ประเทศผู้นำเข้าได้มีการเร่งเก็บสต็อกไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศน้อยลง ราคาข้าวลดลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและสต็อกของทางการที่อยู่ในระดับสูง ราคาอ้อยโรงงานลดลงตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคุณภาพอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการลดลงของผลผลิตอ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี ภาคการค้า ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.8 แม้จะชะลอลงบ้างจากการค้าปลีกในหมวดสินค้าคงทนที่เร่งตัวในช่วงก่อนหน้า แต่ประชาชนยังมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสะท้อนจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และการค้าหมวดยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้ารถยนต์ขยายตัวสูงถึง 1.8 เท่า สูงสุดในรอบปี จากโครงการรถยนต์คันแรกที่จะสิ้นสุดในช่วงสิ้นปีและอีกส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับการค้าส่งขยายตัว จากการค้าส่งวัตถุดิบทางการเกษตร สัตว์มีปีกและยาสูบ โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้าง 651.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล สำหรับสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.2 สำหรับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินเชื่อเพื่อสังคมตามนโยบายของรัฐบาล รองลงมาเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

การลงทุนภาคเอกชน ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ โรงงานผลิตน้ำตาล ที่จังหวัดหนองบัวลำภูและอุดรธานี ด้วยเงินลงทุน 5,400 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ตามลำดับ และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดขอนแก่น เงินลงทุน 2,615 ล้านบาท แต่สำหรับภาคการก่อสร้างชะลอลง สะท้อนจากพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 6.1 โดยเป็นการลดลงของการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ อีกทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็ชะลอลงจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้างรวมทั้งการก่อสร้างบางส่วนได้เร่งตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง เป็นผลจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผลิตได้ลดลงหลังจากมีการเร่งผลิตเพื่อสต็อกไว้จำหน่ายในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การผลิตในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตน้ำตาลทรายขาว ยังขยายตัว สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 47 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 50.3 ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะจากงบประจำ

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.77 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.48 ตาม ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.85 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ที่ร้อยละ 1.83 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: [email protected]

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ