บทความ: หนี้ครัวเรือนนั้นสำคัญไฉน?

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 14:40 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

พสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล

เศรษฐกร ทีมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน 1-2

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงสังเกตเห็นว่ามีการพูดถึงประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนกันบ่อยครั้งมากขึ้น เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทย (เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันการเงินต่างๆ) มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเร่งขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 78 ของ GDP ถามว่าทำไมแบงก์ชาติต้องให้ความสำคัญต่อระดับหนี้ภาคครัวเรือน ต้องขอเรียนชี้แจงดังนี้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ซึ่ง ธปท. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเสถียรภาพด้านอื่นๆ อาทิ ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ภาคสถาบันการเงิน และตลาดการเงินด้วย

ความเสี่ยงสำหรับภาคครัวเรือนในช่วงนี้คงเป็นเรื่องหนี้สินที่เร่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทยได้ ขอแบ่งการพิจารณาประเด็นดังกล่าวออกเป็นสองช่วงเวลาของวัฏจักรเศรษฐกิจ คือ ช่วงขาขึ้นของวัฏจักรศรษฐกิจและช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ

ในช่วงขาขึ้นของวัฏจักรเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาคเอกชนทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างราบรื่น ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ มีความเต็มใจที่จะให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน ดังนั้นการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งจะสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที้เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่เร่งตัวเร็วจนเกินไปเมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2554 — 2555 หนี้ภาคครัวเรือนเร่งสูงขึ้นจากในอดีต โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนของสถาบันการเงินต่างๆ มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 17 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 13 ในช่วงปี 2547 — 2553 ซึ่งแม้ว่าตามทฤษฏีแล้ว การกู้ยืมอาจช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ (Smoothing consumption) อย่างไรก็ดี หากการก่อหนี้ขยายตัวเร็วและมากกว่าการขยายตัวของรายได้ดังเช่นปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการก่อหนี้เกินตัวได้ในอนาคต นอกจากนี้ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาหลักทรัพย์ได้ หากเป็นการกู้ยืมเพื่อลงทุนและเก็งกำไรในหลักทรัพย์ ดังเช่นกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนนำมาซึ่งวิกฤตซับไพร์มในช่วงปี 2550-2551

ในช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตกและราคาที่อยู่อาศัยตกลงอย่างรวดเร็ว ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนที่หายไปจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน จนหนี้ที่ก่อไว้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในที่สุด (Non-performing loan) และภาคครัวเรือนจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น ทำให้ระดับการกู้ยืมและการบริโภคภาคครัวเรือนลดลง จึงเป็นส่วนซ้ำเติมให้เศรษฐกิจซบเซาเป็นระยะเวลานาน หรือกรณีประเทศเกาหลีใต้ เมื่อสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน ซึ่งประสบการณ์จากต่างประเทศดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ IMF ที่พบว่า หากประเทศที่ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้ในระดับสูง เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจหดตัวจะส่งผลต่อระดับการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงมากและยาวนานกว่าประเทศที่ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้ในระดับต่ำ ดังนนั้ กรณีของประเทศไทยในปัจจุบันทหี่ นี้ภาคครัวเรือนเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและอัตราการว่างงานสูงขึ้นจะส่งผลต่อระดับรายได้ภาคครัวเรือน (Income shock) ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและระดับการบริโภคลดลง ซึ่งมีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาเป็นระยะเวลานานได้เช่นกันหากเกิดภาวะ Income shock ดังกล่าว

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การป้องกันก่อนเกิดปัญหาย่อมดีกว่าการรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาแนวทางแก้ไข ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างให้ภาคครัวเรือนเกิดความรู้ความเข้าใจและวินัยทางการเงินที่ดี โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายและการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งภาคครัวเรือนที่เข้มแข็งและมีวินัยทางการเงินจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาที่ยังยืน

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย **

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ