บทความ: ปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมกุ้งไทย ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2013 14:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ถนอมจิตร สิริภคพร

เมษายน 2556

ในปี 2555 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกุ้งของไทยประสบกับหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งปัญหาการแข่งขันสูง การกีดกันทางการค้า และโรคระบาด โดยปัญหาดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันทำให้ปี 2556 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกกุ้งของไทย

นับจากปี 2547 เป็นต้นมา การส่งออกกุ้งของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2554 - 2555 ปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยเริ่มปรับตัวลดลง โดยในปี 2555 การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ของไทยมีปริมาณและมูลค่าลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 13.6 และ 15.5 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณและมูลค่าลดลงมากถึงร้อยละ 30.9 และ 33.5 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตคู่แข่งอย่างอินเดีย เอกวาดอร์ และอินโดนีเซีย เพิ่มการเลี้ยงกุ้งขาวและเข้าไปเสนอขายใน ราคาต่ำแข่งกับไทย เช่นเดียวกับตลาดสหภาพยุโรปที่มีปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 17.6 และ 15.1 ตามลำดับ เนื่องจากอำนาจซื้อลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นปริมาณลดลงร้อยละ 2.3 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูง(Value Added)

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในปี 2555 พบว่ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 56 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52 ในปี 2554 ขณะที่กุ้งแปรรูปมีสัดส่วนร้อยละ 44 ลดลงจากร้อยละ 48 ในปี 2554 ทั้งนี้ เป็นผลจากตลาดหลักสหรัฐอเมริกามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและหันมาเน้นบริโภคกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่มีราคาถูกกว่า ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูป ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย hFast Fishh ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลพร้อมรับประทานภายในประเทศ

ปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมกุ้งไทยปี 2556

เข้าสู่ปี 2556 ได้ไม่นานผู้ส่งออกกุ้งของไทยก็ต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบจากปัญหา โรคตายด่วนที่ยังไม่คลี่คลาย และทำให้ราคากุ้งพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ต้นปี โดยราคากุ้งเริ่มปรับระดับขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม 2556 ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวไทยและอยู่ในระดับสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยราคากุ้ง ที่ตลาดทะเลไทยขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 174.81 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.0 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับสาเหตุของโรคตายด่วนปัจจุบันยังไม่ที่มาสามารถสรุปได้ชัดเจน เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า มีหลายปัจจัยร่วมของการระบาดตั้งแต่เชื้อแบคทีเรีย ปรโตซัวในกุ้ง คุณภาพลูกกุ้งด้อยลง ภาวะหมักหมมของแหล่งผลิต และสภาพอากาศที่แปรปรวน นอกจากนั้น การจัดการบ่อที่ไม่เหมาะสม เช่น เตรียมบ่อไม่ดี ปล่อยกุ้งแน่น ก็กระตุ้นให้เกิดโรคได้เช่นเดียวกัน

กรมประมงได้พยายามแก้ไขปัญหาโรคตายด่วน โดยทางหนึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งซึ่งเป็นแหล่งผลิตลูกกุ้งแรกฟัก เพื่อปรับปรุงสุขอนามัยโรงอนุบาลลูกกุ้งทั่วประเทศที่เป็นต้นทางของกระบวนการผลิตกุ้ง ซึ่งโรงเพาะฟักที่เข้าร่วมโครงการและปzบัติตามข้อกำหนด จะได้การรับรองโดยประกาศรายชื่อทางเว็บไซด์ของกรมประมงเพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อลูกกุ้งของเกษตรกร

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยการกีดกันทางการค้าที่เข้ามากระทบ คือ 1) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty *(1) : CVD) จากข้อเรียกร้องของสมาคมอุตสาหกรรมกุ้งแห่งอ่าวเม็กซิโกได้ยื่นคำขอให้สำนักงานการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดไต่สวน CVD โดยกล่าวหาสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และเอกวาดอร์ ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันและอาจทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ในส่วนของทางการไทยได้ทำการรวบรวมข้อมูลและเตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษากyหมายมาดูแลร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว 2) สหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP โดยสินค้ากุ้งแปรรูปจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 20.0 จากเดิมร้อยละ 7.0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดมูลค่าการนำเข้าสหภาพยุโรปเฉลี่ย 3 ปีเกินร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวมจากประเทศผู้รับสิทธิ GSP ทั่วโลก นอกจากนี้ ในสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งยังอาจถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 4.2 ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2558 หากไทยถูกตัดสิทธิรายประเทศตามหลักเกณฑ์ GSP จากการที่ธนาคารโลกจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper Middle Income) มาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวทำให้ทางการไทยได้เร่งผลักดันการเจรจาลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับทาง สหภาพยุโรป โดยมีกำหนดจะเดินทางไปเจรจาเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ทั้งนี้เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถ ในการแข่งขันของกุ้งไทย

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยท้าทายหลักของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยในปีนี้ คือ โรคระบาดที่ทำให้วัตถุดิบขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น ยังต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกุ้งของไทยจึงต้องร่วมมือกันวางแผน บริหารจัดการการผลิต และการตลาดมากขึ้น เพื่อเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรับกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป

          บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          *(1) Countervailing Duty : CVD หรือ ซีวีดี หมายถึง ภาษีตอบโต้การอุดหนุน ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO ) สามารถเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าได้หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นได้รับการอุดหนุน และก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในของประเทศตนจริง

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ