แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 31, 2013 13:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 09/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2556 ชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรชะลอลง แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากสินเชื่อด้านการบริโภคของสถาบันการเงิน และรายจ่ายงบประจำของภาครัฐบาลที่ขยายตัวค่อนข้างสูง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง สำ หรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน วัดจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามการชะลอลงในหมวดภาษีมูลค่าเพิ่ม หมวดยานยนต์ ส่วนหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงยังขยายตัวดีทุกประเภทตามการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นขณะที่การลงทุนภาคเอกชน วัดจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.8 แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.0 และปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากที่หดตัวในเดือนก่อน โดยเฉพาะงบประจำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.7 ตามหมวดเงินเดือน และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ตามการหดตัวของราคายางพารา เนื่องจากประเทศจีนมีสต็อกค่อนข้างมาก และอ้อยโรงงานที่มีแนวโน้มชะลอลงตามตลาดโลกเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการของจีนที่ยังมีต่อเนื่อง และความกังวลด้านผลผลิตที่คาดว่าจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากปัญหาภัยแล้ง ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิชะลอจากเดือนก่อนตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยคงอยู่ในระดับสูง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 ตามผลผลิตยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ผลผลิตข้าวและอ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรม วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.7 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 1.6 เนื่องจากปิดซ่อมบำรุงบางสายการผลิต อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 6.7 เนื่องจากเร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตน้ำตาลทรายขาวจากน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ปิดหีบ และผลของการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีมติจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.2 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 53.2 ภาคการค้า วัดจากดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.2 และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ตามการค้าส่งที่ขยายตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะการค้าส่งในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ และการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างสรรพสินค้า หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดวัสดุก่อสร้าง

ภาคการเงิน ณ สิ้นมีนาคม 2556 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างจำนวน 690.0 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.3 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลในด้านการเช่าซื้อรถยนต์ และซื้อบ้านจัดสรร รองลงมา ได้แก่ สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน สินเชื่อธุรกิจค้ารถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการผลิต เป็นต้นสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มียอดคงค้าง 909.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อสังคม

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.39 ชะลอตัวจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.49 ตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ณ เดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทรงตัวจากเดือนกุมภาพันธ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ